องค์กรพิทักษ์สัตว์ชี้ ฟาร์มสัตว์ป่าขาดการคุมเข้ม ช้างไทยทรมานจากการท่องเที่ยว

องค์กรพิทักษ์สัตว์ชี้ ฟาร์มสัตว์ป่าขาดการคุมเข้ม ช้างไทยทรมานจากการท่องเที่ยว

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ชี้ การเลี้ยงสัตว์ป่า หรือทำฟาร์มสัตว์ป่ายังขาดการควบคุมอย่างเข้มงวด คาดว่ามีสัตว์ป่าได้รับผลกระทบทั่วโลก 5,500 ล้านชีวิต พร้อมยกตัวอย่าง "ช้างไทย" เป็นสัตว์ที่ถูกทรมานจากการทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

รายงานใหม่จากองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ระบุว่า สัตว์ป่า 5,500 ล้านชีวิตถูกเอารัดเอาเปรียบ และได้รับการเลี้ยงดูอย่างทารุณ โดยสัตว์ที่ได้รับความสนใจส่วนใหญ่ถูกนำไปแสวงหาผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ผลวิจัยในรายงาน World Animal Protection ในอังกฤษ ที่รวบรวมข้อมูลจากแหล่งออนไลน์ ระบุว่า ในระหว่างปี 2543-2563 หรือประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา โลกเราเลี้ยงสัตว์มากกว่า 1,270 ล้านตัวเพื่อการท่องเที่ยว การล่า การผลิตยาแผนโบราณ แฟชั่น และเพื่อเพาะพันธุ์สัตว์เลี้ยง

เมื่อดูข้อมูลจากรัฐบาลต่าง ๆ พบว่าในปี 2564-2565 มีการเลี้ยงสัตว์ป่าเพิ่ม 858,743 แต่ World Animal Protection คาดว่าตัวเลขการเลี้ยงสัตว์ป่าในปัจจุบันสูงกว่านี้ และอาจแตะระดับ 5,500 ล้านตัว

ช้างไทยถูกทรมานจากการท่องเที่ยว

รายงานดังกล่าวได้ยกตัวอย่างฟาร์มสัตว์ป่าที่ส่งผลเสียต่อสัตว์ โดยตัวอย่างแรกคือการเลี้ยงช้างในไทย

รายงานระบุว่า ไทยมีฟาร์มเลี้ยงช้างเพื่อแสวงหาประโยชน์เพิ่มขึ้น 134% ในระหว่างปี 2553-2563 จากฟาร์มที่เกี่ยวข้อง 246 แห่ง รวมมีช้างที่ถูกเลี้ยง 2,798 เชือก สร้างเม็ดเงิน 581-770 ล้านดอลลาร์ต่อปี

ฟาร์มเหล่านั้นนำช้างมาผสมพันธุ์ ถูกทรมานเพื่อให้เชื่อฟังคำสั่งของมนุษย์ และได้รับการฝึกให้แบกนักท่องเที่ยว แสดงกล และเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ เช่น มีไว้ให้ชม จับ และให้อาหาร ช้างที่ถูกเลี้ยงในลักษณะนั้นจึงได้รับบาดเจ็บจากที่นั่งและอุปกรณ์ยึดเหนี่ยวต่าง ๆ เช่น โซ่ ทั้งยังบาดเจ็บที่เท้าและเล็บ เพราะต้องแบกนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ช้างไทยจำนวนมากที่ถูกเลี้ยงในฟาร์ม ยังได้รับผลกระทบทางจิตใจด้วย และมีภาวะเครียดหลังประสบกับเหตุการณ์สะเทือนใจต่าง ๆ

ขณะที่ในแอฟริกาก็มีการทำฟาร์มสิงโตเพื่อแสวงหาผลประโยชน์เช่นกัน โดยฟาร์มราว 366 แห่ง เพาะพันธุ์สิงโตราว 8,000 ตัว เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น ความบันเทิงด้านการท่องเที่ยว รวมถึงเปิดให้สัมผัสประสบการณ์ลูบหรือจับสิงโต หรือมีไว้ให้ล่าในกิจกรรม Canned hunting ซึ่งเป็นกิจกรรมล่าสัตว์ในพื้นที่จำกัด เพื่อให้คนมีฐานะล่าสัตว์ได้ง่าย และกระดูกของสิงโตที่ตายแล้วจะส่งออกไปยังเอเชีย เพื่อนำไปทำยาแผนโบราณ

รายงานดังกล่าวยังได้พูดถึงฟาร์มผลิต “น้ำดี” ของจีนด้วย โดยอุตสาหกรรมมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์นี้ เพาะพันธุ์หมี 20,000 ตัว เพื่อนำน้ำดีหมีไปใช้โดยเฉพาะ เนื่องจากมีคุณค่าสำหรับยาแผนโบราณ แต่การสกัดน้ำดีนั้นสร้างความเจ็บปวดให้สัตว์เป็นอย่างมาก

ฟาร์มหมีมีอย่างแพร่หลายในประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่สามารถทำฟาร์มดังกล่าวได้อย่างถูกกฎหมาย แต่ฟาร์มลักษณะนี้ก็มีในเวียดนาม ลาว และเมียนมาเช่นกัน

องค์การพิทักษ์สัตว์โลก ระบุด้วยว่า ยังมีสัตว์ป่าอีกจำนวนมากที่ถูกเลี้ยงเพื่อนำไปเป็นอาหารหายาก ขณะที่สัตว์ป่าถูกนำไปแสวงหาผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงและแฟชั่นอย่างหนักเช่นกัน อาทิ นก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์แปลกชนิดอื่น ๆ ถูกนำไปขายเป็นสัตว์เลี้ยง ขณะที่มิงค์ สุนัขจิ้งจอก และนกกระจอกเทศก็ได้รับการเพาะพันธุ์เพื่อนำขนไปใช้งาน

ฟาร์มสัตว์ป่ามีข้อดีแต่ต้องคุมเข้มงวด

แม้อนุรักษ์บางคนแย้งว่า การทำฟาร์มพันธุ์สัตว์ป่า (การเลี้ยงสัตว์ไว้ในกรงเพื่อผลประโยชน์เชิงพาณิชย์) สามารถช่วยปกป้องสายพันธุ์สัตว์บางชนิดและรักษาสัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์แต่อุตสาหกรรมดังกล่าวยังขาดความโปร่งใสและการกำกับดูแล สัตว์เหล่านั้นจึงตกอยู่ภายใต้การเลี้ยงเพื่อผลประโยชน์ และไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการที่ดี ส่งผลให้มีแนวโน้มเป็นโรค ขาดสารอาหาร ติดเชื้อ และตายก่อนวัยอันควร บางตัวแสดงพฤติกรรมบางอย่างที่เกิดจากความเครียด และอาจนำไปสู่พฤติกรรมการกินเนื้อพวกเดียวกันเอง

นอกจากนี้ ฟาร์มสัตว์ป่ายังทำให้ผู้ดูแล นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป มีความเสี่ยงติดโรคจากสัตว์สู่คน เช่น โควิด-19 เนื่องจากสัตว์มีสุขอนามัยไม่ดี บวกกับความใกล้ชิดของสัตว์และคนในสภาพแวดล้อมฟาร์มที่คับแคบ ซึ่งฟาร์มบางแห่งมีสัตว์มากกว่า 50,000 ตัว จึงมีโอกาสสูงที่เชื้อสามารถแพร่จากสัตว์สู่คน จนอาจนำไปสู่โรคระบาดและโรคระบาดใหญ่ ซึ่งมีคาดการณ์ว่าคนเสียชีวิต 2 ล้านคนในทุก ๆ ปีมีความเชื่อมโยงกับโรคจากสัตว์สู่คน

แนวทางลดผลกระทบจากการทำฟาร์มสัตว์ป่า

นักวิจัยได้แนะวิธีลดอันตรายจากการทำฟาร์มสัตว์ป่าว่า รัฐบาลควรทำกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับฟาร์มสัตว์ป่า และให้มีผลบังคับใช้จริง

แนวทางอื่น ๆ อาทิ รัฐบาลต้องสั่งห้ามการเพาะพันธุ์สัตว์เพื่อผลกำไร และสนับสนุนให้ผู้พึ่งพาการทำฟาร์มสัตว์ป่าเชิงเศรษฐกิจหันไปประกอบอาชีพอื่น ๆ ยกเลิกกิจกรรมการท่องเที่ยวแบบปฏิบัติจริง (hands-on tourist activity) จัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลสัตว์ และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความเป็นจริงของการทำฟาร์มสัตว์ป่า

นิก สจ๊วต ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์รักษาสัตว์ป่าของ World Animal Protection ย้ำว่า “สัตว์ป่าไม่ใช่ของเราที่จะแสวงหาประโยชน์ และเราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการปกป้องสัตว์จากการแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้าที่โหดร้ายได้”

อ้างอิง: South China Morning Post