อัยการเสนอโทษ 'ประหารชีวิต' คดีคอร์รัปชันครั้งใหญ่สุดใน 'เวียดนาม'

อัยการเสนอโทษ 'ประหารชีวิต' คดีคอร์รัปชันครั้งใหญ่สุดใน 'เวียดนาม'

อัยการเวียดนามเสนอโทษประหารชีวิต 'เจือง มาย หลั่น' อดีตเจ้าแม่อสังหาฯ ในการไต่สวนมหากาพย์คอร์รัปชันครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์เวียดนาม มูลค่าโกงมากกว่า 4 แสนล้านบาท หรือ 3% ของจีดีพีประเทศ

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานอ้างหนังสือพิมพ์แทงเนียน (Thanh Nien) ในเวียดนาม ว่า อัยการเวียดนามได้เสนอโทษประหารชีวิต "เจือง มาย หลั่น"  (Truong My Lan) อดีตเจ้าแม่อสังหาริมทรัพย์เจ้าของบริษัท  Van Thinh Phat Group ที่กำลังถูกไต่สวนในคดีคอร์รัปชันครั้งใหญ่ที่สุดในเวียดนามอยู่ในขณะนี้ 

รายงานข่าวระบุว่า หลั่น และพวกถูกกล่าวหาว่าไซฟ่อนเงินถึง 3.04 ล้านล้านด่อง (เกือบ 4.5 แสนล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากถึงราว 3% ของมูลค่าจีดีพีประเทศเวียดนาม โดยเป็นการไซฟ่อนจากธนาคาร Saigon Joint Stock Commercial Bank หรือ SCB ที่หลั่นเป็นเจ้าของอยู่เบื้องหลังที่แท้จริงผ่านทางนอมินีหลายบริษัท

จากคำฟ้องของพนักงานสอบสวนระบุว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2561 จนถึงเดือนต.ค.2565 ในช่วงที่ธนาคาร SCB ประสบปัญหาทางการเงิน และได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลนั้น หลั่นได้ยักยอกเงินด้วยการทำข้อตกลงปล่อยกู้อย่างผิดกฎหมายให้กับบริษัทเปลือกหอย หรือบริษัทที่ไม่ได้มีการทำธุรกิจจริงๆ เป็นจำนวนมาก

ทีมอัยการระบุว่า หลั่นไม่ยอมรับผิดซ้ำยังไม่แสดงออกถึงการสำนึกผิดใดๆ ระหว่างการไต่สวนดำเนินคดี 

"ผลที่ตามมานั้นถือว่าร้ายแรงอย่างยิ่ง และไม่อาจแก้ไขอะไรได้ ดังนั้น จึงต้องมีการลงโทษ เจือง มาย หลั่น อย่างเข้มงวด และถอดเธอออกจากสังคม" ทีมอัยการเวียดนามระบุ

นอกจากเจ้าแม่อสังหาฯ วัย 67 ปีรายนี้ที่เป็นแกนกลางของคดีคอร์รัปชันครั้งใหญ่ที่สุดในเวียดนามแล้ว รัฐบาลยังได้ไต่สวนดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องอีก 85 คน

ในจำนวนนี้ 15 คนเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ "ธนาคารกลางของเวียดนาม" ซึ่งมีส่วนพัวพันกับการรู้เห็นเป็นใจ โดยถูกกล่าวหาว่ารับสินบนเพื่อช่วยปกปิดการยักยอกดังกล่าว นอกจากนี้ยังรวมถึงนาย โด่ แองห์ สุง (Do Anh Dung) ประธานบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ Tan Hong Minh Group ที่มีส่วนร่วมฐานออกพันธบัตรมูลค่า 10 ล้านล้านด่องให้บริษัทในเครือโดยมิชอบ

เป็นที่คาดว่าศาลในนครโฮจิมินห์ ของเวียดนาม จะมีคำตัดสินในคดีคอร์รัปชันครั้งใหญ่นี้ออกมาภายในเดือน เม.ย.2567 นี้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดวันพิจารณาคดีที่แน่ชัดแต่อย่างใด 

 

 

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์