จีนคืบหน้าพัฒนาเทคโนโลยีอาวุธ 5 ปีลดนำเข้าลงเกือบครึ่ง

จีนคืบหน้าพัฒนาเทคโนโลยีอาวุธ 5 ปีลดนำเข้าลงเกือบครึ่ง

จีนคืบหน้าพัฒนาเทคโนโลยีอาวุธ 5 ปีลดนำเข้าลงเกือบครึ่ง ส่วนประเทศที่นำเข้าอาวุธมากที่สุดในโลกในปี 2019-2023 คืออินเดีย คิดเป็นสัดส่วน 9.8% ของโลก ส่วนประเทศที่ส่งออกอาวุธมากที่สุดในโลกคือสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 42% ของโลก

ความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการป้องกันประเทศของจีนเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม โดยล่าสุด สถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (SIPRI) ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองจากสวีเดน ระบุว่า จีนลดการนำเข้าอาวุธเกือบครึ่งหนึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเปลี่ยนจากการใช้อาวุธต่างชาติมาเป็นเทคโนโลยีอาวุธภายในประเทศแทน แต่จีนยังคงนำเข้าอาวุธจากรัสเซียอย่างมาก

รายงานที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนในวันจันทร์(11 มี.ค.) SIPRI ระบุว่า จีนนำเข้าอาวุธลดลงถึง 44% ในปี 2019-2023 จากช่วง 5 ปีก่อนหน้า และจีนซื้ออาวุธจากรัสเซียมากที่สุด โดยคิดเป็นสัดส่วน 77% เช่น เครื่องยนต์เครื่องบินและระบบเฮลิคอปเตอร์ ตามมาด้วยฝรั่งเศส ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 13% และยูเครน 8.2%

แม้ SIPRI ไม่ได้เปิดเผยว่าการนำเข้าอาวุธจากรัสเซียและยูเครนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหลังจากรัสเซียรุกรานยูเครนในช่วงต้นปี 2022 แต่รายงานฉบับก่อนจาก SIPRI ระบุว่า จีนนำเข้าอาวุธจากยูเครนคิดเป็นสัดส่วน 5.9% ของการนำเข้าทั้งหมดในปี 2017-2021

รายงานระบุว่า ประเทศที่นำเข้าอาวุธมากที่สุดในโลกในปี 2019-2023 คืออินเดีย โดยคิดเป็นสัดส่วน 9.8% ของโลก ตามมาด้วยซาอุดีอาระเบีย  8.4% กาตาร์ 7.6% ยูเครน 4.9% ปากีสถาน 4.3% ญี่ปุ่น  4.1% อียิปต์  4% ออสเตรเลีย  3.7% เกาหลีใต้ 3.1% และจีน 2.9%

ส่วนประเทศที่ส่งออกอาวุธมากที่สุดในโลกในปี 2019-2023 คือสหรัฐ โดยคิดเป็นสัดส่วน 42% ของโลก ตามมาด้วยฝรั่งเศส 11% รัสเซีย 11% จีน 5.8%  เยอรมนี  5.6% อิตาลี  4.3% สหราชอาณาจักร  3.7% สเปน 2.7%  อิสราเอล 2.4% และเกาหลีใต้ 2%

จีนคืบหน้าพัฒนาเทคโนโลยีอาวุธ 5 ปีลดนำเข้าลงเกือบครึ่ง
 

แต่ไม่ได้มีแค่จีนเท่านั้นที่นำเข้าอาวุธจากรัสเซียอย่างมาก  สำนักข่าวอินเตอร์แฟกซ์ของรัฐบาลรัสเซียรายงานเมื่อปีที่แล้วว่า รัสเซียขายอาวุธให้อินเดียประมาณ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และอินเดียตกลงสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารจากรัสเซียรวมมูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ถือเป็นประเทศผู้ซื้ออาวุธรายใหญ่ที่สุดของรัสเซีย คิดเป็นประมาณ 20% ของยอดสั่งซื้อปัจจุบัน

รายงานการพึ่งพาอาวุธจากต่างชาติของจีนลดลง มีขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 5 มี.ค.จีนประกาศเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม 7.2% ในปีนี้ สอดคล้องกับนโยบายเสริมเขี้ยวเล็บทางทหารที่จีนทำมาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 10 ปีภายใต้รัฐบาล สี จิ้นผิง

งบประมาณนี้อยู่ในระดับเดียวกับปีที่แล้ว และสูงกว่าเป้าหมายการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ทีี่จีนตั้งเป้าเอาไว้ที่ 5% สำหรับปีนี้

นายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง ของจีนประกาศเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมระหว่างพิธีเปิดการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC)ซึ่งนายกฯไม่ได้กล่าวถึงการรวมชาติกับไต้หวันอย่างสันติ จึงทำให้บรรดาผู้ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งบริเวณช่องแคบไต้หวัน มองว่า การเพิ่มงบประมาณกลาโหมของจีนมีเป้าหมายเพื่อเสริมเขี้ยวเล็บและเพื่อพันธกิจในการรวมชาติแบบใช้กำลังกับไต้หวัน

แม้ว่า“หวัง อี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน จะกล่าวในวันที่ 7 มี.ค. ว่า จีน มีนโยบายที่ชัดเจนในประเด็นไต้หวัน และจะยังคงเดินหน้ารวมชาติอย่างสันติกับไต้หวันด้วยความจริงใจที่สุด

“ประเด็นสำคัญของเราค่อนข้างชัดเจน เราจะไม่ยอมให้ไต้หวันต้องถูกแบ่งแยกออกจากมาตุภูมิ” หวัง กล่าวนอกรอบการประชุมประจำปี NPC

สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ในระหว่างตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับสถานการณ์ข้ามช่องแคบ หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสภานิติบัญญัติในไต้หวัน หวัง กล่าวว่า การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นของจีน และผลลัพธ์จะไม่เปลี่ยนแปลงความจริงที่ว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และจะไม่มีวันเปลี่ยนทิศทางของประวัติศาสตร์ที่ไต้หวันจะต้องกลับสู่มาตุภูมิ

"หลี่ หมิงเจียง” ผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมจากวิทยาลัยนานาชาติศึกษา เอส. ราชารัตนัม ในสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า ถึงแม้จีนจะกำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจซบเซา แต่เรื่องไต้หวันยังคงเป็นวาระสำคัญที่กระตุ้นให้จีนต้องทุ่มงบประมาณด้านการทหารอย่างจริงจังต่อเนื่อง

“จีนกำลังแสดงให้เห็นว่า ภายใน 10 ปีข้างหน้าพวกเขาจะยกระดับแสนยานุภาพกองทัพให้ถึงจุดที่การันตีชัยชนะในสงครามได้อย่างแน่นอน หากจำเป็นต้องทำสงครามโดยไม่มีทางเลือก” หลี่ กล่าว

ตั้งแต่ สี จิ้นผิง ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีและผู้บัญชาการสูงสุดของจีนเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว งบประมาณด้านการทหารของจีนเพิ่มขึ้นจากระดับ 720,000 ล้านหยวนในปี 2013 เป็น 1.67 ล้านล้านหยวนในปีนี้ และเป็นการเพิ่มขึ้นในระดับที่สูงกว่าเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละปีมาโดยตลอด

การจัดสรรงบประมาณกลาโหมของจีน เป็นที่จับตามอง ทั้งจากประเทศเพื่อนบ้านและสหรัฐที่ระแวงเกี่ยวกับเป้าหมายทางยุทธศาสตร์และการพัฒนาของกองทัพจีนมาโดยตลอด

สถาบันระหว่างประเทศว่าด้วยยุทธศาสตร์ศึกษา (IISS) คาดการณ์ว่า งบส่วนใหญ่น่าจะถูกนำไปใช้จัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประธานาธิบดีสี ในการยกระดับกองทัพจีนสู่ความทันสมัยเต็มรูปแบบภายในปี 2035 และ IISS ยังระบุด้วยว่าจีนปรับเพิ่มงบกลาโหมต่อเนื่องเป็นปีที่ 30 แล้ว