พันธมิตรสหรัฐในอินโด-แปซิฟิกเริ่มวิตกกับแนวโน้มที่ "ทรัมป์" จะคัมแบ็ก

พันธมิตรสหรัฐในอินโด-แปซิฟิกเริ่มวิตกกับแนวโน้มที่ "ทรัมป์" จะคัมแบ็ก

พันธมิตรสหรัฐในอินโด-แปซิฟิกเริ่มวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มที่ "ทรัมป์" จะกลับมา ขณะที่การลอยลำไปสู่ "รีแมตช์" กับโจ ไบเดนของทรัมป์ กลายเป็นตัวเร่งไปสู่การ "ย้ายประเทศ" ของชาวอเมริกันมากขึ้น

หากโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมองว่าพันธมิตรเป็นภาระมากกว่าเป็นความช่วยเหลือ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพ.ย.ปีนี้ ข้อสันนิษฐานพื้นฐานเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติอาจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง โดยนักการทูตยุโรป ระบุว่า เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงกำลังจัดการอภิปรายอย่างเข้มข้นมากขึ้นเกี่ยวกับมาตรการที่เป็นไปได้ ที่อาจนำมาใช้เพื่อจัดการกับผลกระทบของนโยบายความมั่นคงที่อาจสร้างความเสียหายเพราะการบริหารงานของรัฐบาลทรัมป์ชุดที่ 2

ประเทศพันธมิตรในเอเชียของสหรัฐเองก็ไม่ได้วิตกน้อยไปกว่าประเทศตะวันตกเกี่ยวกับผลกระทบที่เป็นไปได้ หากนายทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้ง

จากบันทึกของนายมาร์ก เอสเปอร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในสมัยของรัฐบาลทรัมป์ ระบุว่า ทรัมป์จดจ่ออยู่กับความคิดที่จะถอนทหารสหรัฐออกจากเกาหลีใต้

บรรดาที่ปรึกษาของทรัมป์ได้โน้มน้าวไม่ให้เขาทำอะไรสุดโต่ง แต่ตอนนี้ เขากำลังบอกว่า เขาจะให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว หากได้รับการเลือกตั้งอีกครั้ง ดังนั้น จึงไม่ชัดเจนว่าเขาจะปล่อยให้กองทหารอเมริกันเข้ามาเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด หากเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นในไต้หวัน

ในสถานการณ์เช่นนี้ นักการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักการทูต และนักข่าวประมาณ 40 คนจากสหราชอาณาจักรและญี่ปุ่นได้ร่วมประชุมกันที่โอดาวาระใกล้กรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 2-4 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อหารือเกี่ยวกับกิจการระดับโลก โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมประจำปีของกลุ่มศตวรรษที่ 21 แห่งสหราชอาณาจักร-ญี่ปุ่น

ขณะที่ความแน่นอนที่ทรัมป์จะเข้าสู่สังเวียนชิงตำเนียบขาวมากขึ้นเรื่อยๆ  ก่อให้เกิด "ความไม่แน่นอน" ในชีวิตของชาวอเมริกันบางกลุ่ม โดยเฉพาะ "ผู้มีอันจะกิน" ที่เตรียมพร้อมเก็บกระเป๋าย้ายถิ่นฐานไปอยู่แคว้นทัสคานี ของอิตาลี ถ้าทรัมป์ได้กลับไปเป็นประธานาธิบดี โดยมีคนให้ความเห็นว่า"การจลาจลที่ปลุกเร้าโดยชายที่หลงตัวเอง ที่ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง ผสมผสานกับนโยบายสนับสนุนอาวุธปืนและการทำแท้งของเขา ทำให้การย้ายประเทศกลายเป็นความจำเป็นไม่ใช่แค่ความฝัน"

ทุก ๆ 4 ปี ที่ชาวอเมริกันจะต้องเลือกประธานาธิบดี จะมีการพูดคุยกันเรื่องการย้ายประเทศโดยเฉพาะในฝั่งที่ถือหางพรรคเดโมแครต เช่น จะไปแคนาดาหรือไม่ก็อิตาลี แต่เอาเข้าจริงก็ไม่มีใครทำตามที่พูด เหมือนแค่อยากระบายเท่านั้น แต่ครั้งนี้ แตกต่างจากที่เคยเพราะขนาดสื่อยักษ์อย่างวอชิงตัน โพสต์ ถึงกับเตือนว่า "ชัยชนะของทรัมป์ในเดือนพ.ย. รุนแรงยิ่งกว่าความน่ากลัวที่ประธานาธิบดีคนก่อน ๆ ก่อขึ้น"

ทุก 4 ปี สำนักจัดทำโพลล์ดังอย่างกัลลัพ ได้สำรวจความเห็นชาวอเมริกันที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป โดยตั้งคำถามว่า "ถ้ามีโอกาส อยากจะย้ายไปอยู่ประเทศอื่นอย่างถาวรหรือไม่" โดยพบว่าคำตอบของคนที่ตอบว่า "ใช่" ในช่วงสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งของจอร์จ ดับเบิลยู บุช อยู่ที่ 11%, ช่วงการดำรงตำแหน่งของบารัก โอบามา อยู่ที่ 10%  แต่พุ่งขึ้นเป็น 16% ในสมัยของทรัมป์ หรือราว 40 ล้านคน ที่บอกว่าอยากย้ายประเทศไปตลอดกาล 

บรรดาชาวอเมริกันที่พำนักอยู่ในต่างประเทศต่างก็เตรียมรอรับเพื่อนใหม่ โดยสมาคมชาวอเมริกันผู้พำนักในปารีส ระบุว่า จะมีชาวอเมริกันอีกมากที่จะย้ายประเทศ ถ้าทรัมป์ชนะการเลือกตั้งเดือนพ.ย. โดยยุโรปก็จะเหมือนแคนาดาในสมัยสงครามเวียดนาม ที่รองรับผู้เบื่อหน่ายชาวอเมริกัน ขณะที่แคนาดา ยังคงเป็นจุดหมายในปัจจุบัน ส่วนคนที่ย้ายประเทศในยุคนี้จะเรียกตัวเองว่า "ผู้ลี้ภัยทรัมป์" (Trump's Exiles) 

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่เป็นตัวเร่งการย้ายประเทศ รวมทั้งเหตุกราดยิงในโรงเรียนที่ไม่หยุดหย่อน ขณะที่หลายประเทศมีกฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่เข้มงวด แต่สหรัฐได้ชื่อว่าเป็นบ้านของ "ปืน" ที่เกือบทุกครัวเรือนมีไว้ในครอบครอง แม้กระทั่งฮอลลีวูดยังจับความรู้สึกนี้มาถ่ายทอด เช่น Netflix มีซีรีส์ฮิตเรื่อง "Emily in Paris" ที่เป็นเรื่องราวของชาวอเมริกันที่เป็นคนรุ่นใหม่ หลงใหลฝรั่งเศส หรือ ซีรีส์ "Expats" ที่ฉายทาง Amazon Prime ก็เป็นเรื่องของชาวอเมริกันในฮ่องกง ซึ่งมีช่วงที่ตัวละครที่เป็นสามีถามภรรยาว่า คุณไม่คิดถึงบ้าน (อเมริกา) บ้างหรือ ฝ่ายภรรยาตอบอย่างมั่นใจว่า "ฉันชอบชีวิตที่นี่"