มองจากสองขั้วของรัฐบาลเผด็จการ | ไสว บุญมา

มองจากสองขั้วของรัฐบาลเผด็จการ | ไสว บุญมา

คำเรียกร้อง “กองทัพธรรมมาแล้ว กองทัพไทยเมื่อไรจะมา” เริ่มปรากฏในหน้าสื่อสังคมออนไลน์พร้อมๆ กับปรากฏการณ์ท้าทายรัฐบาล โดยกลุ่มอันธพาลถืออาวุธสงครามในประเทศเฮติ การเรียกร้องและการท้าทายแบบนี้เคยมีมาก่อน

การเรียกร้องในเมืองไทย เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ทางการเมือง อันเป็นการเวียนไปตามองค์ประกอบ ได้แก่ รัฐธรรมนูญใหม่-การเลือกตั้ง-รัฐสภา/รัฐบาล-วิกฤตการณ์-รัฐประหาร แล้ววกมาเริ่มใหม่ที่รัฐธรรมนูญฉบับต่อไป

 เนื่องจากในขณะนี้เริ่มมีสัญญาณของวิกฤตการณ์ หลังจากประเทศได้รัฐสภา/รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ในรูปของการประท้วงโดย 3 ฝ่าย ได้แก่ เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และกองทัพธรรมของสำนักสันติอโศก

หากวิกฤตการณ์บานปลาย ปรากฏการณ์ต่อไปจะได้แก่รัฐประหารตามการเรียกร้องดังกล่าว รัฐประหารจะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลเผด็จการอีกครั้ง

การท้าทายรัฐบาลเกิดขึ้นในเฮติซ้ำซาก เนื่องจากประเทศตกอยู่ในภาวะรัฐล้มเหลวมานาน รัฐบาลอ่อนแอจนไม่สามารถปราบปรามกลุ่มอันธพาลถืออาวุธร้ายแรงต่างๆ อย่างราบคาบได้ ต้นตอของภาวะรัฐล้มเหลว ได้แก่ การปกครองเป็นเวลานานโดยรัฐบาลเผด็จการที่มีความฉ้อฉลจนเข้ากระดูกดำระหว่างปี 2500-2529 

ความฉ้อฉลก่อให้เกิดความยากจนและความเหลื่อมล้ำสูง แม้ประชาชนจะสามารถขับไล่รัฐบาลเผด็จการไปได้หลัง 29 ปี แต่ความเสียหายเกินการแก้ไขได้เกิดขึ้นแก่ฐานของสังคมแล้ว

“เฮติ” มิใช่ประเทศเดียวที่มีรัฐบาลเผด็จการในช่วงเวลาดังกล่าว นับสิบประเทศในภาคต่างๆ ของโลกก็มีรัฐบาลเผด็จการเช่นกัน แต่โดยทั่วไปไม่มีประเทศใดในปัจจุบันประสบปัญหาความยากจน พร้อมกับภาวะรัฐล้มเหลวแบบแทบสัมบูรณ์เช่นเฮติ 

อย่างไรก็ดี การมีรัฐบาลเผด็จการอาจนำไปสู่ภาวะตรงข้าม หรืออยู่คนละขั้วกับเฮติได้ เราอาจดู “เกาหลีใต้” เป็นตัวอย่าง

หลังสงครามเกาหลียุติเมื่อกลางปี 2496 ปัจจัยพื้นฐานของเกาหลีใต้เสียหายจนแทบไม่มีอะไรเหลืออยู่ นำไปสู่การประเมินของผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาว่า “ไม่มีทางผุดทางเกิด” ดังเป็นที่ทราบกันดี นายพลปักจุงฮี เข้ามานำรัฐบาลเผด็จการในปี 2506 เข้าท้าทายคำปรามาสนั้นสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์ 

ฉะนั้น การเรียกร้องของคนไทยให้ทหารกลับมาตั้งรัฐบาลเผด็จการอีกครั้งดังกล่าว อาจจะมิใช่การหลงผิดก็ได้ อย่างไรก็ดี มันมีความสุ่มเสี่ยงสูง เพราะนานไปไทยอาจไม่เป็นเช่นเกาหลีใต้ หากกลับเป็นเช่นเฮติ ในระหว่าง 2 ขั้วนี้ มีประวัติศาสตร์ที่เราอาจนำมาประกอบการพิจารณา

ในช่วงหลังปี 2500 หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทยมีรัฐบาลเผด็จการทั้งจากการทำรัฐประหารและจากการเลือกตั้ง สิงคโปร์พัฒนาได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับเกาหลีใต้ เนื่องจากมีความฉ้อฉลต่ำนำโดยนายกรัฐมนตรี ลี กวนยู 

ฟิลิปปินส์ถูกตราหน้าว่าเป็น “คนป่วยของเอเชีย” เนื่องจากมีความฉ้อฉลสูงนำโดยประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ซึ่งถูกมวลชนขับไล่ไปตายในต่างประเทศ

อินโดนีเซียกับไทยไม่ถึงกับเป็นง่อย แม้จะมีความฉ้อฉลสูงคล้ายกัน ต่างกันตรงที่มีการยึดทรัพย์และขับไล่ผู้นำออกนอกประเทศในกรณีของไทยเท่านั้น

มาถึงวันนี้ มีคำถามว่าถ้าการประท้วงของ 3 ฝ่ายทำให้เกิดรัฐประหาร รัฐบาลเผด็จการจะนำโดยบุคคลแนวนายพลปักจุงฮี ที่จะตีฝ่าออกมาจากวงจรอุบาทว์หรือไม่ ถ้าได้ก็น่าทำ แต่ถ้าจะได้แค่การทำรัฐประหารแบบครั้งที่ผ่านมาก็ยุติการประท้วงเสียดีกว่าเพื่อมิให้เสียทั้งเวลา ทรัพย์สิน แรงงาน และกำลังใจ

ทั้งนี้เพราะการชุมนุมประท้วงของชาวไทยนับล้านเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2556 ยังผลให้เกิดรัฐบาลที่หาทางปูพรมแดงให้อดีตนายกรัฐมนตรีที่หนีไปอยู่นอกประเทศและเป็นนักโทษเด็ดขาดสามารถกลับมาแบบเทวดาได้

เนื่องจากในขณะนี้โอกาสเกิดบุคคลเช่นนายพลปักจุงฮี ดูจะมีเพียงน้อยนิด ทางออกจากวงจรอุบาทว์อาจเป็นการเชิญรัฐบาลจีน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านใช้ระบบเผด็จการลดความฉ้อฉล จนพัฒนาประเทศได้อย่างน่าอัศจรรย์มาร่วมบริหารประเทศ

แม้จะไม่เชิญเพราะกลัวเสียเอกราช รัฐบาลจีนก็อาจเข้ามาเมื่อความฉ้อฉลมีผลทำให้ไทยขยับเข้าใกล้ขั้วเฮติ