เมื่อเพชรแท้‘อับแสง’ เพชรสังเคราะห์แรงกว่า

เมื่อเพชรแท้‘อับแสง’  เพชรสังเคราะห์แรงกว่า

เพชรสองเม็ดเปล่งประกายสุกใสเหมือนกันทุกอย่าง แต่แตกต่างกันตรงที่เพชรธรรมชาติอายุกว่าหนึ่งพันล้านปี ขณะที่เพชรจากห้องแล็บเป็นของผลิตขึ้นมาใหม่ราคาไม่ถึงครึ่งหนึ่ง

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เพชรที่มนุษย์สร้างขึ้นกำลังพลิกโฉมตลาดอัญมณีโลกมูลค่า 8.9 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะที่เมืองสุรัตทางภาคตะวันตกของอินเดีย ที่เพชร 90% ของโลกผ่านการเจียระนัยและขัดเงาที่นี่

ในห้องทดลองอันเจิดจ้าของสมิธ พาเทล ผู้อำนวยการกรีนแล็บไดมอนด์ส ผู้สืบทอดกิจการเพชรของครอบครัวเป็นรุ่นที่ 3ช่างเทคนิคหย่อน “เมล็ด” เพชรใสชิ้นเล็กๆ ลงในเครื่องปฏิกรณ์เลียนแบบแรงดันสูงใต้ผืนดิน

“เมื่อลูกค้าเห็นด้วยตาตนเอง ก็ขายได้ ผมเชื่อว่านี่คืออนาคต” พาเทลกล่าว

การหย่อนเมล็ดลงไปจนกลายเป็นอัญมณีพร้อมใช้ทำแหวน ทีมงานของพาเทลใช้เวลาไม่ถึงแปดสัปดาห์ผลิตเพชรเสมือนจริงที่แยกไม่ออกจากเพชรแท้

“มันคือสินค้าตัวเดียวกัน สารเคมีเดียวกัน คุณสมบัติเห็นได้ด้วยตาเหมือนกัน” พาเทลย้ำ

 

กว่าจะเป็นเพชรสังเคราะห์

ข้อมูลล่าสุดจากอุตสาหกรรมเพชรชี้ว่า ระหว่างปี 2562-2565 อินเดียส่งออกเพชรผลิตจากห้องแล็บมูลค่าเพิ่มขึ้นสามเท่า ปริมาณการส่งออกระหว่างเดือน เม.ย.-ต.ค.2566 เพิ่มขึ้น 25% จาก 15% ในช่วงเดียวกันของปี 2565

“เราเติบโตปีละ 400% ในแง่ปริมาณ” พาเทลเล่า

สำหรับขั้นตอนการผลิต เครื่องปฏิกรณ์ในห้องทดลองอย่างที่พาเทลมีทำงานด้วยการอัดก๊าซที่มีคาร์บอน เช่น ก๊าซมีเทนและคริสตัลให้เติบโตภายใต้ความร้อนและแรงดัน จากนั้นนำเพชรดิบที่ได้ไปยังโรงงานอีกแห่งหนึ่ง ให้คนงานหลายร้อยคนออกแบบ เจียระนัย และขัดเงา

พอล ซิมนิสกี นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมเพชรในนิวยอร์กเผยว่า สัดส่วนของเพชรสังเคราะห์ในตลาดโลกวัดจากมูลค่า เพิ่มขึ้นจาก 3.5% ในปี 2561 มาอยู่ที่ 18.5% ในปี 2566 และมีแนวโน้มว่าปีนี้จะเกิน 20%

นั่นยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับอุตสาหกรรมที่สั่นสะเทือนเพราะความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์และความต้องการตกต่ำไปเรียบร้อยแล้ว

ไร้ประวัติเพชรนองเลือด

เพชรผลิตจากเครื่องจักรได้รับการพัฒนาขึ้นครั้งแรกช่วงต้นทศวรรษ 1950 แต่เทคโนโลยีเพิ่งก้าวกระโดดจนสามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้เมื่อไม่ถึง 10 ปีก่อน

ผู้ผลิตคุยว่าเพชรของพวกเขาใช้ต้นทุนคาร์บอนต่ำ แม้มีคำถามว่ากระบวนการที่ต้องใช้พลังงานเข้มข้นแบบนี้ดีสำหรับสิ่งแวดล้อมจริงหรือ

พาเทลเล่าว่า ห้องแล็บของเขาใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากสายส่งท้องถิ่น แต่โรงงานอื่นๆ ก็ใช้ไฟฟ้าจากแหล่งที่ต้องใช้คาร์บอนมาก

และแม้ผู้ค้าเพชรธรรมชาติอ้างว่า กลไกใบรับรองระหว่างประเทศที่เรียกว่า Kimberley Process เป็นเครื่องยืนยันว่า “เพชรแห่งความขัดแย้ง” จากพื้นที่สงครามไม่ได้เข้าสู่ตลาด ผู้ผลิตเพชรสังเคราะห์โต้แย้งว่า ห้องแล็บของพวกเขามีประวัติสะอาด

ข้ออ้างด้านสิ่งแวดล้อมและมนุษยธรรมที่ว่ามา ช่วยให้เพชรสังเคราะห์เป็นตัวเลือกยอดนิยมสำหรับทำแหวนแต่งงาน

เอดาห์น โกลาน นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมเผยว่า ในเดือน ก.พ.2566 แหวนหมั้นเพชรที่ขายในสหรัฐ ประเทศผู้บริโภคเพชรรายใหญ่สุดของโลก 17% ใช้เพชรสังเคราะห์ โกลานประเมินว่าปัจจุบันตัวเลขอยู่ที่ 36%

ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีบริษัทเพชรสังเคราะห์เกิดขึ้นมากมาย ผู้ผลิตรายใหญ่สุดคือจีนและอินเดีย รวมถึงประเทศอื่นๆ

วิบากกรรมเพชรแท้

ข้อมูลจากสภาส่งเสริมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (GJEPC) ของอินเดีย เผยว่า ผู้ผลิตเพชรสังเคราะห์อินเดียส่งออกเพชร 4.04 ล้านกะรัต ระหว่างเดือน เม.ย.-ต.ค.2566 เพิ่มขึ้น 42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ในทางตรงข้าม บริษัทเพชรธรรมชาติในอินเดียรายงานยอดการส่งออกลดลงในช่วงเดียวกันมาอยู่ที่ 11.3 ล้านกะรัต

ขณะที่ยอดขายเพชรธรรมชาติพุ่งขึ้นช่วงโควิด-19 ระบาด เมื่อนักช้อปกระเป๋าหนักต้องการซื้อของแพงสร้างความสดใสให้ชีวิตช่วงล็อกดาวน์ จากนั้นความต้องการลดลงเมื่อเศรษฐกิจกลับมาเปิดดำเนินการตามปกติ บริษัทเพชรชั้นนำมีสินค้าราคาแพงเหลือค้างมากมาย

อาเชส เมห์ตา จากบริษัทดี นาวินจันทรา เอ็กซ์ปอร์ต หนึ่งในผู้ซื้อที่ได้รับใบอนุญาตหรือsightholders จากเดอเบียร์สกรุ๊ป บริษัทเพชรรายใหญ่ของโลกรายหนึ่ง กล่าวว่า เป็นการตกต่ำอย่างเลวร้ายที่สุดตั้งแต่ประกอบอาชีพมา 30 ปี

“นี่คือการไม่มีดีมานด์ที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ทุกอย่างประเดประดังเข้ามาเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด”

ปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากการแข่งขันจากเพชรสังเคราะห์มีทั้ง เศรษฐกิจชะลอตัวทั้งในสหรัฐและจีนซึ่งเป็นตลาดสำคัญ อุปทานล้นเกิน และการคว่ำบาตรเพชรดิบรัสเซีย บีบให้อุตสาหกรรมเพชรธรรมชาติของอินเดียต้องจำใจห้ามนำเข้าเพชรดิบรัสเซียในเดือน ต.ค.

“เราต้องกดปุ่มตั้งค่าใหม่ ไม่เช่นนั้นแล้วผู้คนจะตื่นตระหนก” ไซท์โฮลเดอร์อินเดียอย่างน้อยห้ารายเผยว่า ในการขายเพชรครั้งแรกของปีนี้ เดอเบียร์สกรุ๊ปหั่นราคาเพชรชนิดต่างๆ ลง เมื่อผู้ซื้อเติมสต็อกหลังเทศกาลวันหยุดของสหรัฐ

อุตสาหกรรมไร้ผูกขาด

อย่าว่าแต่เพชรธรรมชาติ อุตสาหกรรมเพชรสังเคราะห์ก็มีปัญหาของตนเองเช่นกัน

การวิเคราะห์ของโกลานพบว่า อุปทานเพชรสังเคราะห์พุ่งพรวด ราคาดิ่งเหว เฉพาะปี 2566 ปีเดียวราคาขายส่งดิ่งลงแล้ว 58%

ร้านค้าปลีกในเมืองสุรัตกล่าวกับเอเอฟพีว่า ราคาเพชรคุณภาพรองหนึ่งกะรัต ตกจาก 2,400 ดอลลาร์ (ราว 84,00 บาท) ในปี 2565 มาอยู่ที่ 1,000 ดอลลาร์เศษ (ราว 35,000 บาท) ในปี 2566

ดับเบิลยูดีแล็บโกรว์นไดมอนด์ ผู้ผลิตเพชรสังเคราะห์รายใหญ่อันดับสองของสหรัฐ ยื่นขอล้มละลายในเดือน ต.ค. แต่สถานการณ์ที่ว่ามาพาเทลกลับแย้งว่า ราคาเพชรสังเคราะห์ตกจะยิ่งกระตุ้นความต้องการ

“เรารู้ว่าราคาต้องตก เพราะอุตสาหกรรมนี้ไม่มีใครผูกขาด” พาเทลกล่าว ดูเหมือนลูกค้าหลายรายในร้านเพชรมุมไบจะเห็นด้วย

“เพชรธรรมชาติแพงกว่านี้ห้าเท่า ถ้าคุณอยากได้อะไรที่ใส่ได้ทุกวัน เพชรสังเคราะห์เหมาะสุด ฉันชอบจริงๆ ค่ะ” เลขา ประภาคาร ลูกค้าวัย 29 ปียืนยันถึงความเหมาะสมของเพชรที่ได้จากฝีมือมนุษย์