จีนกำลังจะครองตลาด ‘แบตเตอรี่‘ เปิด 5 อันดับผู้ผลิตยักษ์ใหญ่รวมอยู่ในจีน

จีนกำลังจะครองตลาด ‘แบตเตอรี่‘ เปิด 5 อันดับผู้ผลิตยักษ์ใหญ่รวมอยู่ในจีน

จีนกำลังจะครองตลาด ‘แบตเตอรี่‘ หลังจากที่อุตสาหกรรมแบตเตอรี่เติบโตอย่างก้าวกระโดด และคาดว่าจะขยายตัวถึง 1.3 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2573 พบว่า จีน กลายเป็นแหล่งรวมผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ทั้ง 5 ทั้ง CATL, BYD, EVE, CALB และGotion ในขณะที่ไทยเร่งดำเนินนโยบาย 30@30 ตอบรับเทรนด์โลก

ความต้องการแบตเตอรี่ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด และการผลักดันของภาครัฐในหลายประเทศ ทำให้ผู้ผลิตให้ความสนใจ และเข้ามาแข่งขันเพื่อคว้าโอกาสในตลาดแบตเตอรี่ที่กำลังเติบโต และนำมาสู่ยุคของการแข่งขันในเทคโนโลยีการผลิต

ท่ามกลางความต้องการใช้แบตเตอรี่มากขึ้นในหลายอุตสาหกรรม ทั้งจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ และการขนส่ง รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าที่มีการใช้แบตเตอรี่ร่วมด้วย ส่งผลให้ผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์รวมถึงบริษัทที่พัฒนายานยนต์ไฟฟ้ากระโดดเข้ามาเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ กันมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าตลาดแบตเตอรี่เติบโตสูงต่อเนื่อง 


โดย SCB EIC คาดว่ามูลค่าตลาดแบตเตอรี่ของโลกในช่วงปี 2566 - 2573 มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยราว 23% ต่อปี และคาดว่ากำลังการผลิตของแบตเตอรี่ทั่วโลกจะมากถึง 11 TWh ในปี 2573 หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดราว 1,364 พันล้านดอลลาร์

ผู้ผลิตแบตเตอรี่ 5 อันดับแรกของโลก


เอเชียกำลังกลายเป็นฮับสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ EV ของโลก  และที่น่าสนใจคือ 5 บริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ล้วนมาจากจีน ทำให้จีนกลายเป็นแหล่งรวมบริษัทแบตเตอรี่ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในโลกในทุกประเภทแบตเตอรี่

  • อันดับ 1 คือ CATL 

บริษัท ซีเอทีแอล (CATL) ผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลกจากประเทศจีน  ผู้นำระดับโลกด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงานใหม่

เมื่อเดือนส.ค.ปีที่แล้ว ได้ประกาศเปิดตัว เซินซิง (Shenxing) แบตเตอรี่ LFP แบบชาร์จเร็วพิเศษระดับ 4C ตัวแรกของโลก ซึ่งมอบระยะทางการขับขี่ไกลถึง 400 กิโลเมตร ด้วยการชาร์จเพียง 10 นาที และไกลกว่า 700 กิโลเมตร เมื่อชาร์จแบตเตอรี่เต็ม โดยเชื่อว่าแบตเตอรี่เซินซิงจะช่วยบรรเทาความกังวลของผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้อย่างมาก พร้อมเปิดศักราชใหม่ของการชาร์จ EV ด้วยความเร็วสูง

  • อันดับ 2 คือ BYD

บีวายดี บริษัทยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำในจีนที่เป็นเจ้าของ และผู้คิดค้นนวัตกรรม Blade Battery แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีการออกแบบมาได้ตรงตามความหมายของชื่อ Blade ที่จะช่วยให้สามารถระบายความร้อนได้ดี และกักเก็บพลังงานได้สูงกว่าแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไป

มีข้อได้เปรียบสำคัญ ได้แก่ อายุการใช้งานยาวนาน ระยะการขับขี่ที่ดี และที่สำคัญที่สุดคือ มีความปลอดภัยขั้นสูง ช่วยแก้ปัญหา และลดความกังวลด้านความปลอดภัยให้กับตลาดยานยนต์ไฟฟ้าโลก แม้จะมีการผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ก็สามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้ถึง  6%

  • อันดับ 3 คือ EVE

EVE Energy Co.,Ltd. หรือ EVE ดำเนินธุรกิจด้านการให้บริการเทคโนโลยีด้านแบตเตอรี่ Lithium-ion อันดับ 3 ของจีน มีกำลังการผลิตแบตเตอรี่ไม่น้อยกว่า 360 GWh โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยนำมาใช้อย่างแพร่หลายในด้าน Internet of Things (IoT), ยานยนต์ไฟฟ้า และด้าน ESS 


เมื่อเดือนส.ค.ปี 2566  บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA  ประกาศจับมือ 2 พันธมิตรจีน ผู้ผลิตแบตเตอรี่ ได้แก่ EVE และ  Sunwoda เพื่อศึกษาตั้งโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่กำลังผลิตเริ่มต้น 6 กิกะวัตต์ต่อปีในประเทศไทย รองรับดีมานด์แบตเตอรี่ไทย - อาเซียน 

  • อันดับ 4 คือ CALB

CALB Technology บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ EV ของจีนรายใหม่ที่มีส่วนแบ่งตลาด 4% และตั้งเป้าเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ EV สามอันดับแรกของโลก ทั้งตั้งใจที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 200 GWh ด้วยโรงงานผลิตที่สำคัญ 8 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศจีน

  • อันดับ 5 คือ Gotion

โกตัน หรือ Gotion High-Tech บริษัทแบตเตอรี่ไฟฟ้ารายแรกของจีนที่เข้าตลาดทุน Gotion มีความเชี่ยวชาญด้านแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์พลังงานใหม่ การเก็บพลังงาน อุปกรณ์ส่ง และจ่ายกำลังไฟฟ้า และธุรกิจพลังงานใหม่สาขาอื่นๆ โดยมีฐานการผลิต 10 แห่งในจีน 

รวมทั้ง โกตัน ได้ขยายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ เช่น เปิดสายการผลิตแบตเตอรี่แห่งแรกของบริษัท ในเยอรมนี รวมทั้งกลุ่ม PTT ส่งบริษัทย่อย "Nuovo Plus" ตั้งบริษัทร่วมทุน "NV Gotion" สร้างโรงงานผลิตชุดแบตเตอรี่รถ EV โดยมีเป้าหมาย กำลังการผลิตเริ่มต้น 1 GW ก่อนขยายเป็น 2 GW ในปี 68 

 

นโยบายรัฐขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแบตเตอรี่


อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ทั่วโลกยังมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง โดยภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการผลักดันหลายประเทศมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ โดยมีนโยบายที่คล้ายคลึงกัน 3 ประการ คือ 
1. นโยบาย ผลักดันให้เกิดความต้องการใหม่ (New demand-driven) 
2. นโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม และการใช้งานผ่านกฎหมาย และข้อบังคับ (Regulation-driven)  
3. การส่งเสริมการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีจากงบประมาณนโยบาย (Technical-driven) 

ความต้องการแบตเตอรี่ของไทย

โดย SCB EIC ประเมินว่าความต้องการแบตเตอรี่ของไทยจะมีไม่น้อยกว่า 36 GWh ภายในปี 2573 จากการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน จากนโยบาย 30@30 และ จากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าแห่งชาติ (PDP 2018 Rev.1) ที่มีแผนการนำแบตเตอรี่ (BESS) มาใช้

ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่าความต้องการขั้นต่ำของแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30ของไทย รวมกันอาจมีไม่น้อยกว่า 34GWh ในปี 2573 และสำหรับภาคการผลิตไฟฟ้าจาก Solar+BESS ไม่น้อยกว่า 2.76 GWh ในปี 2573 คิดเป็นมูลค่าตลาดในปี 2573 ไม่น้อยกว่า 3,051 ล้านดอลลาร์

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์