เศรษฐกิจซบเซา-การบริโภคลด หนุน‘ธุรกิจจีน’ หนีลงทุนนอกประเทศ

เศรษฐกิจซบเซา-การบริโภคลด หนุน‘ธุรกิจจีน’ หนีลงทุนนอกประเทศ

หลังจากจีนยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เข้มงวด การเจาะตลาดต่างประเทศจึงกลายเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนมากขึ้น

บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางของจีน รวมถึงบริษัทบางแห่งที่ไม่เคยคิดลงทุนนอกประเทศมาก่อน ตอนนี้ต่างขยายโอกาสธุรกิจไปยังต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากการแข่งขันในประเทศดุเดือดและยอดขายบริษัทตกต่ำ

แม้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลวอชิงตันและรัฐบาลปักกิ่ง แต่หลายบริษัทเปลี่ยนทิศทางการลงทุนไปยังตลาดสหรัฐ เนื่องจากมีขนาดใหญ่กว่าและให้ผลตอบแทนสูงกว่า

ความคาดหวังมากมายเหล่านี้หนุนให้บริษัทจีนมากมายเข้าร่วมงานจัดแสดงสินค้าเทคโนโลยี Consumer Electronics Show (ซีอีเอส) ในลาสเวกัสช่วงต้นเดือนนี้ เพื่อคว้าโอกาสจัดแสดงสินค้าของตนเอง ดูท่าทีในตลาด และหาพาร์ตเนอร์เพิ่ม

ผู้จัดการอาวุโส จากโอเพนเวิร์ส เทคโนโลยี บริษัทให้บริการภาพจำลอง 3 มิติในกรุงปักกิ่ง เผยกับนิกเคอิเอเชียว่า “นักลงทุนสหรัฐยอมรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากกว่า และมีความสามารถทางการเงินที่ลดโอกาสขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นได้”
 

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจจีนที่ขยายโอกาสไปยังต่างประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่หลังจากจีนยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เข้มงวด การเจาะตลาดต่างประเทศจึงกลายเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ “Going Global" จึงกลายเป็นคำนิยมในปีที่ผ่านมา และรัฐบาลท้องถิ่นจีนได้อำนวยความสะดวกให้กับบริษัทที่มุ่งเน้นส่งออกให้เข้าร่วมนิทรรศการต่าง ๆ ทั่วโลก

ขณะที่แบรนด์เครื่องดื่มจีนบางแห่งที่ขายตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนนี้เริ่มรุกไปยังประเทศพัฒนาบ้างแล้ว ขณะที่บริษัทจีนอื่นๆ เช่น บริษัทค้าปลีกแฟชั่นอย่าง “ชีอิน”, อีคอมเมิร์ซจีน “เทมู” และติ๊กต๊อกชอป ขยายธุรกิจทั่วโลกอย่างรวดเร็ว โดยใช้ประโยชน์จากห่วงโซ่อุปทานในประเทศ และผลักดันโมเดลธุรกิจนวัตกรรมจีนสู่ระดับโลก

“หลิว จิงเฟิง” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยจากไชน์โกลบอล บริษัทที่ปรึกษาสำหรับธุรกิจจีนที่ต้องการขยายกิจการไปต่างประเทศ เผยว่า บริษัทรับจ้างผลิตตามสูตรลูกค้า (ODMs) และบริษัทวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ (OEMs) ขณะนี้กำลังขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศด้วยตนเอง ต่างกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิดที่บริษัทส่วนใหญ่จะไปทำธุรกิจในต่างประเทศตามซัพพลายเชนของตนเองเท่านั้น

“สาเหตุหลักที่เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้เพราะตลาดเปลี่ยนแปลง ตลาดจีนถึงจุดที่ไม่เติบโตสูงอย่างยั่งยืนเหมือนอดีตอีกต่อไป ธุรกิจขนาดเล็กขยายกิจการไปต่างประเทศ เพราะเกิดสงครามราคาดุเดือดในบ้านและกำลังใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง ส่งผลให้ยอดขายในประเทศลดลงอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทโออีเอ็มได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการส่งออกลดลง ทำให้ธุรกิจต้องหาช่องทางขายอื่น ๆ นอกเหนือจากการส่งออกแบบดั้งเดิม” หลิว กล่าว
 

การส่งออกของจีนเมื่อปี 2566 ลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2559 ตอกย้ำว่าอุปสงค์ทั่วโลกชะลอตัวลง ขณะที่บรรดาพาร์ตเนอร์การค้าสำคัญส่งออกไปสหรัฐได้ลดลง 13% จากปีก่อน ส่วนอุปสงค์จากสหภาพยุโรปและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ตกต่ำลงเช่นกัน

เศรษฐกิจจีนเติบโต 5.2% ในปี 2566 มากกว่าที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ประมาณ 5% แต่ความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ ท่ามกลางวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ การบริโภคในประเทศชะลอตัว และอุปสงค์ภายนอกประเทศซบเซา

ด้าน “ติง ลู่” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนจากโนมูระ คาดว่า การบริโภคจีนอาจซบเซาลง โดยเฉพาะหลังวันหยุดยาวปีใหม่จีน เนื่องจากความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึงจุดอิ่มตัวแล้ว และครัวเรือนคาดว่ารายได้อาจน้อยลง

นอกจากนี้ หลิวเสริมว่า บริษัทจีนหลายแห่งไม่เพียงต้องการรุกตลาดต่างประเทศเท่านั้น แต่มีความมุ่งมั่นมากกว่านั้น เช่น ชีอิน เทมู ติ๊กต๊อก และบริษัทอื่น ๆ ที่มีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน สามารถส่งออกได้มากขึ้นเมื่อขยายธุรกิจในต่างประเทศ แม้บางบริษัทเกือบล้มละลายแล้วก็ตาม

“เควิน หวง” ผู้จัดการการตลาดอาวุโสจากบริษัทโมจิ ที่ผลิตแว่นตาเสมือนจริงประเภทเออาร์ให้กับออปโป้ รวมถึงวีโว่และแซดทีอี บอกว่า บริษัทจีนมุ่งมั่นที่จะขายสินค้าในสหรัฐ แม้ยังไม่ได้รับรองมาตรฐาน FCC สำหรับจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในสหรัฐ ซึ่งบริษัทจะสามารถจำหน่ายสินค้าในราคาที่สูงกว่าในจีน และอัตราแลกเปลี่ยนทำให้ได้กำไรมากกว่า

ขณะที่ “เบนจามิน เซียว” ผู้อำนวยการฝ่ายขายจากบริษัทโออีเอ็มในเซินเจิ้นบอกว่า โมเดลการส่งออกแบบดั้งเดิมมีข้อจำกัดมากมาย บริษัทจึงพิจารณาใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบวงจรคู่ขนาน (dual strategy) ที่เป็นการสร้างตลาดในประเทศให้แข็งแกร่ง ควบคู่กับการเชื่อมโยงตลาดภายนอก รวมถึงทำสัญญาการผลิต พัฒนาแบรนด์ และจำหน่ายสินค้าโดยตรงในต่างประเทศ

ส่วน “หยู โจว” ผู้อำนวยการฝ่ายขายระดับโลกของ สมาร์ตมี อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยี บริษัทในเครือผู้ผลิตสมาร์ตโฟนเสียวหมี่ ที่พยายามรุกตลาดเครื่องฟอกอากาศในสหรัฐ ได้เผชิญกับการแข่งขันในต่างประเทศทั้งดีและไม่ดี 

ในแง่ดีหยูบอกว่า ต่างประเทศไม่เกิดการลอกเลียนแบบสินค้า แต่การปรับตัวให้เข้ากับรสนิยมอเมริกันเป็นความท้าทาย ธุรกิจจึงเปลี่ยนไปรุกตลาดในรัสเซียแทน และรัสเซียกลายเป็นต่างประเทศรายใหญ่ของบริษัท