แก้วิกฤติว่างงาน โจทย์หินศึกเลือกตั้งอินโดนีเซีย

แก้วิกฤติว่างงาน โจทย์หินศึกเลือกตั้งอินโดนีเซีย

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอินโดนีเซีย 19% มองว่า การสร้างงานและการลดอัตราการว่างงาน เป็นปัญหาสำคัญอันดับ 2 ที่ผู้นำคนต่อไปต้องเร่งแก้ไข โดยผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงมากกว่าครึ่งเป็นคนเจนมิลเลนเนียลและคนเจนแซด

สำนักข่าวนิกเคอิเอเชีย เผยว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีในประเทศอินโดนีเซียที่กำลังมาถึง มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 204.8 ล้านคน และผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงมากกว่าครึ่งเป็นคนเจนมิลเลนเนียลและคนเจนแซด

โอกาสครองตำแหน่งสมัยที่ 3 ของปธน.โจโก วิโดโด อาจอยู่ไกลเกินเอื้อม เนื่องจากต้องแข่งขันกับแคนดิเดตปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีกลาโหม วัย 72 ปี, กันจาร์ ปราโนโว อดีตผู้ว่าราชการ จ.ชวากลาง วัย 55 ปี และอานีส บาสวีดาน อดีตผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตา วัย 54 ปี ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งปธน.อินโดฯคนต่อไปอาจต้องรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจมากมาย เพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผลสำรวจของอินดิเคเตอร์โพลิติก (Indikator Politik) ที่เผยแพร่เมื่อเดือน ก.ย. 2566 พบว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอินโดฯ 19% มองว่า การสร้างงานและการลดอัตราการว่างงาน เป็นปัญหาสำคัญอันดับ 2 ที่ผู้นำคนต่อไปต้องเร่งแก้ไข รองจากปัญหาคงราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานให้อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งชาวอินโดฯ 31% มองว่ามีความสำคัญมากที่สุด
 

อย่างไรก็ตาม เวิลด์แบงก์บอกว่า การจัดหางานดี ๆ พร้อมรายได้สมเหตุสมผลเป็นสิ่งสำคัญต่อความพยายามก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางของอินโดนีเซีย และช่วยให้อินโดฯได้เป็นประเทศรายได้สูงภายช่วงครบรอบเอกราช 100 ปี ในปี 2588 แต่การขึ้นเป็นประเทศรายได้สูงนั้น อินโดฯต้องมีรายได้ประชาชาติต่อหัว (จีเอ็นไอ) มากกว่า 13,846 ดอลลาร์ (ประมาณ 4.9 แสนบาท) ขณะที่จีเอ็นไอของอินโดนีเซียอยู่ที่ 4,580 ดอลลาร์ (ประมาณ 1.6 แสนบาท)

แม้เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งราว 5% ต่อปี และอินโดฯเพิ่งได้กลับมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง หลังถูกปรับลดเป็นประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำในช่วงโควิดระบาด แต่อินโดฯยังขาดการจัดหางานดี ๆ ให้กับคนหนุ่มสาว ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19

โดยในช่วงดังกล่าว ชาวอินโดฯตกงานหลายล้านคน บางคนถูกลดเงินเดือน และหลายคน โดยเฉพาะผู้หญิงไม่สามารถกลับไปทำงานเหมือนเดิมหรือมีรายได้เทียบเท่าช่วงก่อนแพร่ระบาดโควิด-19

“แซนดรา มาเรตา” นักศึกษาวิชาเอกธุรกิจในกรุงจาการ์ตาวัย 21 ปี บอกว่า เธอได้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งปธน.เป็นครั้งแรกในวันที่ 14 ก.พ. นี้ และเธอรู้สึกกังวลเกี่ยวกับการหางานหลังจบการศึกษา เธอกำลังหางานในสายการจัดการธุรกิจ หรืองานธนาคารเพื่อทำงานเป็นเวลา 6 เดือน แต่กังวลเกี่ยวกับการหางานท่ามกลางการแข่งขันสูง

“ฉันจะได้เข้าตลาดแรงงานในปีนี้ ก็เลยหวังว่าประธานาธิบดีคนใหม่จะสามารถแก้ไขความน่ากังวลนี้ได้ แต่งานที่เปิดรับสมัครส่วนใหญ่ขอคนมีประสบการณ์อย่างน้อย 2 หรือ 3 ปี และฉันก็กังวลเกี่ยวกับรายได้ เพราะอาจได้รับเงินเดือนต่ำเกินไป” มาเรตา กล่าว

แก้วิกฤติว่างงาน โจทย์หินศึกเลือกตั้งอินโดนีเซีย

ข้อมูลจากสำนักสถิติอินโดนีเซีย แสดงให้เห็นว่า อัตราการว่างงานในประเทศลดลงสู่ระดับ 5.3% เมื่อเดือน ส.ค. 2566 ใกล้เคียงกับระดับในปี 2562 ที่ 5.2% หลังแตะระดับสูงสุดในปี 2563 แต่อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวยังคงสูง ซึ่งคนรุ่นใหม่อายุ 20-24 ปี ว่างงาน 17% ในปี 2565

ยิ่งไปกว่านั้น ประชากรวัยทำงาน 59% จาก 139.85 ล้านคนอยู่ในภาคการทำงานไม่เป็นทางการในปี 2566 ซึ่งสูงกว่าระดับปี 2563 ที่ 56% โดยภาคการทำงานไม่เป็นทางการ มีทั้งผู้ประกอบอาชีพอิสระ และทำธุรกิจขนาดเล็ก หรือผู้ประกอบอาชีพฟรีแลนซ์ อาทิ พ่อค้าแม่ค้าริมถนนและคนขับรถรับจ้าง

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ระบุว่า กลุ่มแรงงานประเภทนี้มักไม่ได้รับสัญญาจ้างงานที่ปลอดภัย ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ และไม่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมหรือมีผู้แทนทำงาน

แคนดิเดตประธานาธิบดีอีก 3 คนจึงมีความพยายามมุ่งมั่นเพิ่มการจ้างงาน โดยปราโบโวให้คำมั่นสัญญาว่าจะสร้างงานใหม่ 19 ล้านตำแหน่ง ขณะที่กันจาร์ให้คำมั่นเพิ่มงาน 17 ล้านตำแหน่ง และอานีสหวังสร้างงาน 15 ล้านตำแหน่งในอีก 5 ปีข้างหน้า

ในระหว่างหาเสียงช่วงเลือกตั้ง ปราโบโวและกันจาร์ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการผลักดันและขยายการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองและภาคการเกษตรของโจโกวี เพื่อบรรลุเป้าหมายการสร้างงานนับล้าน ซึ่งปธน.โจโกวีเป็นผู้นำความคิดริเริ่มในการสร้างงานและสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตผ่านโครงการต่าง ๆ รวมถึงการจำกัดส่งออกทรัพยากรแร่เพื่อส่งเสริมห่วงโซ่คุณค่าภายในประเทศ

ยิบราน รากาบูมิง แคนดิเดตรองประธานาธิบดีวัย 36 ปีผู้เคียงข้างปราโบโวและเป็นลูกชายคนโตของปธน.โจโกวี กล่าวว่า ตั๋วสำหรับการขึ้นเป็นประธานาธิบดีต้องหนุนคนหนุ่มสาวให้มีทักษะทางดิจิทัลด้วย

“เราต้องการผู้มีความสามารถในอนาคตที่พร้อมด้วยทักษะในอนาคต เราจะสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ บล็อกเชน หุ่นยนต์ ระบบการเงินอิสลาม และคริปโทฯ” ยิบรานกล่าวในการหาเสียงเมื่อเดือน ธ.ค.