สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ก่อไฟป่ารุนแรงทั่วโลก

สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ก่อไฟป่ารุนแรงทั่วโลก

สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดไฟป่ารุนแรงมากขึ้นในจุดต่างๆทั่วโลก ขณะที่ไฟป่าที่รุนแรงมากขึ้นก็ก่อให้เกิดสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน

สำนักข่าวนิกเคอิเอเชีย รายงานว่า ไฟป่าที่เกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงยังคงเผาทำลายพื้นป่าทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาจำนวนมาก และยิ่งกระตุ้นให้เกิดภาวะโลกร้อนมากขึ้น

“ซาแมนธา เบอร์เจส” รองหัวหน้าฝ่ายบริการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสแห่งสหภาพยุโรป เตือนถึงความเสี่ยงของผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจกที่มากขึ้นว่า 

“อุณหภูมิในช่วงปี 2566 อาจสูงกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ อย่างน้อยในรอบ 100,000 ปี”

ไฟป่าที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เป็นผลมาจากสภาพอากาศร้อนร้อนขึ้นและแห้งแล้งมากขึ้น และแคนาดาเกิดความเสียหายที่รุนแรงมาก โดยเหตุไฟป่าในแคนาดาเมื่อปีก่อน ได้สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยมาจากการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจถึง 3 เท่า

“จัสติน ทรูโด” นายกรัฐมนตรีแคนาดา โพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดียเมื่อเดือน มิ.ย. 2566 เตือนว่า “สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นปีแล้วปีเล่า เราจะได้เห็นไฟป่ารุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และสถานการณ์นี้จะเกิดขึ้นในสถานที่ที่ปกติไม่เคยพบเจอ”

ในแคนาดา เหตุไฟป่าเริ่มเกิดบ่อยขึ้นในเดือนเม.ย. ส่งผลให้เมืองทางภาคตะวันตกของรัฐอัลเบอร์ตาต้องประกาศภาวะฉุกเฉินในเดือนถัดไป และยังเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ป็นวงกว้างในควิเบกเมื่อเดือน มิ.ย. ประชาชนจำนวนมาต้องอพยพออกจากบ้าน ขณะที่เมืองทางภาคตะวันตกของรัฐบริติชโคลัมเบียเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมไฟป่าแคนาดา (Canadian Interagency Forest Fire Center) ระบุว่า ผืนป่าในแคนาดาที่มีพื้นที่มากกว่า 180,000 ตารางกิโลมเตร ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกืบเท่าขนาดพื้นที่ประเทศญี่ปุ่น 50% ถูกไฟป่าเผาทำลาย และควันจากการเผาไหม้ลอยข้ามชายแดนไปสู่ฝั่งสหรัฐ ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศรุนแรงในนิวยอร์ก ชิคาโก และดีทรอยต์

จากการประมาณข้อมูลของฝ่ายบริการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส พบว่า ไฟป่าขนาดใหญ่ในแคนาดาผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1,700 ล้านตันในปี 2566 มากกว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจของแคนาดาถึง 3 เท่า
 

ผืนป่าในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วโลกอาจกำลังหายไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน ตามข้อมูลของสถาบันทรัพยากรโลกในสหรัฐ ระบุว่า พื้นที่ป่าเฉลี่ย 8.3 ล้านเฮกตาร์ (ประมาณ 52 ล้านไร่) ถูกไฟป่าเผาราบตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปี 2565 ซึ่งมากกว่าการสูญเสียผืนป่าไปกับไฟป่าในช่วงปี 2544-2546 เฉลี่ย 2 เท่า และมากกว่าการเสียผืนป่าจากการตัดไม่ทำลายป่าหรือกิจกรรมอื่น ๆ ในบราซิลแต่ละปีเป็น 2 เท่าเช่นกัน ซึ่งพื้นที่ป่าในบราซิลส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งของป่าฝนอเมซอน หรือเรียกว่า “ปอดของโลก” และสถาบันส่วนใหญ่โทษว่าการสูญเสียผืนป่าเป็นผลมาจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

“มาร์ตา อาร์บิโนโล” นักวิเคราะห์นโยบายจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) กล่าวว่า “เราเห็นแล้วว่าสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดไฟป่ารุนแรงมากขึ้น ขณะเดียวกันไฟป่าที่รุนแรงมากขึ้นก็ก่อให้เกิดสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเช่นกัน”

โลกร้อน ส่งผลให้เกิดคลื่นความร้อนและภัยแล้งตามมา ซึ่งอาจทำให้เกิดไฟป่าได้ง่ายจากเหตุการณ์ฟ้าผ่า หรือการจัดการไฟอย่างไม่ระมัดระวังของการตั้งแคมป์ต่าง ๆ ไฟป่าสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก และยิ่งทำให้วงจรภาวะโลกร้อนแย่ลงไปอีก

โลกเราอาจเกิดวิกฤติอย่างรวดเร็วและยากที่จะควบคุม โดยรายงานในปี 2565 ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นอีพี) และ มูลนิธิสัญชาตินอร์เวย์ GRID-Arendal ระบุว่า เหตุไฟป่าครั้งใหญ่คาดว่าจะเกิดมากขึ้น 14% จากระดับในปี 2553-2563 ภายในปี 2573 และเพิ่มขึ้น 33% ภายในปี 2593

“ในอนาคตอาจเกิดไฟป่ารุนแรงมากขึ้นทั่วโลก แม้แต่ในพื้นที่ที่ไม่เคยได้รับผลกระทบมาก่อน” ยูเอ็นอีพี เตือน

อย่างไรก็ดี หน่วยงานสำคัญของสหภพยุโรป (อียู) ได้บรรลุข้อตกลงแบบกว้าง ๆ เมื่อเดือน พ.ย. 2566 เพื่อจัดทำมาตรการป้องกันไฟป่า รวมถึงมาตรการที่ทำให้พื้นที่ป่าพรุกลับมาชุ่มชื้นอีกครั้ง เนื่องจากไฟป่ามักเกิดขึ้นเพราะป่าพรุมีความแห้งแล้ง ซึ่งป่าพรุเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่ประกอบไปด้วยพืชเน่าเปื่อยและพืชที่มีคุณสมบัติเหมือนถ่าน

ด้านคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารของอียูกำลังพิจารณาออกกฎหมายให้มีการติดตามตรวจสอบป่าไม้เพิ่มเติม

นอกจากโลกร้อนก่อให้เกิดไฟป่ารุนแรงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่พึ่งพาหิมะตามฤดูกาล โดยล่าสุดสำนักข่าวแชนแนล นิวส์ เอเชีย รายงานเมื่อวันจันทร์ (22 ม.ค.) ว่า บรรดาสกีรีสอร์ทบนเทือกเขาหิมาลัย ในพื้นที่แคชเมียร์ ประเทศอินเดีย กลับไร้หิมะในเดือนม.ค. ทำให้นักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางไปเล่นสกีบนเทือกเขาที่อดีตเคยเต็มไปด้วยหิมะ ต้องยกเลิกจองที่พักมากกว่าครึ่ง การท่องเที่ยวในพื้นที่ซบเซาอย่างหนัก ทั้งยังเสี่ยงเกิดภาวะแห้งแล้งเพราะฝนตกน้อยลง ซึ่งภาวะแห้งแล้งในพื้นที่ดังกล่าวเสี่ยงก่อให้เกิดไฟป่าได้ง่ายเช่นกัน

ถึงเวลาแล้วที่โลกจะต้องตื่นตัวและเผชิญกับผลกรทบที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน และเร่งดำเนินการตัดวงจรที่ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและไฟป่ารุนแรง