'ไล่ ชิงเต๋อ' กุมอำนาจ แต่ไม่อาจเปลี่ยนชะตาไต้หวัน

'ไล่ ชิงเต๋อ' กุมอำนาจ แต่ไม่อาจเปลี่ยนชะตาไต้หวัน

จีนอาจเดินหน้าสร้างความกดดันทางเศรษฐกิจและการทูต ด้วยการจูงใจรัฐเล็ก ๆ ให้ออกห่างไต้หวัน และคว่ำบาตรบริษัทผลิตภัณฑ์ และผู้คนจากไต้หวันมากขึ้น

“ไล่ ชิงเต๋อ” บุคคลที่จีนมองว่าเป็น “ตัวปัญหา” และ “ผู้แบ่งแยกที่เป็นอันตราย” แต่ตอนนี้กำลังจะได้เป็นประธานาธิบดีไต้หวันคนต่อไป

การกล่าวอ้างสิทธิ์ โดยมองว่าเกาะไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ภัยคุกคามเริ่มมีมากขึ้นเมื่อปีก่อน และแม้ว่าไต้หวันได้รับคำเตือนจากจีน คัดค้านลงคะแนนเสียงให้พรรคพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) แต่ชาวไต้หวันหลายล้านคนก็ออกไปเลือกตั้งเทคะแนนเสียงให้ DPP

ไล่จะจัดการกับรัฐบาลปักกิ่งอย่างไร และการตอบสนองของรัฐบาลปักกิ่งจะเป็นตัวกำหนดบทบาทของไล่อย่างไร บีบีซีวิเคราะห์ไว้ดังนี้

“ไช่ 3.0” หรือยุคใหม่ของ “ไล่ ชิงเต๋อ”

นายไล่ได้ให้คำมั่นสัญญาว่า รัฐบาลของตนจะสานต่องาน 8 ปีของไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีคนก่อน โดยในระหว่างการหาเสียง ไล่ได้ย้ำถึงสิ่งที่ไช่ได้พูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า “ไม่จำเป็นต้องประกาศเอกราช เพราะไต้หวันเป็นรัฐอธิปไตยที่เป็นอิสระ ซึ่งเรียกว่า สาธารณรัฐจีน - ไต้หวัน” 

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ไล่ถูกมองว่าเป็นคนไฟแรงมากกว่าปธน.ไช่ที่เป็นคนระมัดระวัง และเขาขึ้นมามีบทบาทผ่านการเป็นสมาชิกพรรค DPP ในฐานะสมาชิกคลื่นลูกใหม่ที่สนับสนุนการประกาศเอกราชไต้หวันอย่างเป็นทางการ

ไล่และเพื่อนร่วมงานของเขา “เชียว บีคิม” ต่างเป็นคนที่รัฐบาลปักกิ่งไม่ชอบและไม่ไว้วางใจอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งถึงขั้นห้ามทั้งสองคนเดินทางเข้าจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง และเชียว หญิงไต้หวันลูกครึ่งอเมริกัน เพิ่งดำรงผู้แทนไต้หวันในสหรัฐไม่นานมานี้ ยิ่งทำให้จีนไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยใด ๆ กับปธน.คนใหม่ และทั้งสองฝ่ายไม่ได้ติดต่อกันอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากช่วงนั้น จีนไม่พอใจที่ปธน.ไช่ปฏิเสธว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่

ความขัดแย้งยังคงอยู่

การลงคะแนนเสียงชี้ขาดเมื่อวันเสาร์ (13 ม.ค.) บ่งบอกว่าสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องบริเวณช่องแคบไต้หวันยังคงอยู่

หลังจากนี้รัฐบาลปักกิ่งอาจส่งสัญญาณความไม่พอใจผ่านการซ้อมรบทางทหารครั้งใหญ่ เหมือนที่เคยทำครั้งที่แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเยือนไทเปในปี 2565

นอกจากนี้ จีนอาจเดินหน้าสร้างความกดดันทางเศรษฐกิจและการทูต ด้วยการจูงใจรัฐเล็ก ๆ ให้ออกห่างไต้หวัน และคว่ำบาตรบริษัท ผลิตภัณฑ์ และผู้คนจากไต้หวันมากขึ้น

ส่วนกลยุทธ์เผชิญหน้ากับภัยคุกคามกองทัพจีนของไล่ ยังคงดำเนินต่อไปตามที่ปธน.ไช่เคยทำ โดยไล่ให้คำมั่นว่าจะใช้จ่ายทางทหารมากขึ้น ดำเนินโครงการสร้างเรือดำน้ำในประเทศต่อไป และสานสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรปมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาปธน.ไช่ได้สร้างสัมพันธ์กับรัฐบาลวอชิงตันอย่างแน่นแฟ้นเป็นพิเศษ
 

‘สี จิ้นผิง’ ต้องเงียบให้เป็น

ผลโพลชี้ว่าการลงคะแนนเสียงสูสีมาก แต่พรรค DPP ชนะด้วยคะแนนที่มากกว่าที่คาดการ์ไว้มาก และไม่ว่าไล่จะเปิดไพ่ใดออกมา แต่รัฐบาลปักกิ่งไม่สามารถเพิกเฉยต่อชัยชนะของพรรค DPP ได้เลย

คนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนพรรค DPP เผยกับบีบีซีหลังผลการเลือกตั้งชัดเจนว่า “พวกเขากำลังบอกจีนว่า เราจะไม่ฟังคุณอีกต่อไป เราจะกำหนดอนาคตด้วยตนเอง ดังนั้น สี จิ้นผิงต้องเรียนรู้ที่จะเงียบบ้างในระหว่างการเลือกตั้งของเรา”

ถ้าพรรคก๊กมินตั๋งชนะ?

หากพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ชนะ อาจได้เห็นจีนเลิกสร้างวาทกรรมกับไต้หวัน และยกเลิกข่มขู่ทางทหาร แต่การพูดคุยระหว่างโหวและรัฐบาลปักกิ่งอาจเกิดขึ้นได้ยาก

ปธน.สี เคยพบกับอดีตปธน.หม่า อิงจิ่ว จากพรรคก๊กมินตั๋งในปี 2558 นั่นเป็นครั้งแรกที่ผู้นำในรัฐบาลไต้หวันและจีนได้พบกันแบบตัวต่อตัว นับตั้งแต่สงครามกลางเมือง 1949 แต่คนที่ไม่เห็นด้วยกับพรรค KMT โทษว่าพรรคยอมจำนนต่อจีนและไม่ปกป้องเกาะอย่างจริงจัง ด้วยการระงับใช้จ่ายด้านกลาโหม และปรับลดระยะเวลารับราชการทหารในไต้หวันเหลือเพียง 4 เดือน

ความน่ากังวลคือพรรค KMT อาจทำให้ไต้หวันอ่อนไหวง่ายขึ้น โดยพันธมิตรมหาอำนาจอย่างสหรัฐที่จัดส่งอาวุธให้ไต้หวัน อาจตั้งคำถามว่า ทำไมต้องให้ความร่วมมือปกป้องไต้หวัน ถ้าไต้หวันไม่ปกป้องตนเองอย่างจริงจัง

ปัจจุบัน ไต้หวันใช้จ่ายทางกลาโหมประมาณ 2.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งน้อยกว่าสหรัฐและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคมาก เช่น เกาหลีใต้ ที่เผชิญกับความท้าทายด้านความมั่นคงอย่างหนัก

ดังนั้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เลือกทางเลือกที่ชัดเจนแล้ว เพราะพวกเขากังวลความอันตรายจากรัฐบาลปักกิ่ง และต้องการให้เกิดการพูดคุย แต่พรรค KMT ไม่สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นใหม่ ที่มองว่าตนเองเป็นชาวไต้หวันมากกว่าชาวจีนมากขึ้นแล้ว

‘รัฐบาลไล่’ ไม่อาจราบรื่น

อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยทำให้เกิดความไม่พอใจต่อพรรค DPP อย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากราคาบ้านแพงขึ้น ค่าจ้างยังคงนิ่ง และโอกาสได้งานลดน้อยลง ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นใหม่เลิกสนับสนุนพรรค DPP และเป็นเหตุผลที่อาจทำให้ DPP เสียที่นั่งสำคัญในสภา 

ขณะที่พรรค KMT ร่วมกับพรรคอันดับที่ 3 อย่างพรรคประชาชนไต้หวัน มีแนวโน้มได้ครองที่นั่งที่มีอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ และมีโอกาสขัดขวางเป้าหมายของไล่ได้

บีบีซีสรุปว่า เส้นทางข้างหน้าของปธน.ไล่อาจไม่ราบรื่นนัก นอกเหนือจากรัฐบาลของเขาและเพื่อนบ้านจีนแผ่นดินใหญ่ รัฐบาลของไล่อาจได้รับผลกระทบจากการเลือกตั้งของประเทศอีกซีกโลกหนึ่ง ซึ่งไล่ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับพันธมิตรที่แตกต่างไปจากเดิมมาก ถ้า “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไป