วิกฤติทะเลแดง กระทบค่าระวางพุ่ง-ขนส่งล่าช้า-เงินเฟ้ออาจหวนกลับ

วิกฤติทะเลแดง กระทบค่าระวางพุ่ง-ขนส่งล่าช้า-เงินเฟ้ออาจหวนกลับ

หลังกบฏฮูตีในเยเมนโจมตีเรือพาณิชย์ในทะเลแดง ส่อเค้ากระทบเส้นทางขนส่งโลก ค่าระวางอาจทะยานสูงสุดที่ 200,000 บาท การจัดส่งสินค้าล่าช้า ต้นทุนสินค้าแพง ผู้เชี่ยวชาญเตือนภาวะเงินเฟ้ออาจกลับมา

เรือบรรทุกสินค้าต่างเปลี่ยนเส้นทางการค้ามูลค่ามากกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อหลีกเลี่ยงการโจมตีของกองกำลังฮูตีในเยเมน จากเส้นทางการค้าที่สำคัญของตะวันออกกลาง รวมถึงคลองสุเอซที่เชื่อมต่อทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและมหาสมทุรอินเดีย

ความขัดแย้งดังกล่าวเป็นอุปสรรคแนวหน้าของการค้าโลก เนื่องจากอัตราค่าระวางเพิ่มสูงขึ้นในทุกวัน ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แพงขึ้น ระยะเวลาการจัดส่งสินค้านานขึ้น และสินค้าในช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ผลิตอาจจัดส่งล่าช้า เพราะเดินทางถึงจีนช้าและต้องเดินทางยาวมากขึ้นเพราะใช้เส้นทางรอบแหลมกู๊ดโฮปของแอฟริกาใต้

แลร์รี ลินด์ซีย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ลินด์ซีย์ กรุ๊ปบริษัทที่ปรึกษาเศรษฐกิจระดับโลก เผยว่า แรงกดดันด้านห่วงโซ่อุปทานที่ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อชั่วคราวในปี 2565 อาจกลับมาอีก หากปัญหาในทะเลแดงและมหาสมุทรอินเดียยังคงดำเนินต่อไป ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารธนาคารอื่น ๆ อาจเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น แม้เฟดจ่อปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็ว ๆ นี้

หลายประเทศทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักรและชาติอื่น ๆ อีก 9 แห่ง ต่างออกมาเตือนถึงความรุนแรงต่อเรือพาณิชย์ โดยมีแถลงการณ์ร่วม ระบุว่า ฮูตีจะต้องรับผิดชอบต่อผลที่ตามมา หากยังคุกคามชีวิต เศรษฐกิจโลก และการไหลเวียนของการค้าเสรีในเส้นทางน้ำที่สำคัญของภูมิภาค

ตามที่ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมเดินเรือระบุ ช่วงนี้ความจุเรือขนส่งว่าง 20% เนื่องจากคำสั่งซื้อด้านการผลิตลดลงอย่างมาก และเรือบรรทุกสินค้าก็ลดเที่ยวเดินเรือ ขณะที่ความจุเรือที่มีจำกัดและระยะเวลาเดินทางที่นานขึ้น ทำให้อัตราการเติมเชื้อเพลิงสูงขึ้นไปด้วย

อัตราค่าขนส่งที่เดินทางจากเอเชียไปยังตอนเหนือของยุโรปแพงขึ้นมากกว่า 2 เท่าในสัปดาห์นี้ โดยมีมูลค่าสูงกว่า 4,000 ดอลลาร์ต่อตู้คอนเทนเนอร์ 40 ฟุต (ราว 140,000 บาท) ขณะที่ค่าขนส่งจากเอเชียไปยังแถบเมดิเตอร์เรเนียนทะานขึ้นไปที่ระดับ 5,175 ดอลลาร์ต่อตู้คอนเทนเนอร์ (ราว 180,000 บาท)

เรือบรรทุกบางแห่งประกาศขึ้นอัตราค่าขนส่งในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนสูงกว่า 6,000 ดอลลาร์ต่อคอนเทนเนอร์ 40 ฟุต (ราว 200,000 บาท) โดยจะเริ่มมีผลกลางเดือน ม.ค. นี้ และมีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมตั้งแต่ 500-2,700 ดอลลาร์ (17,000 - 93,000 บาท)

ด้านอลัน แบร์ ซีอีโอธุรกิจขนส่ง OL-USA กล่าวว่า ค่าขนส่งทางทะเลที่สูงขึ้นกะทันหัน อาจทำให้ห่วงโซ่อุปทานมีต้นทุนแพงขึ้น และกระทบต่อผู้บริโภคในช่วงไตรมาสแรกของปี

ขณะที่ค่าขนส่งจากเอเชียไปยังชายฝั่งตะวันออกของอเมริกาเหนือปรับตัวเพิ่มขึ้น 55% สู่ระดับ 3,900 ดอลลาร์ต่อคอนเทนเนอร์ 40 ฟุต ส่วนชายฝั่งตะวันตกทะยานขึ้น 63% ค่าขนส่งสูงขึ้นมากกว่า 2,700 ดอลลาร์ และเรือขนส่งหลายแห่งอาจเริ่มหลีกเลี่ยงเส้นทางชายฝั่งตะวันออก และหันไปใช้เส้นทางชายฝั่งตะวันตก ยิ่งไปกว่านั้น อัตราค่าขนส่งอาจแพงขึ้นอีกตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. เนื่องจากมีการประกาศขึ้นราคาหลายแห่งก่อนหน้านี้

ปีเตอร์ บุควาร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายลงทุนของบลีกลีย์ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป มองว่า ปัญหานี้คือเรื่องใหญ่ เพราะราคาสินค้าส่วนใหญ่ที่ลดลงช่วยบรรเทาความตึงเครียดด้านเงินเฟ้อได้

อ้างอิง: CNBC