เยอรมนีจัด ‘Climate Talks’ หนุนไทยสู่ ‘Net Zero’

เยอรมนีจัด ‘Climate Talks’ หนุนไทยสู่ ‘Net Zero’

ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เผยแพร่ในงานที่สถานทูตเยอรมนีจัดครั้งนี้ ระบุว่า โลกร้อนอาจกระทบภาคการเกษตรไทยเสียหายมูลค่า 0.6-2.8 ล้านล้านบาท ในช่วง 2564-2568 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ อาจได้รับผลกระทบอย่างหนักในอนาคต

สถานเอกอัคราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย จัดงาน Climate Talks เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา ภายในงานมีผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมหลายฝ่ายร่วมเสวนา เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการลดปล่อยมลพิษ และร่วมกันเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาโลกร้อนเพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ความยั่งยืน ตามที่ประเทศเยอรมนีให้ความสำคัญกับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศอย่างแข็งขัน

 “ดร.แอ็นสท์ ไรเชิล” เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในประเทศไทย สร้างความเสี่ยงต่อหลายอุตสาหกรรม ขณะที่อุณหภูมิสูงขึ้น สภาพอากาศที่รุนแรง และปริมาณน้ำฝนที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มต้นทุนการดำเนินงานสำหรับธุรกิจทุกประเภท

ขณะเดียวกันภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อทั้งสถานที่ท่องเที่ยว และเกษตรกรรม ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของไทย ความแปรปรวนของสภาพอากาศนี้ อาจนำไปสู่ฤดูเพาะปลูกที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ศัตรูพืชเพิ่มขึ้น และเกิดภาวะขาดแคลนน้ำ จนอาจกระทบความมั่นคงทางอาหารได้

จากวิสัยทัศน์ดังกล่าว งาน Climate Talks จึงเน้นให้ความสำคัญกับ 3 อุตสาหกรรมเด่น ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านการขับเคลื่อนความยั่งยืนเบื้องต้น ได้แก่ อุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนสีเขียว รถยนต์ไฟฟ้า และภาคการเกษตร

เอกอัครราชทูตเยอรมนี ย้ำว่า งานสัมมนาสภาพอากาศดังกล่าว จะช่วยสร้างความกระจ่างเกี่ยวกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อทุกภาคส่วนในสังคม และจะช่วยหาแนวทางที่เราทุกคนสามารถร่วมต่อสู้วิกฤติครั้งใหญ่ระดับโลกได้ รวมถึงยินดีอย่างยิ่งที่ไทยจะร่วมเป็นสมาชิก “Climate Club” ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มของเยอรมนี เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอุตสาหกรรมต่างๆ

ด้าน ดร. กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ผู้ร่วมกล่าวปาฐกถา เผยว่า สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร และผลผลิตทางเกษตรเท่านั้น แต่ความจริงแล้วกระทบไปถึงรายได้ของผู้คนร่วมด้วย

ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า โลกร้อนอาจกระทบภาคการเกษตรไทยเสียหายมูลค่า 0.6-2.8 ล้านล้านบาท ในช่วงปี 2564-2568 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก รวมถึงภาคใต้ อาจได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างหนักในอนาคต

เยอรมนีจัด ‘Climate Talks’ หนุนไทยสู่ ‘Net Zero’
 

ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเป็นหลัก ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน กรรณิการ์กล่าวว่า สถานที่ท่องเที่ยวไทยทั้งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และที่มนุษย์สร้างขึ้นต่างได้รับผลกระทบทั้งหมด เช่น กระทบโครงสร้างพื้นฐาน กระทบสุขาภิบาลน้ำ เป็นต้น

ในภาคอุตสาหกรรม โลกร้อนส่งผลให้ธุรกิจต้องฟื้นฟูสำนักงานหรือโรงงานหลังเกิดภัยพิบัติจากสภาพอากาศแปรปรวน ต้องทำประกันภัยเพิ่มขึ้น รวมถึงส่งผลให้วัตถุดิบในการผลิตลดลง นำไปสู่ปัญหาห่วงโซ่อุปทานได้

ยิ่งไปกว่านั้น สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงยังส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุที่สุขภาพอ่อนไหวง่ายกว่าคนในวัยอื่น และปัญหาขาดแคลนอาหารจากภาวะโลกร้อน ส่งผลต่อสุขภาพของผู้คนที่ยากจนมากขึ้น เช่น เข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดได้น้อย ทำให้สุขภาพย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ

แล้วประเทศไทยต้องร่วมกันลดผลกระทบดังกล่าวอย่างไร? ดร.กรรณิการ์แนะว่า การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นที่สิ่งที่สำคัญมาก 

จากผลการศึกษาของ IPCC ระบุว่า มนุษย์เหลือเวลาน้อยกว่า 10 ปี ในการช่วยให้อุณหภูมิโลกไม่เพิ่มสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ดังนั้น ทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย ต้องร่วมกันดำเนินการเพื่อความยั่งยืนอย่างเร่งด่วน

ภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในประเทศไทยคือ ภาคการผลิตพลังงานและการขนส่ง รองลงมาเป็นภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ดังนั้น การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2065 ภาคส่วนเหล่านี้ต้องร่วมมือกันเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน

สิ่งที่จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้นั้น กรรณิการ์แนะว่า ควรส่งเสริมการใช้พลังงานยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอน จัดการขยะมูลฝอยและน้ำเสีย พัฒนาการให้อาหารสัตว์ เพื่อลดการปล่อยมลพิษจากภาคเกษตร และผลิตสินค้าคาร์บอนต่ำ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี หลายภาคส่วนในไทยก็เริ่มดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกบ้างแล้ว ตัวอย่างเช่น ภาคอุตสาหกรรมบางแห่งใช้พลังงานสะอาดในการดำเนินธุรกิจ ผลิตสินค้าคาร์บอนต่ำ ขณะที่บริษัทปศุสัตว์รายใหญ่ พัฒนาคุณภาพอาหารสัตว์ และใช้ก๊าซชีวภาพจากการทำฟาร์มผลิตไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม การดำเนินข้างต้นยังมีอุปสรรคสำคัญหลายประการ เช่น การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลยังไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง จึงเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด ขณะที่นโยบายควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ต่อเนื่อง กฎหมายเพื่อพลังงานสะอาดยังไม่ได้รับการสนับสนุนมากพอก็เป็นอุปสรรคต่อการใช้พลังงานสีเขียว ส่วนการขาดเงินลงทุนด้านความยั่งยืน และเทคโนโลยีสีเขียวมีต้นทุนสูง เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

ประเทศไทยจะมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้นั้น กรรณิการ์ ย้ำว่า รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมสู่ความยั่งยืน พร้อมแนะแนวทางที่รัฐบาลควรให้การสนับสนุน อาทิ ให้เงินอุดหนุนธุรกิจที่ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก จัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นให้เพียงพอ เช่น สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และการรับรองคาร์บอนเครดิต