เปิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจาก ‘เอไอ’ เมื่อเทคโนโลยีใหม่ใช้ ‘น้ำ’ มหาศาล

เปิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจาก ‘เอไอ’ เมื่อเทคโนโลยีใหม่ใช้ ‘น้ำ’ มหาศาล

ผลสำรวจพบข้อมูลที่น่าสนใจว่าเอไอ “ChatGPT" มีการใช้น้ำ 500 มิลลิลิตร (ประมาณน้ำดื่มขวดเล็ก 500 มล.) ต่อทุกๆ 10 - 50 พรอมต์คำสั่ง”

กระแสการตื่นตัวรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์รุ่นใหม่ หรือ Generative AI (เจนเอไอ) กำลังเพิ่มความสงสัยของสาธารณชนมากขึ้นต่อประเด็นสิ่งแวดล้อมที่หลายคนอาจมองข้ามอย่าง “วอเตอร์ฟุตพรินต์” (Water footprint) ว่าภาคเทคโนโลยีมีการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นจากความไฮป์ของเอไออย่างไร

วอเตอร์ฟุตพรินต์ คือตัวชี้วัดปริมาณการใช้น้ำทั้งทางตรงและทางอ้อม ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนกระทั่งสินค้าถึงมือผู้บริโภค ยิ่งค่าวอเตอร์ฟุตพรินต์น้อยยิ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะหมายถึงการใช้น้ำน้อยและมีการปล่อยน้ำเสียในปริมาณที่น้อยกว่า โดยในเชิงสิ่งแวดล้อมนั้นปริมาณวอเตอร์ฟุตพรินต์ก็เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจไม่แพ้เรื่องคาร์บอน ฟุตพรินต์แต่อย่างใด

บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ เช่น ไมโครซอฟท์และกูเกิล เพิ่งเปิดเผยรายงานเมื่อไม่นานมานี้ว่าการใช้น้ำของบริษัทกำลังมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นมาก ขณะที่บรรดานักวิจัยต่างระบุตรงกันว่า หนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้ภาคเทคโนโลยีกำลังแย่งกันใช้น้ำในขณะนี้ มาจากการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีเจนเอไอ
 

เชาลีย์ เรน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์เดล ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาเรื่องความเกี่ยวข้องระหว่างการพัฒนาโมเดลเจนเอไอกับการใช้ทรัพยากรน้ำ เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการศึกษาเจนเอไอของหลายบริษัทซึ่งรวมถึงเอไอเจ้าดังอย่าง ChatGPT ของบริษัท “โอเพ่นเอไอ”

ผลสำรวจพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า “ChatGPT" มีการใช้น้ำ 500 มิลลิลิตร ต่อทุกๆ 10 - 50 พรอมต์คำสั่ง” (ประมาณน้ำดื่มขวดเล็ก 500 มล.) โดยปริมาณการใช้น้ำยังขึ้นอยู่กับว่าใช้โมเดลเอไอที่ไหนและเมื่อไรอีกด้วย และเป็นที่คาดว่าแชตบอตรุ่นใหม่ที่ทรงประสิทธิภาพกว่าอย่าง GPT-4 จะยิ่งใช้น้ำเพิ่มขึ้นอีก

นักวิจัยเตือนว่าหากวอเตอร์ฟุตพรินต์ที่เกี่ยวกับการพัฒนาเจนเอไอยังสูงขึ้นต่อไปโดยไม่ได้รับการแก้ไข สถานการณ์นี้อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้สังคมตั้งคำถามเรื่องการใช้งานเอไออย่างยั่งยืนในอนาคต

“โดยทั่วไปแล้ว สาธารณชนมีการรับรู้และตระหนักในประเด็นเรื่องทรัพยากรน้ำกันมากขึ้นแล้ว และยิ่งหากพวกเขาได้รู้ว่ากลุ่มบิ๊กเทคกำลังบริโภคน้ำอย่างมหาศาลและทำให้พวกเขามีน้ำกินน้ำใช้ไม่เพียงพอ คงไม่มีใครชอบแน่”

“ผมคิดว่าเรากำลังจะได้เห็นการกระทบกระทั่งกันมากขึ้นอีกในเรื่องการใช้น้ำภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ บรรดาบริษัทเทคโนโลยีจึงควรระวังเรื่องความเสี่ยงตรงนี้ไว้ด้วย” เรนกล่าวกับซีเอ็นบีซี

อย่างไรก็ตาม บริษัทโอเพ่นเอไอซึ่งเป็นผู้พัฒนา ChatGPT ยังไม่ได้ให้ความเห็นใดต่อรายงานดังกล่าวแต่อย่างใด

ต้นทุนที่มองไม่เห็น

“ดาต้าเซ็นเตอร์” ถือเป็นหัวใจสำคัญของบิ๊กเทคในปัจจุบัน และยังถือเป็นภาคส่วนที่มีการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมหาศาลในการหล่อเย็นระบบและให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น โดยเฉพาะในยุคของเอไอทุกวันนี้ที่มีการใช้งานดาต้าอย่างมหาศาลทั่วโลก

ในรายงานความยั่งยืนปีล่าสุดของ “เมตา” เป็นตัวอย่างสำคัญที่บ่งชี้ว่าดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่หลายแห่งของบริษัทไม่เพียงแต่มีการใช้น้ำในปริมาณมากแล้ว แต่การใช้พลังงานในระดับสูงและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็อยู่ในระดับที่น่าจับตาเช่นกัน

ส่วนในรายงานความยั่งยืนปีล่าสุดของบริษัท “ไมโครซอฟท์” พบว่า ปริมาณการใช้น้ำทั่วโลกของบริษัทในปี 2022 เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ใน 3 เมื่อเทียบปีก่อนหน้า พุ่งขึ้นไปอยู่ที่เกือบ 1.7 พันล้านแกลลอน (ราว 6.435 พันล้านลิตร) หรือเท่ากับว่าปริมาณการใช้น้ำต่อปีของไมโครซอฟท์นั้นสามารถเติมเต็มสระน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิกได้มากกว่า 2,500 แห่งเลยทีเดียว

ขณะที่ตัวเลขการใช้น้ำของ “กูเกิล” สูงกว่านั้นหลายเท่าอยู่ที่ 5.6 พันล้านแกลลอน (ราว 2.12 หมื่นล้านลิตร) หรือเพิ่มขึ้นมาจากปี 2021 มากถึง 21%

ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประท้วงด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมากได้รวมตัวกันที่กรุงมอนเตวิเดโอ ประเทศอุรุกวัย เพื่อประท้วงแผนการลงทุนสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ของบริษัทกูเกิล เนื่องจากพบว่าจะมีการใช้ทรัพยากรน้ำจำนวนมหาศาล แต่อุรุกวัยเองกำลังอยู่ในภาวะแห้งแล้งอย่างหนักจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และทำให้ประเทศเผชิญภัยแล้งครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 74 ปี

ทางกูเกิลได้ชี้แจงในขณะนั้นว่า โครงการดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างเท่านั้น และย้ำว่า “ความยั่งยืน” ยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินงานของบริษัท

ทั้งกูเกิลและไมโครซอฟท์ต่างก็ตระหนักดีถึงเรื่องนี้โดยมีการยืนยันว่ากำลังดำเนินการเพื่อลดวอเตอร์ฟุตพรินต์ พร้อมทั้งประกาศเป้าหมาย “น้ำสุทธิเป็นบวก” (water positive) ซึ่งหมายถึงการคืนน้ำสะอาดกลับสู่ชุมชนให้ได้มากกว่าปริมาณน้ำที่ใช้ไป ภายในปี 2030 โดยที่กูเกิลนั้นยังมีเป้าหมายจะดำเนินการดาต้าเซ็นเตอร์ให้ใช้พลังงานแบบปลอดคาร์บอนภายในปีเดียวกันด้วย

อย่างไรก็ตาม ยุคสมัยของการแข่งขันด้านเจนเอไอทั้ง Bing ของไมโครซอฟท์ และ Bard ของกูเกิล เพื่อไล่ตามและโค่น ChatGPT จากค่ายโอเพ่นเอไอหมายความว่า แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่บิ๊กเทคจะใช้น้ำในปริมาณลดลง ตรงกันข้ามกลับจะเพิ่มปริมาณการใช้ขึ้นอีกในเร็วๆ นี้

“ยิ่งเป็นเรื่องน้ำ ยิ่งมีการใช้เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณเพื่อระบายความร้อนให้กับระบบต่างๆ ที่จำเป็น เช่น เซิร์ฟเวอร์ ขณะที่โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ในเจนเอไอก็ยังใช้ดาต้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย” โซเมีย โจชี หัวหน้าฝ่ายระบบ สภาพอากาศ และวาระโลกของสถาบันสิ่งแวดล้อมสต็อกโฮล์ม กล่าวระหว่างการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 (COP28) ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์

.