เปิดงานพัฒนาสังคม ‘เอ็นจีโอ’คนดังแห่งเกาหลีใต้

เปิดงานพัฒนาสังคม ‘เอ็นจีโอ’คนดังแห่งเกาหลีใต้

รู้จักอาจารย์ลี ฮโย ชอน ประธานมูลนิธิ ‘One Life Foundation’ ประเทศเกาหลีใต้ ที่มาบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับงานพัฒนาสังคม ทั้งงานช่วยเหลือแม่เลี้ยงเดี่ยว และงานติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ห่างไกลในประเทศไทย ที่ดำเนินมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 8

งานพัฒนาและช่วยเหลือสังคมเป็นงานที่ต้องเสียสละ มีความอดทนสูงและมีจิตใจที่มุ่งมั่น โดยเฉพาะงานช่วยเหลือแม่เลี้ยงเดี่ยวที่กำลังเป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆในสังคมเกาหลีใต้ และการทำโครงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญในต่างประเทศของอาจารย์ลี ฮโย ชอน ประธานมูลนิธิ ‘One Life Foundation’ ที่มาบอกเล่าเพื่อช่วยให้เข้าใจว่า การทำงานลักษณะนี้เป็นอย่างไร 

อาจารย์ลี วัย 37 ปี ผู้สวมหมวกสองใบคือเป็นทั้งประธานมูลนิธิ ‘One Life Foundation’ หน่วยงานเอ็นจีโอ ประเทศเกาหลีใต้และมิชชันนารี เล่าว่า "ก่อตั้งมูลนิธิฯมาตั้งแต่ปี 2008 ถึงปีนี้ก็เป็นปีที่ 15 แล้ว ภาระกิจหลักของมูลนิธิฯคือให้ความช่วยเหลือซิงเกิ้ล มัม หรือแม่เลี้ยงเดี่ยวในเกาหลีใต้ ที่เลี้ยงดูบุตรคนเดียวท่ามกลางแรงกดดันจากสังคมรอบข้าง  โดยเฉพาะแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เป็นเยาวชนและผู้อพยพ ตอนนี้มูลนิธิฯดูแลแม่เลี้ยงเดี่ยว 50 คน  ผู้อพยพ 20 ครอบครัว ผู้สูงวัยที่อยู่คนเดียวอีกประมาณ 10 ครอบครัว"

อาจารย์ลี บอกด้วยว่า มีแนวโน้มที่ในอนาคตอันใกล้จะมีแม่เลี้ยงเดี่ยววัยรุ่น และผู้อพยพเข้ามารับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น โดยตอนนี้ผู้อพยพและแม่เลี้ยงเดี่ยววัยรุ่นที่มูลนิธิฯดูแลส่วนใหญ่เป็นชาวแอฟริกัน ชาวฟิลิปปินส์ และชาวไทย ที่ลักลอบเข้ามาหางานทำในเกาหลีใต้ (ผีน้อย)

ในส่วนของเงินสนับสนุนมูลนิธิฯ อาจารย์ลีบอกว่า มาจากจากบริษัทเกาหลีใต้ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมทั้งการสนับสนุนจากประชาชนทั่วไป 

เมื่อถามว่า ปัญหาแม่เลี้ยงเดี่ยวในสังคมเกาหลีใต้และในไทยต่างกันอย่างไร อาจารย์ลี บอกว่า “แม่เลี้ยงเดี่ยวในเกาหลีใต้ถูกกดดันมากกว่า ่เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ ต่างจากในไทย ที่สังคมเปิดกว้างมากกว่า ฐานะของผู้หญิงในไทยเกือบเทียบเท่า หรือเทียบเท่ากับผู้ชาย แม่เลี้ยงเดี่ยวในไทยจึงมีที่ยืนในสังคมมากกว่า”

แต่อาจารย์ลี ก็ยอมรับว่า แม่เลี้ยงเดี่ยวในเกาหลีใต้มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ทุกวันนี้ เด็กสาวชาวเกาหลีใต้อายุ 12-13 ปีก็มีบุตรแล้ว ยิ่งทำให้เป็นปัญหาสังคมมากขึ้น ทั้งยังทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกายแก่แม่เลี้ยงเดี่ยวมากขึ้นด้วย

ต่อข้อซักถามที่ว่า รัฐบาลเกาหลีใต้มีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาแม่เลี้ยงเดี่ยวมากน้อยแค่ไหน ประธานมูลนิธิ "One Life Foundation" บอกว่า “รัฐบาลเกาหลีใต้ให้การสนับสนุนบ้าง แต่ไม่ได้ยาวนาน ,ช่วยแบบลงลึก หรือดำเนินชีวิตไปพร้อมกับกลุ่มเปราะบางที่เป็นเป้าหมายเหมือนที่มูลนิธิฯทำ"

อย่างไรก็ตาม งานช่วยเหลือและพัฒนาสังคมของมูลนิธิฯ ไม่ได้มีแค่ที่กล่าวมาข้างต้น  ยังมีโครงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญทั้งในกัมพูชาและในไทย โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น ทีมงานที่ประกอบด้วยจิตอาสาที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยววัยรุ่น และผู้อพยพได้เข้ามาทำโครงการโดยประสานงานกับมูลนิธิร่มพระพร ในประเทศไทย

อาจารย์ลี เล่าว่า "โครงการนี้ เริ่มต้นจากการเดินทางมาท่องเที่ยว เหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไปก่อน เพื่อทำความรู้จักสถานที่และผู้คนในพื้นที่ จากนั้นก็เดินทางมาทำงานในฐานะจิตอาสาโดยเสียเงินค่าเดินทางเอง ซึ่งโครงการนี้ดำเนินมาเป็นปีที่ 8 แล้ว" 

อาจารย์ลี ยอมรับว่า โครงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ของมูลนิธิฯ ประสบปัญหาบ้าง เช่นเกิดความเสียหายกับแผงโซลาร์เซลล์ที่มูลนิธิฯติดตั้งให้ อาจารย์ลีและมูลนิธิฯจะส่งเงินมาให้คนในพื้นที่ซื้ออุปกรณ์เพื่อซ่อมแซมให้แผงโซลาร์เซลล์ใช้งานได้ตามปกติ

แต่ส่วนใหญ่ โครงการประสบความสำเร็จด้วยดี ได้รับการตอบรับทั้งจากคนในพื้นที่ สปอนเซอร์ ซึ่งก็คือบริษัทเกาหลีใต้ที่ให้การสนับสนุน ส่วนจิตอาสาที่มีส่วนร่วม ทั้งแม่เลี้ยงเดี่ยววัยรุ่นและผู้อพยพ ต่างก็ภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสช่วยเหลือและพัฒนาสังคมร่วมกันแม้จะเป็นสังคมเล็กๆในต่างประเทศ

"โครงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ครั้งแรกเริ่มที่ประเทศกัมพูชา ก่อนจะขยายมาที่จังหวัดเชียงราย ในพื้นที่บนดอยสูง ซึ่งหลังจากติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แล้ว อัตราการเกิดปัญหาอาชญากรรม การทำร้ายร่างกายคนในพื้นที่ก็ลดลง"อาจารย์ลี กล่าว 

อาจารย์ลี ขยายความเพิ่มเติมว่า โครงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้รับแรงบันดาลใจจากมิชชันนารีชาวอเมริกันคนหนึ่งในสหรัฐที่ทำโครงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในถิ่นที่อยู่ของแกงค์มาเฟีย ซึ่งเมื่อติดตั้งแล้ว ปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่ลดลง การดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมมีความปลอดภัยมากขึ้น

ก่อนจบการสนทนาและลาจากกัน อาจารย์ลี กล่าวทิ้งท้ายไว้น่าคิดในฐานะคริสเตียนเกี่ยวกับอนาคตของโครงการพัฒนาสังคมที่ทำอยู่ว่า “สมัยทำงานนี้ระยะแรกๆ ผมก็มีความฝันอยากทำโครงการมากมาย อยากให้แต่ละโครงการประสบความสำเร็จ นำพาชื่อเสียงมาให้ผม จนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีก่อน  ผมมีปัญหาเส้นเลือดสมองตีบขั้นรุนแรงและเกือบตาย แต่ผมก็รอดมาได้  ผมจีงปรับเป้าหมายในการทำงานและการดำเนินชีวิตใหม่ ให้พระเจ้าทรงนำ  โดยผมทำงานวันต่อวันให้ดีที่สุด สุดกำลังความสามารถ ไม่ต้องวางแผนยาวไกลและใหญ่โตอะไร”