หนุ่มสาวจีน ผุดเทรนด์ 'เศรษฐกิจ B1B2' กิน - ช้อปของถูก เอาชีวิตรอดในยุคเศรษฐกิจซบ

หนุ่มสาวจีน ผุดเทรนด์ 'เศรษฐกิจ B1B2' กิน - ช้อปของถูก เอาชีวิตรอดในยุคเศรษฐกิจซบ

เมื่อจีนเจอปัญหารุมเร้า ทั้งวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ ผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลง หนุ่มสาวชาวจีนจึงเน้นกิน และช้อปของถูกในชั้นใต้ดินของห้าง จนเกิดเป็นเทรนด์ “เศรษฐกิจB1B2” เพื่อเอาชีวิตรอดในยุคเศรษฐกิจซบเซา

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี เปิดเผยว่า คนหนุ่มสาวชาวจีน หันไปชอปปิงสินค้า และรับประทานอาหารชั้นใต้ดินของห้างสรรพสินค้ามากขึ้น ซึ่งเป็นเทรนด์ที่โซเชียลมีเดียเรียกว่า “เศรษฐกิจB1B2 และเกิดแฮชแท็ก #Young people only go shopping at B1B2 หรือหมายถึง คนหนุ่มสาวจะไปกิน-ช้อปแค่ชั้น B1,B2 จนกลายเป็นเทรนด์ในเว่ยป๋อเมื่อไม่นานมานี้

ชั้นใต้ดิน หรือชั้น B1,B2 ในห้างสรรพสินค้า มักมีร้านของขวัญ และของฝากราคาต่ำ มีร้านเสื้อผ้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูกอย่าง มินิโซ และ Luckin Coffee

"ชอน ไรน์" กรรมการผู้จัดการไชนา มาเก็ต รีเสิร์ช กรุ๊ป บอกว่า เจ้าของที่ พยายามดันผู้เช่าหลักๆ อย่างหลุยส์ วิตตอง แอปเปิ้ล และสตาร์บัคส์ ให้อยู่ในพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ราคาแพงในชั้นกราวด์ หรือชั้น 1 เพราะร้านไฮเอนด์จะได้รับการความสนใจจากลูกค้ามากขึ้นหากอยู่ในชั้นแรกๆ แต่เศรษฐกิจที่ซบเซาของจีนทำให้แบรนด์ราคาถูกกลับเต็มไปด้วยลูกค้ามากกว่าร้านเหล่านั้น

มิน หลี่ หญิงสาวชาวจีนวัย 26 ปี บอกว่าเธอไม่ค่อยไปห้างสรรพสินค้าบ่อยนัก แต่เวลาเธอไปห้าง หลี่มักตรงไปที่ชั้นใต้ดิน เดินผ่านร้านแบรนด์เนมชั้นหนึ่งอย่างกุชชี่, ชาแนล, หลุยส์ วิตตอง และแบรนด์อื่นๆ ไปอย่างเร่งรีบ

“ของชั้นหนึ่งแพงเกินไป” หลี่ วัย 26 ปี กล่าว

หนุ่มสาวจีน ผุดเทรนด์ \'เศรษฐกิจ B1B2\' กิน - ช้อปของถูก เอาชีวิตรอดในยุคเศรษฐกิจซบ

"ผศ.เจีย เหมียว" สาขาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยนิวยอร์กเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า

"คนหนุ่มสาวชาวจีนจำนวนมากประสบปัญหาการหางานที่มั่นคง หรือการได้รับรายได้ที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนการดำรงชีวิตของตนเอง จึงผลักดันให้พวกเขาต้องประหยัดเงินไปโดยปริยาย"

ในเดือนมิ.ย. ผลสำรวจพบว่า เงินเดือนเฉลี่ยของคนที่จบปริญญาตรีอยู่ที่ 5,990 หยวน หรือราว 29,600 บาท ในปี 2565

ขณะที่ผลสำรวจ จัดทำโดย MyCOS Research ระบุว่า มีคนจบปริญญาตรีเพียง 6.9% เท่านั้น ที่มีเงินเดือนเริ่มต้นมากกว่า 10,000 หยวนต่อเดือน หรือมากกว่า 50,000 บาทต่อเดือน

“ชุง ชี เหนียน” ศาสตราจารย์เกียรติยศ จากมหาวิทยาลัย Hong Kong Polytechnic University บอกว่า

“แต่ก่อน เวลาคนหนุ่มสาวจะซื้อสินค้าหรูสักอย่าง เขาใช้เงินเดือนทั้ง 6 เดือนจ่าย แต่ตอนนี้ แม้พวกเขาอยากใช้เงินทั้ง 6 เดือนของตนเองมากแค่ไหน ก็ไม่สามารถซื้อในสิ่งที่ตนเองต้องการได้อยู่ดี”

รายงานของแมคคินซีย์ ระบุว่า การเติบโตของการใช้จ่ายผู้บริโภคชาวจีน คาดว่าจะชะลอตัวต่อไป และยอดขายสินค้าปลีกยังคงซบเซาตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19

หนุ่มสาวจีน ผุดเทรนด์ \'เศรษฐกิจ B1B2\' กิน - ช้อปของถูก เอาชีวิตรอดในยุคเศรษฐกิจซบ

ขณะที่แพลตฟอร์มชอปปิงออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่าง "อาลีบาบาและเจดีดอทคอม" ปฏิเสธเผยแพร่ยอดตัวเลขการซื้อขายสินค้าใน "วันคนโสด" มหกรรมชอปปิงสุดยิ่งใหญ่ของจีนเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน

เหมียว กล่าวว่า คนจีนจำนวนมากเลือกเป็นโสด หมายความว่า คนจำนวนมากออกไปกินข้าวคนเดียวมากขึ้น และผู้คนเหล่านั้นมักไม่เลือกรับประทานอาหารในร้านอาหาร fine dining ชั้น 6-7 ในห้างสรรพสินค้า

“ผู้คนรู้สึกว่าอนาคตไม่แน่นอน คนหนุ่มสาวต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันมาหลายปีแล้ว” เหมียวกล่าว

ขณะที่มิน บอกว่า เธอและเพื่อนๆ มักไปเดินแถวชั้น 3 และชั้น 4 ของห้าง ซึ่งเป็นชั้นที่มีร้านแบรนด์เสื้อผ้าราคาไม่แพงมาก พวกเขาจะลองชุด และแขวนไว้ที่เดิม แล้วไปช้อปเสื้อผ้าออนไลน์ที่ถูกกว่าแทน

“ฉันคิดว่าอนาคตดูไม่ค่อยมีหวัง แต่เรายังคงทำงานหนักเพื่อให้ได้สิ่งที่เราต้องการ คนรุ่นเราส่วนใหญ่ในจีน เอาจริงๆ ก็ทุกคน รู้สึกได้รับความกดดันจากทั้งเศรษฐกิจ โควิด และประชากรสูงอายุที่มีจำนวนมาก” มิน กล่าว

อ้างอิง: CNBC

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์