ท่องเยาวราชเปิด‘ประวัติศาสตร์จีนโพ้นทะเล’

ท่องเยาวราชเปิด‘ประวัติศาสตร์จีนโพ้นทะเล’

คนไทยส่วนใหญ่ต่อให้ไม่ได้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ย่อมรู้จักชื่อ “เยาวราช” ในฐานะย่านชุมชนคนไทยเชื้อสายจีน ภาษาอังกฤษเรียกว่าไชนาทาวน์ เหมือนกับในหลายๆ ที่ของโลก แต่ถ้าถามถึงประวัติศาสตร์และความสำคัญของชุมชนแห่งนี้น้อยคนจะตอบได้ แม้เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิดก็ตามที

สัปดาห์นี้ World Pulse โชคดีมีโอกาสไปทัศนศึกษาเยาวราชกับนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรุ่นลูกในวิชา “ประวัติศาสตร์จีนโพ้นทะเล” ของ รศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ จากคณะอักษรศาสตร์ การได้ชมสถานที่สำคัญของกรุงเทพฯ ประกอบกับการพูดคุยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ทั้งกระแสหลักและนอกกระแสแม้ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงก็ช่วยเปิดโลกทัศน์ได้มาก เห็นควรนำมาเล่าสู่กันฟัง  เริ่มต้นที่ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช พิพิธภัณฑ์จีนโพ้นทะเลที่วัดไตรมิตร บอกเล่าเรื่องราวการอพยพของคนจีนมาสู่แดนสยามในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่เข้ามาอยู่ในย่านสำเพ็งก่อนขยายมายังเยาวราช

สมัยรัชกาลที่ 1-3 เศรษฐกิจสยามอิงกับจีนเป็นหลัก มีการค้าสำเภาระหว่างกันเฟื่องฟูมากในสมัยรัชกาลที่ 3 ช่วงนี้อังกฤษส่งเฮนรี เบอร์นี มาติดต่อขอทำการค้าเสรีกับสยามแต่เรายังไม่สนใจในตอนนั้นเพราะค้าขายกับจีนได้ดีอยู่แล้ว ข้อได้เปรียบของสยามคือเราได้รับโควต้าซื้อสินค้าจากจีน เช่น ชา ผ้าไหม เครื่องถ้วยชาม ฯลฯ มากกว่าคนอื่นๆ ประเทศที่อยากได้สินค้าจีนเพิ่มเติมก็ต้องมาซื้อต่อจากสยาม ส่วนสินค้าส่งออกของสยามไปขายในเมืองจีน เช่น ครั่ง เร่ว พริกไทย ไม้ฝาง รังนก เป็นต้น ถึงจุดนี้เห็นความแตกต่างชัดเจน สินค้าสยามได้จากธรรมชาติโดยตรง สินค้าจีนมีการใส่เทคโนโลยีเข้าไป 

มุมหนึ่งของศูนย์ประวัติศาสตร์จัดสถานที่เหมือนกับภายในเรือสำเภาที่ชาวจีนใช้โดยสารมา กว่าจะถึงปลายทางบางครั้งต้องฝ่าคลื่นลมจนแทบเอาชีวิตไม่รอด ผู้คนบนเรือต้องบนบานศาลกล่าวเจ้าแม่ทับทิมว่าหากรอดชีวิตไปได้ถึงปลายทางจะสร้างศาลให้ประทับ ด้วยเหตุนี้ชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลจึงมักมีศาลเจ้าแม่ทับทิม (ที่สะพานเหลืองยังเป็นเรื่องเป็นราวกันอยู่) รายละเอียดเรื่องศาลเจ้าแม่มีมากยังไม่ขอพูดถึง แต่เรื่องชาวจีนอพยพ  เยาวราชก็เป็นส่วนหนึ่งในบริบทโลก กล่าวคือ   ช่วงทศวรรษ 1830-1840 มหาอำนาจยุโรปห้ามการค้าทาสแล้ว แต่อีกครึ่งโลกกำลังปรับประเทศให้ทันสมัย เมื่อค้าทาสไม่ได้อังกฤษก็หันมาค้ากุลีจีนผ่านเมืองท่าสนธิสัญญา เช่น เซียะเหมิน ซัวเถา ส่งกุลีจีนมาจากที่นั่น

ในสมัยรัชกาลที่ 4-5 เริ่มมีคลื่นคนจีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากรัชกาลที่ 5 ทรงมีเมกะโปรเจคสร้างทางรถไฟ ซึ่งเป็นงานยากลำบาก ต้องตัดเส้นทางเข้าไปในป่าลึก แรงงานเสียชีวิตจากไข้ป่าได้ง่ายมาก รัชสมัยนี้เลิกการเกณฑ์แรงงานไพร่แล้วสยามจำต้องซื้อแรงงานกุลีจากอังกฤษ เมื่อเวลาผ่านไปคนจีนเหล่านี้จากที่เคยเป็นแรงงานกุลีก็ขยับขึ้นมาค้าขาย ขณะที่คนไทยชอบทำเกษตร สินค้าสำคัญของไทยไม่ว่าจะเป็นข้าว ไม้ น้ำตาล ดีบุก อยู่ในมือพ่อค้าชาวจีนทั้งหมด ซึ่งการค้าข้าวนี่เองเป็นพื้นฐานความมั่งคั่งของบรรดาเจ้าสัวในเมืองไทย  ท่องเยาวราชเปิด‘ประวัติศาสตร์จีนโพ้นทะเล’

อย่างที่กล่าวแล้วว่า เดิมทีชาวจีนในกรุงเทพฯ อาศัยอยู่ในย่านสำเพ็ง จนกระทั่งมีการตัดถนนเยาวราชเพื่อเฉลิมฉลองการสถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศเป็นมกุฎราชกุมารพระองค์แรก ถนนสายใหม่ถือเป็นย่านแห่งความเจริญรุ่งเรือง   ความเป็นที่สุดของเมืองไทยตั้งอยู่ในย่านนี้ เช่น ตึกเก้าชั้นสูงที่สุดในประเทศ ลิฟต์ตัวแรกของไทยอยู่ในตึกนี้ ก่อนหน้าจะมีตึกเก้าชั้นเยาวราชเคยมีตึกเจ็ดชั้นสูงที่สุดมาก่อน เป็นที่ตั้งของสถานบันเทิงมีโชว์วาบหวิว จึงเป็นที่มาของคำว่า “สวรรค์ชั้นเจ็ด” 

ในมิติของความบันเทิงและเศรษฐกิจ เยาวราชเป็นสถานที่แห่งความย้อนแย้งเช่นกัน วัดคณิกาผลก็อยู่ในย่านนี้ ประวัติความเป็นมาเป็นที่รู้จักกันดี ยายแฟง มามาซังคนดังแห่งยุค แม้มีอาชีพค้าโลกีย์แต่มีจิตใจเลื่อมใสในพุทธศาสนา  เธอรวบรวมเงินจากเหล่านางคณิกาในสำนักนำมาสร้างวัดสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 คนใกล้ชิดเรียกว่า “วัดใหม่ยายแฟง” ต่อมาได้รับพระราชทานนามจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นวัดคณิกาผลตั้งอยู่ตรงข้ามสถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย

โรงพักพับพลาไชยก็มีตำนานเหมือนกัน เดิมทีสถานที่ตรงนี้เป็นคฤหาสน์ของยี่กอฮง ผู้มีชีวิตพลิกผัน เขาเกิดที่เมืองฉางโจว ประเทศจีน แต่พ่อเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็กมาก แม่แต่งงานใหม่แต่ถูกผู้คนรังเกียจขับไล่ออกจากหมู่บ้าน ยี่กอฮงเลยต้องออกมาแสวงโชคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปักหลักที่สยาม ทำการค้าทั้งในระบบและนอกระบบจนร่ำรวย ที่รวยหนักคือประมูลโรงหวยกอขอได้ ทำให้มั่งคั่งถึงขนาดสร้างคฤหาสน์บริเวณชานเยาวราชและเปิดบ่อนการพนัน 

ช่วงปลายรัชกาลที่ 5-ต้นรัชกาลที่ 6 ยี่กอฮงร่ำรวยที่สุดในเยาวราช เป็นนายทุนใหญ่สุดของสมาคมสาธารณประโยชน์ “ป่อเต็กตึ๊ง”  ต่อมารัชกาลที่ 6 ทรงยกเลิกหวย ยี่กอฮงผู้ใช้ชีวิตอู้ฟู่กลายเป็นมีหนี้สินล้นพ้นตัวสุดท้ายมีหนี้ราวหมื่นกว่าบาท แต่รัชกาลที่ 6 ทรงอนุญาตให้อาศัยอยู่ในคฤหาสน์หลังเดิมได้จนกระทั่งสิ้นชีวิต ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐยึดที่ดินผืนนี้ไปทำ สน.พับพลาไชย แต่ก็มีเรื่องเฮี้ยนๆ เกิดขึ้นจนได้ เมื่อยี่กอฮงเป็นคนขี้ร้อน ดึกๆ ดื่นๆ ตำรวจใน สน.มักได้ยินเสียงคนตักน้ำอาบโครมๆ อยู่บ่อยๆ ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากยี่กอฮงเจ้าของคฤหาสน์ดั้งเดิม ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการสร้างศาลให้ประทับบนดาดฟ้าโรงพัก เปิดให้ประชาชนเข้าไปไหว้ได้อย่างสะดวกง่ายดาย สมกับที่เป็นโรงพักเพื่อประชาชน  ท่องเยาวราชเปิด‘ประวัติศาสตร์จีนโพ้นทะเล’

นี่คือความย้อนแย้งของเยาวราช เมื่อเจ้าสำนักนางโลมสร้างวัด เมื่อโรงพักตั้งอยู่ในที่ที่เคยเป็นบ่อน ย้อนแย้งจนกลายเป็นความนิยมของสายมู ทั้งศาลยายแฟงหรือย่าแฟงและศาลเจ้ายี่กอฮงกลายเป็นสถานที่ยอดฮิตที่คนนิยมมากราบไหว้ขอพร รายแรกขอได้ทุกอย่างโดยเฉพาะความรัก รายหลังหนีไม่พ้นขอเลขเด็ด แม้แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติได้ยินกิตติศัพท์ต่างพากันมาขอพรอย่างจริงจัง กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่รัฐไม่เคยคิดจะโปรโมท 

ที่กล่าวมาคือภาพ snapshot ของเยาวราชจากการเดินชมเพียงไม่กี่ชั่วโมง ยังมีอีกหลายเรื่องราวทั้งการเมืองไทยและการเมืองโลกที่สอดแทรกอยู่ในพื้นที่นี้ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นคนตีความด้วยข้อมูลชุดใด ด้วยเหตุนี้เยาวราชจึงเป็นพื้นที่ควรค่าแก่การศึกษาโดยเฉพาะผู้ที่สนใจบทบาทของชาวจีนโพ้นทะเล ผู้คุมเศรษฐกิจในทุกๆ ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าไปลงหลักปักฐาน และเมื่อคุมเศรษฐกิจได้แล้วการมีบทบาทด้านอื่นย่อมไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป