อินเดียเจอเอลนีโญแล้งหนักดันราคาน้ำตาล-ฝ้ายพุ่ง

อินเดียเจอเอลนีโญแล้งหนักดันราคาน้ำตาล-ฝ้ายพุ่ง

สภาพอากาศแห้งแล้งผิดปกติในอินเดียเป็นอันตรายต่ออุปทานสินค้าเกษตรโลกรวมถึงน้ำตาลและฝ้าย เพิ่มโอกาสเงินเฟ้ออาหารยืดเยื้อ

เว็บไซต์นิกเคอิเอเชียรายงาน สัญญาซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้าในนิวยอร์กพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 12 ปีโดยประมาณที่ 28 เซนต์ต่อปอนด์ ณ จุดหนึ่งเมื่อวันที่ 25 ต.ค. ช่วงเช้าวันจันทร์ (20 ต.ค.) ซื้อขายกันที่ 26 เซนต์ราคาที่พุ่งขึ้นเป็นผลเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในอินเดียที่ผลิตน้ำตาลราว 20% ของโลก

กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า อินเดียเผชิญความร้อนแล้งที่สุดในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ฝนที่ตกช่วง มิ.ย.-ก.ย.ซึ่งเป็นช่วงฤดูมรสุมลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบห้าปี

แหล่งข่าวรายหนึ่งในบริษัทน้ำตาลเผยว่า ไร่อ้อยในรัฐมหาราษฏระและกรณาฏกะที่ปลูกอ้อยกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ มีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย คาดว่าผลผลิตปี 2566-2567 จะลดลง 3%

จากสภาพผลผลิตน้อยและราคาสูง รัฐบาลอินเดียประกาศเมื่อวันที่ 18 ต.ค.ว่า ได้ขยายการควบคุมส่งออกน้ำตาลไม่มีกำหนดจากเดิมต้องสิ้นสุดสิ้นเดือน ต.ค.

ขณะเดียวกันไทยและผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อื่นๆ ในเอเชียต่างเผชิญอากาศแห้งแล้งจากเอลนีโญด้วย

แหล่งข่าวอีกรายจากบริษัทน้ำตาลอีกแห่งหนึ่งเผยว่าเนื่องจากปีนี้ผลผลิตในซีกโลกเหนือไม่แน่นอน ผู้ซื้อจึงรุกซื้อน้ำตาลจากบราซิล ผู้ผลิตรายใหญ่สุดของโลก

ไม่เพียงแต่น้ำตาล ความแห้งแล้งในอินเดียยังดันราคาสินค้าเกษตรตัวอื่นด้วย ราคาฝ้ายซื้อขายล่วงหน้าพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือนโดยประมาณ เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ที่90.75 เซนต์ต่อปอนด์ วันจันทร์ซื้อขายกันที่ 83 เซนต์ ผลผลิตต่อไร่ในที่ราบสูงเดคคานได้รับผลกระทบหนักจากฝนตกน้อย

เดือน ก.ย.กระทรวงเกษตรสหรัฐหั่นคาดการณ์ผลผลิตฝ้ายอินเดียต่อไร่ในรอบปีสิ้นสุดเดือน ก.ค.2567 ลง 2% ลดคาดการณ์การส่งออกฝ้ายลง 9% การเก็งกำไรยิ่งทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นไปอีก

ก่อนหน้านี้อินเดียรับมืออากาศแห้งแล้งผิดปกติด้วยการห้ามส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาตีในเดือน ก.ค. เพื่อเก็บไว้บริโภคในประเทศ เมื่อผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่สุดของโลกเคลื่อนไหวเช่นนี้จุดประกายความกังวลว่าอุปทานจะขาดแคลน ดันให้ราคาข้าวหัก 5% ของไทยพุ่งขึ้นไปอยู่ระดับสูงสุดในรอบ 15 ปีโดยประมาณในเดือน ส.ค.