สุลต่านอิบราฮิมจากยะโฮร์ กษัตริย์องค์ใหม่มาเลเซีย

สุลต่านอิบราฮิมจากยะโฮร์ กษัตริย์องค์ใหม่มาเลเซีย

ราชวงศ์มาเลเซียเลือกสุลต่านอิบราฮิม สุลต่านอินกันดาร์จากรัฐยะโฮร์ทางภาคใต้เป็นกษัตริย์พระองค์ต่อไป รับตำแหน่ง 31 ม.ค.2567

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน สำนักงานผู้รับสนองพระบรมราชโองการแถลงว่า สุลต่านอิบราฮิม จะทรงสืบทอดบัลลังก์ต่อจาก สมเด็จพระราชาธิบดีอัลสุลต่านอับดุลลาห์ ในวันที่ 31 ม.ค.2567

ทั้งนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีมาเลเซีย ส่วนใหญ่แสดงบทบาทเชิงสัญลักษณ์ แต่ระยะหลังพระองค์ทรงมีอิทธิพลมากขึ้นเนื่องจากการเมืองไร้เสถียรภาพมายาวนาน กระตุ้นให้กษัตริย์องค์ปัจจุบันใช้อำนาจตัดสินพระทัยที่ไม่ค่อยได้ใช้

มาเลเซีย เป็นประเทศประชาธิปไตยระบบรัฐสภา กษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ ซึ่งระบบของมาเลเซียนั้นให้สุลต่านเก้ารัฐผลัดกันเป็นกษัตริย์วาระห้าปี รัฐธรรมนูญสหพันธรัฐให้อำนาจตัดสินพระทัยของกษัตริย์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่พระองค์ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี แต่กษัตริย์อัลสุลต่านทรงมีบทบาทแข็งขันในการเมืองมาเลเซีย ทรงเลือกนายกรัฐมนตรีสามคนล่าสุด 

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้กษัตริย์แต่งตั้งผู้ที่ครองเสียงข้างมากในสภาเป็นนายกรัฐมนตรี อำนาจที่ไม่เคยใช้มาก่อนจนกระทั่งปี 2563 เพราะโดยปกติการเลือกตั้งเป็นตัวชี้ขาดว่าใครได้เป็นนายกฯ

สมเด็จพระราชาธิบดีอัลสุลต่าน ทรงใช้อำนาจนี้ในช่วงที่การเมืองไร้เสถียรภาพ ผลจากพรรคอัมโนที่ปกครองประเทศต่อเนื่องนับตั้งแต่ได้เอกราชแพ้เลือกตั้งในปี 2561

ไม่เพียงเท่านั้นกษัตริย์ยังใช้อำนาจพระราชทานอภัยโทษประชาชน ในปี 2561 กษัตริย์สุลต่านโมฮัมหมัดที่ 5 องค์ก่อนอัลสุลต่าน พระราชทานอภัยโทษแก่อันวาร์ ที่ตอนนั้นติดคุกในข้อหารักร่วมเพศ และทุจริตซึ่งเจ้าตัวบอกว่าเป็นคดีการเมือง

อดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ที่ติดคุกเมื่อปีก่อนในคดีทุจริตกองทุนฉาววันเอ็มดีบีก็ได้ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเช่นกัน ซึ่งกษัตริย์พระองค์ใหม่จะเป็นผู้พิจารณา

สุลต่านอิบราฮิมทรงแตกต่างจากกษัตริย์พระองค์ก่อนๆ ตรงที่กล้าวิจารณ์การเมือง และว่าทรงมีความสัมพันธ์อันดีกับนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม

เป็นที่ทราบกันดีว่าสุลต่านพระองค์นี้ทรงชอบสะสมรถหรู และจักรยานยนต์ราคาแพง ทรงมีผลประโยชน์ในธุรกิจหลากหลายตั้งแต่อสังหาริมทรัพย์ไปจนถึงเหมืองแร่

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์