เปิดสัมพันธ์ลึก ไบเดน-อิสราเอล ‘ผมเป็นไซออนิสต์’

เปิดสัมพันธ์ลึก ไบเดน-อิสราเอล ‘ผมเป็นไซออนิสต์’

เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ เดินทางเยือนกรุงเคียฟของยูเครนแบบไม่ให้ใครรู้เนื้อรู้ตัว นั่นเกิดขึ้นหลังการรุกรานของรัสเซียเกือบหนึ่งปี

แต่ในสงครามอิสราเอล-ฮามาส ไบเดนไปเยือนกรุงเทลอาวีฟในวันที่ 18 ต.ค. หรือ 11 วันหลังเกิดเหตุ สะท้อนให้เห็นว่าเขาให้ความสำคัญกับอิสราเอลมากแค่ไหน

ตอนที่ไบเดนพบกับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูและคณะรัฐมนตรีสงครามระหว่างการเยือน ผู้นำสหรัฐรับประกันกับพวกเขา “ผมไม่เชื่อว่าคุณเป็นยิวถึงเป็นไซออนิสต์ ผมเป็นไซออนิสต์”

ข้อมูลจากบีบีซีระบุ แนวอุดมการณ์ไซออนิสม์ หรือขบวนการไซออนิสต์ เป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นในยุโรปช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เป้าหมายของขบวนการคือการสร้างชาติยิวขึ้นมาในดินแดนปาเลสไตน์ ซึ่งในความรับรู้ของชาวยิวถือว่าเป็นดินแดนอิสราเอลโบราณ

ในปี 2490 สหประชาชาติมีมติให้แบ่งดินแดนปาเลสไตน์ออกเป็นรัฐของชาวยิวและชาวอาหรับแยกกัน และในปี 2491 ได้มีการสถาปนารัฐอิสราเอลขึ้น

อย่างไรก็ตาม ชาวอาหรับที่ยังอาศัยในดินแดนปาเลสไตน์และบริเวณโดยรอบต่างคัดค้านการเกิดขึ้นของประเทศอิสราเอล โดยมองว่าเป็นการปฏิเสธสิทธิของชาวอาหรับ

สำหรับถ้อยคำของไบเดน สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ไบเดนผู้เป็นลูกหลานชาวคาธอลิกเชื้อสายไอริช เคยพูดยืนยันความสัมพันธ์ที่มีกับอิสราเอลมาแล้วหลายครั้ง แต่คำพูดล่าสุดที่ไม่มีรายงานมาก่อน ฉายภาพว่าไบเดนเป็น“เพื่อนของอิสราเอล” ที่เหนียวแน่นคนหนึ่งในบรรดานักการเมืองอเมริกันชั้นนำ ความสัมพันธ์นี้จะเป็นตัวชี้นำการทำหน้าที่ประธานาธิบดีของเขาในช่วงวิกฤติ

ทั้งยังตอกย้ำถึงความท้าทายที่ไบเดนเผชิญในการสร้างสมดุลระหว่างสนับสนุนอิสราเอลไม่เปลี่ยนแปลงตามคำเชิญชวนของเนทันยาฮู คนที่ไบเดนรู้จักมานาน กับการหลีกเลี่ยงไม่ให้พลเรือนเสียชีวิตและสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในกาซาเลวร้ายลงไปกว่านี้ ซึ่งจะทำให้การปล่อยตัวประกันชาวอเมริกันยุ่งยากขึ้น

“ความเชื่อมโยงของไบเดนกับอิสราเอลหยั่งรากลึกอยู่ในดีเอ็นเอการเมืองของเขา ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ เขาอยู่ท่ามกลางวิกฤติที่เขาต้องจัดการ” แอรอน เดวิด มิลเลอร์ อดีตนักเจรจาตะวันออกกลางที่เคยทำงานกับรัฐมนตรีต่างประเทศหกคนทั้งจากรัฐบาลเดโมแครตและรีพับลิกันกล่าว

รอยเตอร์สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่, ส.ส. และนักวิเคราะห์ทั้งอดีตและที่ยังทำงานอยู่จำนวน 12 คน จำนวนหนึ่งกล่าวว่า การรับลูกเนทันยาฮูในช่วงสงครามของไบเดนอาจช่วยให้สหรัฐได้เปรียบในความพยายามปรับลดการตอบโต้ของอิสราเอลในกาซา

แหล่งข่าววงในรายหนึ่งเผยว่า ระหว่างที่คุยกันส่วนตัวเมื่อวันพุธ (18 ต.ค.) ผู้นำทั้งสองไม่ได้แสดงอาการตึงเครียดอย่างที่เคยเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ไบเดนตั้งคำถามสำคัญกับเนทันยาฮูถึงการรุกรบที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่น “คุณคิดดีแล้วเหรอว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้นและต่อๆ ไป” เปิดสัมพันธ์ลึก ไบเดน-อิสราเอล ‘ผมเป็นไซออนิสต์’

ทั้งนี้ แหล่งข่าวทั้งในสหรัฐและตะวันออกกลางต่างไม่แน่ใจว่าอิสราเอลที่ประกาศทำลายล้างฮามาสวางแผนจุดจบของสงครามแล้วหรือยัง

การที่ไบเดนผูกพันกับผู้นำฝ่ายขวาอย่างเนทันยาฮูจึงเสี่ยงทำให้เขาแปลกแยกกับสมาชิกพรรคเดโมแครตหัวก้าวหน้าจำนวนหนึ่ง ในช่วงที่เขาต้องการลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งในปี 2567 เนื่องจากเสียงประณามอิสราเอลจากทั่วโลกที่มากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งกล่าวโทษสหรัฐด้วย ทั้งยังกระตุ้นให้ชาวปาเลสไตน์และคนอื่นๆ ในโลกอาหรับมองว่า การทำหน้าที่ตัวกลางสร้างสันติภาพของไบเดนมีอคติเข้าข้างอิสราเอล

บ่มเพาะจุดยืนหลายสิบปี

มุมมองหนุนอิสราเอลของไบเดนส่วนหนึ่งได้มาจากบิดา ผู้ที่ยืนยันมาตลอดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยนาซีว่า การตั้งอิสราเอลให้เป็นมาตุภูมิของชาวยิวในปี 2491 เป็นความยุติธรรมอย่างไม่ต้องสงสัย

อดีตเจ้าหน้าที่รายหนึ่งเผยว่า การรับรู้เรื่องการประหัตประหารชาวยิวตลอดหลายร้อยปีผนวกกับเหตุการณ์ต่อต้านชาวยิวในสหรัฐที่สูงมากในปี 2565 ช่วยอธิบายได้ว่าทำไมประธานาธิบดีวัย 80 ปีผู้นี้จึงไม่สบายใจเมื่อฮามาสโจมตีอิสราเอลในวันที่ 7 ต.ค.

เมื่อเข้าสู่การเมืองระดับชาติในปี 2516 ไบเดนใช้เวลาห้าทศวรรษในตำแหน่ง ส.ว. รองประธานาธิบดี และประธานาธิบดีบ่มเพาะจุดยืนด้านนโยบาย สนับสนุนความมั่นคงของอิสราเอลอย่างแข็งขันควบคู่กับการสนับสนุนสร้างรัฐปาเลสไตน์

อาชีพเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งอิสราเอล-อาหรับมากมายหลายครั้ง รวมถึงการพบปะที่ถูกกล่าวถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับนายกรัฐมนตรีโกลดา เมอีร์ ผู้กล่าวกับ ส.ว.หนุ่มในปี 2516 ขณะสงครามยมคิปปูร์ร้อนแรงสุดๆ ว่า อาวุธลับของอิสราเอลคือ “เราไม่มีที่ไหนให้ไปอีกแล้ว”

ตามฐานข้อมูลขององค์กรไม่หวังผลกำไร Open Secrets ตลอด 36 ปีที่ไบเดนเป็น ส.ว. เขาได้รับบริจาคจากกลุ่มหนุนอิสราเอลมากที่สุด 4.2 ล้านดอลลาร์

ในฐานะรองประธานาธิบดีไบเดนมักไกล่เกลี่ยสัมพันธ์ลุ่มๆ ดอนๆ ระหว่างประธานาธิบดีบารัก โอบามากับเนทันยาฮู

เดนนิส รอสส์ ที่ปรึกษาด้านตะวันออกกลางรัฐบาลโอบามาสมัยแรก เล่าถึงเหตุการณ์ที่ไบเดนแทรกแซงไม่ให้โอบามาวิจารณ์เนทันยาฮูแรงเกินไประหว่างการเยือนในปี 2553 ตอนนั้นอิสราเอลเพิ่งประกาศขยายการตั้งถิ่นฐานของชาวยิวในเยรูซาเล็มตะวันออก ที่ถูกยึดมาจากสงครามปี 2510 พื้นที่นี้มีประชากรอาหรับอยู่ครึ่งเมือง

“อะไรก็ตามที่เอาไม่อยู่กับอิสราเอล ไบเดนต้องคอยเป็นสะพาน ความผูกพันมั่นหมายของเขาต่ออิสราเอลแข็งแกร่ง และเป็นสัญชาตญาณที่เราเห็นได้ในตอนนี้” รอสส์ ที่ปัจจุบันอยู่ที่สถาบันวอชิงตันเพื่อนโยบายตะวันออกใกล้ให้ข้อมูลเพิ่มเติม

แม้ไบเดนกับเนทันยาฮูเป็นเพื่อนกันมานาน แต่เริ่มแตกคอกันช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เมื่อทำเนียบขาวมองแบบเดียวกับฝ่ายต่อต้านในอิสราเอล ไม่เห็นด้วยกับแผนคุมอำนาจศาลสูงของเนทันยาฮู

แรงต้านจากเดโมแครตหัวก้าวหน้า

จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่กลุ่มติดอาวุธฮามาสบุกเข้ามาในหลายเมืองของอิสราเอล คร่าชีวิตประชาชน 1,400 คนจับเป็นตัวประกันอีกราว 200 คนรวมทั้งชาวอเมริกัน นับจากนั้นอิสราเอลปิดล้อมและถล่มกาซาทางอากาศ ข้อมูลจากทางการกาซาบอกว่า ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตอย่างน้อย 4,385 คน

ขณะที่พรรครีพับลิกันสนับสนุนท่าทีของอิสราเอลอย่างแทบจะเป็นเอกฉันท์ ไบเดนกลับเผชิญความท้าทายจากฝ่ายหัวก้าวหน้าภายในเดโมแครตที่ต้องการให้อิสราเอลอดกลั้นและหยุดยิง

“ประธานาธิบดีไบเดน ใช่ว่าทุกคนในอเมริกาจะเห็นด้วยกับคุณในเรื่องนี้ คุณต้องตื่นและเข้าใจ จริงๆ แล้วเรากำลังดูผู้คนกระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ราชิดา ตลาอิบ ส.ส.อเมริกันเชื้อสายปาเลสไตน์หนึ่งเดียวในสภาคองเกรสสหรัฐกล่าวแต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ไบเดนอาจได้เสียงจากโหวตเตอร์อิสระที่เห็นอกเห็นใจอิสราเอลเหมือนกัน เปิดสัมพันธ์ลึก ไบเดน-อิสราเอล ‘ผมเป็นไซออนิสต์’ (ราชิดา ตลาอิบ)

ผลสำรวจของรอยเตอร์และอิปซอสเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (16 ต.ค.) ชี้ว่า สังคมสหรัฐเห็นใจอิสราเอลมากกว่าในอดีต เสียงสนับสนุนอิสราเอลสูงสุดในหมู่สมาชิกพรรครีพับลิกันที่ 54% เทียบกับสมาชิกพรรคเดโมแครตที่ 37% ชาวอเมริกันหนุ่มสาวสนับสนุนอิสราเอลน้อยกว่าผู้ใหญ่

ขณะนี้ไบเดนกำลังมีคะแนนนิยมตกต่ำ เพื่อนสมาชิกพรรคเดโมแครตบางคนถูกคาดหวังว่าต้องระวังอย่าไปมีเรื่องกับ AIPAC กลุ่มผลักดันหนุนอิสราเอลที่ทรงพลังมากในการเลือกตั้งสหรัฐ แต่วิกฤติอิสราเอล-ฮามาสก็หนุนกระแสวิจารณ์ไบเดนว่าเขาไม่เห็นใจชะตากรรมของชาวปาเลสไตน์มากเท่าที่ควร ความหวังตั้งรัฐของพวกเขาริบหรี่เต็มที่ท่ามกลางการยึดครองของอิสราเอล

ทางการสหรัฐกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะรื้อฟื้นการเจรจาระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ขึ้นมาอีกครั้ง หลักๆ เพราะต่างฝ่ายต่างไม่มีใครฟัง

คาเล็ด เอลจินดี อดีตที่ปรึกษาการเจรจากับปาเลสไตน์ ปัจจุบันอยู่ที่สถาบันตะวันออกกลางในวอชิงตัน ระบุ “รัฐบาลละเลยปัญหาที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรามาถึงวันนี้ การตีเช็กเปล่าของไบเดนให้อิสราเอลถล่มกาซา ได้ทำลายความน่าเชื่อถือของสหรัฐที่เหลืออยู่น้อยนิด เผลอๆ อาจเรียกคืนไม่ได้ด้วยซ้ำ”