นายกฯร่วมประชุม ‘อาเซียน-จีซีซี’ หนุนการค้าอาหรับ-กระชับสัมพันธ์ซาอุฯ

นายกฯร่วมประชุม ‘อาเซียน-จีซีซี’ หนุนการค้าอาหรับ-กระชับสัมพันธ์ซาอุฯ

นายกฯร่วมประชุม ‘อาเซียน-จีซีซี’ หนุนการค้าอาหรับ-กระชับสัมพันธ์ซาอุฯ โดยประเทศในจีซีซีมีกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติ ซึ่งกองทุนทั้ง 6 ประเทศรวมกัน มีมูลค่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ รัฐบาลจึงต้องการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในภูมิภาคและในประเทศไทย

"อุศณา พีรานนท์" อธิบดีกรมอาเซียน เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (16 ต.ค.) ว่า นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เตรียมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN-GCC Summit) ในวันที่ 20 ต.ค. นี้ ถือเป็นการประชุมระดับผู้นำครั้งแรกในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์อาเซียน-จีซีซี ที่มีมานานกว่า 30 ปี 

การประชุมครั้งนี้ มีประเทศอาเซียนทั้งหมด (ยกเว้นเมียนมา) เข้าร่วมการประชุมกับผู้นำจีซีซีอีก 6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย, บาห์เรน, คูเวต, โอมาน, กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

อุศณา คาดว่า หัวข้อการประชุมอาจมีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน เนื่องจากปัจจุบัน จีซีซีถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงสำหรับอาเซียน และมีประเด็นอีกหลายเรื่องที่อาเซียนและจีซีซีสนใจร่วมมือกัน อาทิ ความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงาน เพราะประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนหลายแห่ง เป็นประเทศผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ จึงมีความสนใจเสริมสร้างความสัมพันธ์ในด้านนี้ โดยเฉพาะมาตรฐานอาหารฮาลาล ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยให้ความสำคัญเช่นกัน

กลุ่มประเทศจีซีซี เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญ และมีวิสัยทัศน์มุ่งไปสู่การเป็นเศรษฐกิจที่ไม่พึ่งพิงน้ำมันแต่เพียงอย่างเดียว แต่มุ่งไปสู่การปรับตัวให้เป็นประเทศที่ใช้พลังงานสะอาด สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลไทย ที่พยายามปรับโครงสร้างพลังงาน สู่การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนี้ ประเทศในจีซีซีมีกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติ ซึ่งกองทุนทั้ง 6 ประเทศรวมกัน มีมูลค่าสูงถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์ รัฐบาลจึงมีความสนใจดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในภูมิภาคและในประเทศไทย โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตของไทย เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อุศณา เสริมว่า

“สิ่งที่รัฐบาลอยากให้ความสำคัญเพิ่มเติมคือ การร่วมมือส่งเสริมความเข้าใจระหว่างประชาชนในสองภูมิภาค เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนการท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งไทยถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญสำหรับจีซีซี โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการเดินทางมารักษาพยาบาลในไทย” 

นอกเหนือจากการประชุม นายกฯจะใช้โอกาสนี้ กระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและประเทศสมาชิกจีซีซี โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบีย

ด้าน "วรวุฒิ พงษ์ประภาพันธ์" อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กล่าวเสริมว่า การเยือนซาอุดีอาระเบียครั้งนี้ ไม่ใช่การเยือนอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศได้พยายามนัดหมายนายกฯเศรษฐา ให้มีโอกาสเข้าเฝ้าเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซอัลซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย แต่โอกาสการเข้าพบอาจเป็นไปได้ 50% เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล และมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนมาก

นายกฯร่วมประชุม ‘อาเซียน-จีซีซี’ หนุนการค้าอาหรับ-กระชับสัมพันธ์ซาอุฯ

อย่างไรก็ตาม ทางการไทยพยายามนัดหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือเกี่ยวกับการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-ซาอุฯอีกทาง โดยเฉพาะกองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ (พีไอเอฟ) หากได้พบถือเป็นโอกาสอันดีที่นายกฯ จะได้เชิญชวนพีไอเอฟพิจารณาลงทุนในไทย และพยายามผลักดันให้อารัมโก บริษัทผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก หันมาลงทุนในไทยบ้าง

วรวุฒิ บอกว่า

"ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนของไทยหลายรายเข้าไปลงทุนในซาอุฯบ้างแล้ว เช่น ธุรกิจพลังงาน การโรงแรม ธุรกิจด้านสุขภาพ และยังมีบริษัทที่เตรียมลงทุนในซาอุฯอีกหลายรายเช่นกัน"

ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการประชุมในซาอุฯ จะมีเอกสารเผยแพร่ 2 ฉบับ ได้แก่  1.รายงานแถลงการณ์ร่วมของผู้นำในการประชุม  ระบุภาพรวมกว้าง ๆ ว่าผู้นำสนใจหรือมีพันธกรณีใดบ้างที่อยากร่วมมือกัน  2. กรอบความร่วมมือในทุกด้าน ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2567-2571 เมื่อมีการรับรองแล้ว ทางการไทยจะรีบเผยแพร่ทันที

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุฯ หลังการเยือนอย่างเป็นทางการของอดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า การค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้น และคาดว่า การเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ อาจหนุนยอดการค้าแตะ 10,000 ล้านดอลลาร์ และหลังจากไทยได้ศึกษาวิสัยทัศน์ 2030 ของซาอุฯ พบว่า  ซาอุฯอยากลงทุนภาคอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากน้ำมัน เช่น ธนาคาร ภาคบริการ และโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมบางประเภทที่ซาอุฯสนใจ 

วรวุฒิบอกว่า

"เราสามารถสนับสนุนวิสัยทัศน์ของซาอุฯได้ และคิดว่าเราจะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย  ถ้าเรามีความเข้าใจและได้ทำงานร่วมกัน เราจะสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ของเราไปสู่ระดับสูงสุด เรามีซีพีและเอสซีจีที่อยู่ภายใต้การเจรจาธุรกิจกับซาอุฯ เราหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนการเจรจาธุรกิจต่าง ๆ ได้"

ด้านอุศณาเผยว่า  นักท่องเที่ยวจากซาอุฯมาไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า หลังกระชับสัมพันธ์เมื่อปีก่อน และสร้างรายได้ราว 8,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ "กาญจนา ภัทรโชค" อธิบดีกรมสารนิเทศเสริมว่า ไทยเตรียมเปิดหน่วยงานท่องเที่ยวในประเทศซาอุฯ เร็ว ๆ นี้ เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว และเมื่อพิจารณาจากสถิติแล้ว พบว่า นักท่องเที่ยวชาวซาอุฯ ใช้จ่ายในการท่องเที่ยวในไทยมากที่สุดในบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติ และไทยจะโปรโมทซอฟต์พาวเวอร์ในซาอุฯ ทั้งอุตสาหกรรมบันเทิงและภาพยนตร์ รวมถึงหาโอกาสส่งภาพยนตร์ไทยเข้าร่วมงาน Red Sea International Film Festival ในซาอุฯด้วย