'โมฮัมเหม็ด เดอิฟ' ผู้นำกลุ่มฮามาส หนึ่งในจอมบงการโจมตีอิสราเอล

'โมฮัมเหม็ด เดอิฟ' ผู้นำกลุ่มฮามาส หนึ่งในจอมบงการโจมตีอิสราเอล

“โมฮัมเหม็ด เดอิฟ” นักรบปาเลสไตน์ ที่อิสราเอลต้องการตัวมากที่สุด เป็นหนึ่งในจอมบงการเหตุโจมตีอิสราเอล ใช้ชีวิตใต้เงามืดมาหลายสิบปี แม้สูญสมาชิกครอบครัวไปหลายคน แต่เขายังมีชีวิตรอดจากการสังหารได้หวุดหวิด แลกกับสูญเสียตา 1 ข้าง และบาดเจ็บที่ขาสาหัส

ถ้อยแถลงจากคลิปเสียงของ “โมฮัมเหม็ด เดอิฟ” นักรบปาเลสไตน์ ที่อิสราเอลต้องการตัวมากที่สุด ออกอากาศขณะกลุ่มฮามาสยิงจรวดโจมตีฉนวนกาซาเมื่อวันเสาร์ (7 ต.ค.66) บ่งชี้ว่า การโจมตีของกลุ่มฮามาสคือการเอาคืน การจู่โจม “มัสยิดอัล-อักซอ” ในเยรูซาเล็มของอิสราเอล

แหล่งข่าวใกล้ชิดฮามาส เผยว่า เมื่อเดือนพ.ค.2564 เดอิฟเริ่มวางแผนปฏิบัติการโจมตีอิสราเอล หลังอิสราเอลบุกสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันดับที่ 3 ของศาสนาอิสลาม จนสร้างความโกรธเคืองให้กับชาติอาหรับ และมุสลิม

แหล่งข่าวเล่าว่า ภาพกับฉากการจู่โจมของอิสราเอลที่มัสยิดอัล-อักซอ ในช่วงรอมฎอน กับผู้เข้ามาสักการะ ฉุดกระชากผู้สูงอายุ และคนหนุ่มออกจากมัสยิด ล้วนเป็นชนวนที่ก่อให้เกิดความโกรธเคือง

เดอิฟกล่าวในคลิปเสียงว่า

“ความโกรธแค้นของอัล-อักซอ ของผู้คน และชาติของเรา กำลังระเบิดในวันนี้ นักรบทั้งหลาย วันนี้คือ วันของท่านที่จะแสดงให้อาชญากรเข้าใจว่า เวลาของพวกเขากำลังจะจบแล้ว”

เดอิฟย้ำว่า ฮามาสเตือนอิสราเอลซ้ำแล้วซ้ำเล่า ให้ยุติอาชญากรรมต่อชาวปาเลสไตน์ เพื่อปล่อยนักโทษที่ถูกอิสราเอลทารุณกรรมและทรมาน และยุติการยึดคืนแผ่นดินปาเลสไตน์

กว่า 2 ปีที่ผ่านมา การโจมตีของฮามาสในวันเสาร์ (7 ต.ค.66) ถือเป็นการละเมิดการป้องกันประเทศของอิสราเอลอย่างร้ายแรง อิสราเอลจึงประกาศสงคราม และตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศในฉนวนกาซา คร่าชีวิตผู้คนไป 1,055 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 5,000 คน

  • 2 สมอง 1 ผู้บงการ

แหล่งข่าวใกล้ชิดฮามาส เล่าว่า การตัดสินใจโจมตี ได้รับความเห็นร่วมจากเดอิฟ ที่เป็นผู้สั่งการกองพลน้อยอัลกอสซัมของฮามาส และ “เยห์ยา ซินวาร์” ผู้นำฮามาสในฉนวนกาซา แต่ไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนสั่งการ

“ปฏิบัติการนี้เกิดจาก 2 สมอง แต่มีผู้บงการเพียงหนึ่งเดียว และปฏิบัติการโจมตี รู้แค่ในบรรดาผู้นำฮามาสไม่กี่คน” แหล่งข่าว กล่าว

และเสริมว่า ความลับที่เก็บมิดชิดดังกล่าว ทำให้อิหร่านที่เป็นแหล่งเงิน แหล่งฝึกฝน และแหล่งอาวุธที่สำคัญของฮามาส รู้แค่ว่ามีแผนปฏิบัติการครั้งใหญ่ แต่ไม่รู้ช่วงเวลา และรายละเอียด

“อยาตุลลอฮ์ อาลี คาเมเนอี” เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิหร่านชี้แจงเมื่อวันอังคาร (10 ต.ค.66) ว่า รัฐบาลเตหะรานไม่เกี่ยวข้องกับการโจมตีอิสราเอล สหรัฐเองก็ไม่มีข่าวกรองหรือหลักฐานโดยตรง ที่บ่งชี้ว่าอิหร่านเข้าร่วมการโจมตี

“อาลี บารากา” หัวหน้าฝ่ายความสัมพันธ์ภายนอกของฮามาส บอกว่า “เราเตรียมการโจมตีนี้มา 2 ปี”

เดอิฟ บอกว่า ฮามาสกระตุ้นให้ประชาคมนานาชาติ ยุติอาชญากรรมแห่งการยึดครอง แต่อิสราเอลกลับเพิ่มความบาดหมางมากขึ้น เพราะในอดีตฮามาสเคยขอทำข้อตกลงด้านมนุษยธรรมกับอิสราเอล เพื่อปลดปล่อยนักโทษปาเลสไตน์ แต่ถูกปฏิเสธ

“ความพยายามยึดครองแผ่นดิน การปฏิเสธข้อตกลง และการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ การสนับสนุนจากตะวันตกและสหรัฐ รวมถึงการนิ่งเฉยของนานาชาติ ทำให้เราต้องตัดสินใจจบเรื่องทั้งหมดนี้” เดอิฟ กล่าวผ่านคลิปเสียง

  • ชีวิตใต้เงามืด

เดอิฟ เกิดเมื่อปี 2508 ในค่ายผู้ลี้ภัยข่านยูนิส ที่ก่อตั้งในสงครามอาหรับ-อิสราเอล ปี 2491 ชื่อเดิมคือ “โมฮัมเหม็ด มาซรี” และได้เป็นผู้นำกองกำลังติดอาวุธในนาม “โมฮัมเหม็ด เดอิฟ” หลังเข้าร่วมกลุ่มฮามาสในช่วงอินติฟาดา ครั้งที่ 1 หรือการลุกฮือของชาวปาเลสไตน์ที่เริ่มขึ้นในปี 2530

สำหรับการเติบโตเป็นใหญ่ในกลุ่มฮามาส เดอิฟช่วยปรับปรุงเครือข่ายอุโมงค์ของกลุ่มฮามาส และมีความเชี่ยวชาญด้านการทำระเบิด แต่แหล่งข่าวเผยว่า เดอิฟไม่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทันสมัยเลย เช่น พวกสมาร์ตโฟน

เดอิฟ เรียนจบปริญญาสาขาวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอิสลามในกาซา ซึ่งเรียนทั้งฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา นอกจากนี้ เดอิฟยังรักในศิลปะ เคยเป็นประธานคณะกรรมการเอ็นเตอร์เทนเมนต์ของมหาวิทยาลัย และเคยแสดงละครเวทีตลก

เดอิฟกลายเป็นบุคคลที่อิสราเอลต้องการตัวมากที่สุดตลอดหลาย 10 ปีที่ผ่านมา และมีความเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของชาวอิสราเอลหลายสิบรายในเหตุการณ์ระเบิดพลีชีพ

แหล่งข่าวฮามาสบอกว่า เดอิฟเคยถูกจับกุมโดยอิสราเอลในปี 2532 และถูกคุมขังอยู่นาน 16 เดือน ส่วนภรรยา ลูกชายวัย 7 เดือน และลูกสาววัย 3 ขวบ เสียชีวิตจาการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในปี 2557

สำหรับเดอิฟ การอาศัยอยู่ในเงามืดเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการมีชีวิตอยู่ และความตาย แหล่งข่าวฮามาสบอกว่า เดอิฟเสียตาข้างหนึ่ง และได้รับบาดเจ็บสาหัสที่ขา 1 ข้าง จากการพยายามลอบสังหารของอิสราเอล

ทั้งนี้ การรอดชีวิตของเขา ขณะควบคุมกองกำลังติดอาวุธของฮามาส ทำให้เขาได้ยกย่องเป็น “วีรบุรุษปาเลสไตน์”

อย่างไรก็ตาม เดอิฟ แทบจะไม่พูดหรือไม่เคยปรากฏตัวต่อสาธารณะเลย ดังนั้นเมื่อรายงานทางโทรทัศน์ของฮามาสประกาศว่า เดอิฟมีเรื่องจะพูดในวันเสาร์ ทำให้ชาวปาเลสไตน์ทราบทันทีว่า “ฮามาสมีปฏิบัติการสำคัญ”

ทั้งนี้ รูปภาพของเดอิฟมีให้เห็นเพียง 3 รูป ได้แก่ รูปในช่วงวัย 20 ปี รูปที่ใส่หน้ากาก และรูปเงาของเขา ที่ใช้ประกอบคลิปเสียงที่เผยแพร่ออกมา

ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าเดอิฟอยู่ที่ไหน แต่เป็นไปได้ว่า เขาอาจจะอยู่ในเขาวงกตในอุโมงค์ใต้ฉนวนกาซา

แหล่งข่าวความมั่นคงของอิสราเอล บอกว่า เดอิฟมีความเกี่ยวข้องกับแผน และปฏิบัติการโจมตีล่าสุดโดยตรง ส่วนแหล่งข่าวปาเลสไตน์ เผยว่า บ้านหลังหนึ่งที่อิสราเอลโจมตีทางอากาศเป็นบ้านของพ่อเดอิฟ ส่วนพี่น้องที่เป็นผู้ชาย และสมาชิกครอบครัวอีก 2 คน เสียชีวิตแล้ว

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์