'ปานปรีย์' ให้คำมั่น นโยบายการต่างประเทศ หนุนเศรษฐกิจไทยในทุกมิติ

'ปานปรีย์' ให้คำมั่น นโยบายการต่างประเทศ หนุนเศรษฐกิจไทยในทุกมิติ

ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยัน การต่างประเทศของไทยต้องมองไปข้างหน้า ครอบคลุมหลายมิติ เพื่อสร้างรายได้ และแก้ไขปัญหาให้ประชาชน และช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการรับมือกับความท้าทาย

ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เสนอมุมมองการดำเนินงานของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ในงาน “Thailand Economic Outlook 2023” เมื่อวันพุธ (4 ก.ย.66) ว่า การต่างประเทศของไทยต้องมองไปข้างหน้า ครอบคลุมหลายมิติ เพื่อสร้างรายได้ และแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ทำให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการรับมือกับความท้าทาย

“การทูตต้องเป็นของทุกคน เพื่อทุกคน และเปิดกว้างให้ทุกคนมีส่วนร่วม นำไปสู่ประโยชน์ที่จับต้องได้ และเติมเต็มนโยบายภายในของไทยในทุกมิติ” ปานปรีย์ กล่าว

ปัจจุบัน โลกมีหลายขั้วอำนาจที่แข่งขันกันอยู่ ทั้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์ และภูมิเทคโนโลยี ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของไทย

ความท้าทายประการแรกคือ หลายประเทศอยู่ภายใต้แรงกดดันให้เลือกข้าง โดยมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่เป็นมิตร จึงนำไปสู่การทำกรอบความร่วมมือเป็นกลุ่มหรือบล็อก 

ความผันผวนทางเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาหนี้ การลดบทบาทสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (เอสดีจี)

การแข่งขันทางเทคโนโลยี ทั้งการแย่งชิงวัตถุดิบที่สำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยี การจัดเก็บและบริการข้อมูล และความมั่นคงทางไซเบอร์

สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ที่เป็นประเด็นข้อกังวลร่วมกันของประชาคมโลก และขณะเดียวกันก็นำไปสู่การสร้างมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ ที่อาจกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ

ปานปรีย์ จึงย้ำว่า การทูตเศรษฐกิจของไทยจะต้องช่วยเพิ่มอำนาจต่อรอง และสร้างดุลยภาพในการดำเนินความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศต่างๆ และต้องช่วยกระจายความเสี่ยงในด้านเศรษฐกิจ โดยสนับสนุนส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว พลังงานทดแทน บริการด้านดิจิทัล และเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เพื่อสร้างงานใหม่ๆ ไม่พึ่งพิงเศรษฐกิจเดิมๆ ด้วยการสร้างสัมพันธ์กับประเทศที่มีอิทธิพลทางการเมือง และเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งคู่ค้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ จีน สหรัฐ ญี่ปุ่น และอินเดีย ขณะเดียวกัน ไทยต้องเพิ่มพูนปฏิสัมพันธ์กับประเทศที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยด้วย เช่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และตุรกี

ปานปรีย์ เสริมว่า ไทยต้องเร่งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการขยายหุ้นส่วนต่างประเทศ ทั้งด้านการผลิตและการบริการ รวมถึงการวิจัยและพัฒนา เพื่อยกระดับมาตรฐานธุรกิจไทย พัฒนาโครงสร้างเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

นอกจากนี้ ไทยต้องผนึกกำลังกับประเทศในเอเชีย และสนับสนุนให้เอเชียมีเสถียรภาพ ให้เป็นภูมิภาคแห่งความร่วมมือ แห่งความสงบ ที่สำคัญไทยต้องสนับสนุนให้อาเซียนเข้มแข็งเป็นเอกภาพ

สำหรับการดำเนินงานเพื่อหนุนเศรษฐกิจไทย ปานปรีย์ กล่าวว่า ไทยใช้การทูตเศรษฐกิจ เพื่อก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และใช้เป็นการทูตหัวหอกของการทูตยุคใหม่ เพื่อหาโอกาสใหม่ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจดิจิทัล พัฒนาผู้ประกอบการ และส่งเสริมการลงทุนใหม่ๆ จากต่างประเทศ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ให้วีซ่าระยะยาวแก่กลุ่มนักลงทุนดังกล่าวแล้ว

นอกจากนี้ ไทยจะให้ความสำคัญกับประเด็นอุบัติใหม่ เช่น เศรษฐกิจสีน้ำเงิน การกำหนดระเบียบจัดการเทคฯ เช่น เอไอ เพิ่มปฏิสัมพันธ์กับโออีซีดี เร่งเจรจาเอฟทีเอ เช่น เอฟทีเอกับสหภาพยุโรป และไทยจะขยายพันธมิตรทางเศรษฐกิจผ่านกรอบความร่วมมือทุกระดับ ร่วมถึงกลุ่มบริกซ์

ปลายปีนี้กระทรวงการต่างประเทศ จะเชิญเอกอัครราชทูตไทยทั่วโลกมาประชุมที่ประเทศไทย เพื่อวางแผนขับเคลื่อนงานด้านต่างประเทศ รวมกับทุกภาคส่วนของไทย เพื่อตอบสนองความท้าทายในปัจจุบัน

ปานปรีย์ย้ำว่า

นโยบายต้องสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เพื่อความกินดีอยู่ดี และส่งเสริมให้ไทยกลับมามีบทบาทของการเมือง และเศรษฐกิจโลกอย่างภาคภูมิ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในบทบาทของประเทศไทย และคนไทย

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์