สหรัฐกับจีน สัญญาณบวกแห่งมิตรภาพ ?

สหรัฐกับจีน สัญญาณบวกแห่งมิตรภาพ ?

การค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ก็ตามมาด้วยความตึงเครียด สหรัฐฯ กล่าวหาจีนเรื่องแนวทางปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่น การขโมยทรัพย์สินทางปัญญา และการบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี จีนโต้แย้งว่าสหรัฐฯ กำลังพยายามจำกัดการผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจโลก

ข่าวประโคมกันแทบจะทุกวันว่า สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐจะนำไปสู่อุบัติเหตุทางการทหาร ทำให้เกิดสงครามใหญ่ขนาดสงครามโลกครั้งที่สาม 

โซเชียลมีเดียทำข่าวเอนเอียงด้านใดด้านหนึ่งอยู่เสมอ พาดหัวข่าวให้เร้าใจ ใครชอบสหรัฐก็จะไม่ชอบจีน ส่วนใครชอบจีนก็จะเห็นว่าอเมริกาล่มสลาย เป็นต้น

คำถามก็คือ สหรัฐกับจีนจะตัดขาดกันจริงหรือ ปัจจุบันเป็นอย่างไรและอนาคตจะเป็นอย่างไร 

ผมขอเสนอข้อมูลและตัวเลขบางอย่างเพื่อแสดงว่า "สองประเทศนี้พึ่งพาอาศัยกัน และความสัมพันธ์ของทั้งสองนั้นเป็นประโยชน์มากกว่าโทษ ในระยะสั้นและระยะยาว"

ชาวอเมริกันได้ประโยชน์จากสินค้าที่ผลิตในจีน เช่นของเล่น เกมและอุปกรณ์กีฬา ชาวอเมริกันขายถั่วเหลืองให้กับจีนเป็นประวัติการสูงสุดถึง 16,400 ล้านดอลลาร์ ซึ่งชาวจีนมีความต้องการมากเพื่อนำไปทำเป็นอาหารเลี้ยงหมู บริษัทอินเทลและอีกหลายบริษัททำกำไรจากการขายคอมพิวเตอร์ชิป รุ่นที่ไม่มีกฎหมายห้ามขาย และจะนำกำไรนั้นนั้นมาพัฒนาคอมพิวเตอร์ชิประดับสูงที่ขายในตะวันตก ฯลฯ

ชาวจีนหลายร้อยล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน เพราะมีโอกาสผลิตสินค้าและส่งออกตลาดโลก ตามกฎระเบียบองค์การค้าโลกซึ่งอเมริกาให้การสนับสนุน และขณะเดียวกันชาวจีนก็เป็นผู้บริโภคสินค้าและบริการของสหรัฐ

ปี 2565 ที่ผ่านมาเป็นปีแห่งประวัติศาสตร์ของยอดการขายสินค้าระหว่างสองประเทศนี้ การค้าสินค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนมีมูลค่ารวม 690,000 ล้านดอลลาร์

โดยจีนส่งออก 536,300 ล้านดอลลาร์ไปยังสหรัฐ สินค้าอันดับต้นๆ ได้แก่ เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์และเครื่องนอน สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย 

และสหรัฐฯส่งออก 154,000 ล้านดอลลาร์ไปยังจีน ส่งผลให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า 382,300 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ได้แก่ เครื่องบินและชิ้นส่วน ถั่วเหลือง เครื่องจักร ยานพาหนะ เครื่องมือเกี่ยวกับสายตาและทางการแพทย์

(ที่น่าสนใจคือ สหรัฐขายบริการให้จีน มีมูลค่ารวม 41,500 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าบริการของสหรัฐฯ จากจีนมีมูลค่ารวม 21,800 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้สหรัฐฯ เกินดุลการค้า 19,700 ล้านดอลลาร์)

จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสามของสหรัฐฯ รองจากแคนาดาและเม็กซิโก ขณะเดียวกันสหรัฐฯ เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน ตำแหน่งงานหลายล้านตำแหน่งในทั้งสองประเทศขึ้นอยู่กับการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน 

สัญญาณบวกที่เห็นได้ชัดคือการเยี่ยมเยือนกันระหว่างผู้นำระดับสูง 

ผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯ 

27-30 ส.ค.2566: จีน่า ไรมอนโด รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ

6-9 ก.ค. 2566: เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ

18-19 มิ.ย. 2566: แอนโทนี บลินเกน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

การเยี่ยมเยือนทั้งสามครั้งนี้สำคัญเพราะหยุดว่างไปเป็นเวลาสองปี

ผู้แทนรัฐบาลจีน

 คนล่าสุดที่เดินทางเยือนสหรัฐคือ หวัง เหวินเทา รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของจีน เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2566 ตั้งแต่นั้นมาไม่มีการเยือนรัฐบาลระดับสูงของจีนอีกเลย

ข่าวดีล่าสุดค่อนข้างมั่นใจว่าจะเกิดขึ้นแน่นอนก็คือ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะเยือนสหรัฐฯ ช่วงเอเปก เดือนพ.ย.นี้ สังเกตจากการประสานงานของรองนายกรัฐมนตรีจีน ผู้ช่วยนโยบายเศรษฐกิจระดับสูง นาย He Lifeng ซึ่งกำลังจะเดินทางเยือนสหรัฐ และจะเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสที่สุดที่จะเดินทางไปสหรัฐฯ นับตั้งแต่ประธานาธิบดีไบเดนเข้ารับตำแหน่ง อามาด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน Wang Yi ซึ่งคาดว่าจะเยือนวอชิงตัน ดีซี ในเดือนตุลาคม

ปัญหาที่ยังคั่งค้างอยู่จะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการแก้ไข 

จีนเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับรัสเซียสร้างความกังวลให้กับอเมริกาและตะวันตกเรื่องสงครามในยูเครน จีนเป็นผู้นำรวมกำลังกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาตั้งกลุ่มองค์กรต่างๆขึ้นมาเป็นทางเลือกเช่น BRICS หรือโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง BRI (ที่จีนกำลังฉลองครบรอบ 10 ปี ซึ่งปัจจุบันจีนเริ่มแสดงท่าทีลดความเสี่ยงกับโครงการสาธารณูปโภคใหญ่ เนื่องจากเงินทุนที่อาจขัดสน และอาจเป็นเรื่องสภาพคล่องการเงิน เนื่องจากมีหลายโครงการที่ยังชำระหนี้ไม่ได้ และไม่สามารถจะแสดงศักยภาพว่ามีอนาคตคุ้มการเสี่ยงจากการลงทุนของจีน) และเรื่องการแข่งขันเทคโนโลยีชั้นสูง 

การสกัดกั้นการพัฒนาคอมพิวเตอร์ชิพของจีนโดยสหรัฐและพันธมิตร 

การใช้สินค้าและบริการของประชาคมยุโรปเพื่อกดดันบริษัทในสหรัฐ เช่นการซื้อเครื่องบินแอร์บัสของฝรั่งเศสแทนเครื่องบินโบว์อิ้งของอเมริกา ความกังวลเรื่องช่องแคบไต้หวัน (ระยะหลังนี้ผู้เชี่ยวชาญเริ่มมีความโล่งใจมากขึ้น เพราะเชื่อว่าการที่รัสเซียไม่สามารถชนะสงครามเด็ดขาดได้ในยูเครนนั้นเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้นำจีนทบทวนความคิดให้รอบคอบ)

เราอยากเห็นสัญญาณบวกเปลี่ยนสภาพเป็นความร่วมมือในทางปฏิบัติระหว่างสหรัฐกับจีนในไม่ช้านี้ เพราะมีหลายอย่างที่รอความเป็นผู้นำของทั้งสองอยู่ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ การป้องกันการก่อการร้าย

และการพัฒนาและข้อตกลงระหว่างประเทศเรื่องเทคโนโลยีใหม่ เป็นต้น

สหรัฐและจีนเป็นสองประเทศชั้นนำในด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศจะช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรม เร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ และรักษาความมั่นคงระหว่างประเทศ หรืออย่างน้อยลดความเสี่ยงลงได้แน่นอนครับ