ราตรีแห่งวัฒนธรรมอินโดนีเซีย เอกภาพในความหลากหลาย
อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องวัฒนธรรมหลากหลาย สภาพภูมิประเทศชวนตื่นตาตื่นใจ ผู้คนมีน้ำใจไมตรี ทั้งหมดนี้ได้รับการนำเสนอต่อชาวไทยแบบย่นย่อแต่ลึกซึ้งในงานราตรีแห่งวัฒนธรรมอินโดนีเซีย เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ระห์หมัด บูดีมัน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำประเทศไทย กล่าวว่า วัฒนธรรมมีส่วนเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้แข็งแกร่งขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย ในบริบทความสัมพันธ์ทวิภาคีอินโดนีเซีย-ไทย วัฒนธรรมสร้างสีสันความสัมพันธ์ได้อย่างกลมกลืนมาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว วัฒนธรรมหลายอย่างของทั้งสองประเทศมีส่วนคล้ายคลึงกัน ขณะที่ความแตกต่างและอัตลักษณ์ของแต่ละประเทศยิ่งทำให้ความสัมพันธ์มีสีสันยิ่งขึ้น
ความหลากหลายเป็นรากฐานของวัฒนธรรมอินโดนีเซีย เห็นได้จากประชากร 1,340 ชาติพันธุ์กับภาษาพูดอีกกว่า 700 ภาษาผสมกลมกลืนกันได้เป็นอย่างดีตามคำขวัญของชาติที่ว่า เอกภาพในความหลากหลาย“Unity in Diversity”
“ผมเชื่อมาตลอดครับว่า วัฒนธรรมในฐานะการแสดงความรู้สึกและความคิดของประชาชน จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเข้าใจระหว่างกันและกัน การทำความเข้าใจวัฒนธรรมของประชาชน เราจะเข้าใจความรู้สึกและความคิดของเขา และสุดท้ายแล้วจะทำให้เราสื่อสารและพูดคุยเรื่องอื่นๆ อย่างเปิดเผยได้ง่ายขึ้น” ทูตย้ำ
ราตรีแห่งวัฒนธรรมอินโดนีเซียเปิดฉากด้วยการขับร้องเพลงพื้นบ้าน Rasa Sayange ประกอบการแสดงอังกะลุง โดยนักเรียนลูกหลานชาวอินโดนีเซียในประเทศไทย ต้นกำเนิดเพลงมาจากมาลูกุ (คนไทยคุ้นกับชื่อโมลุกะ) เป็นเพลงของชาวอัมบน แปลว่า “ในห้วงรัก” สำหรับคนไทยชายแดนมาเลเซียค่อนข้างคุ้นเคยกับเพลงนี้ ชื่อเพลง Rasa Sayange เหมือนกันแต่เนื้อร้องแตกต่าง
ถัดไปเป็นการแสดงจากชวากลาง, ยอกยาการ์ตา, ชวาตะวันตก, อาเจะห์ และชวาตะวันออก นักแสดงบินตรงมาจากอินโดนีเซีย
แต่ที่ประทับใจที่สุดชนิดซื้อใจคนไทยได้เลย เป็นการแสดงดนตรีร่วมระหว่างอินโดนีเซีย-ไทย ที่ทูตบูดีมัน สวมบทบาทนักร้องนำด้วยตนเอง ขับร้องเพลงอินโดนีเซียและเพลงพระราชนิพนธ์ยามเย็น บรรเลงโดยวง The Ambassador and His Gang เห็นลีลาการขับร้องแล้วเรียกได้ว่าถ้าไม่เป็นนักการทูต บูดีมันไปเป็นนักร้องอาชีพได้สบายๆ
แม้ราตรีแห่งวัฒนธรรมอินโดนีเซียผ่านพ้นไปแล้ว แต่คนที่สนใจงานด้านศิลปวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ เตรียมพบกับนิทรรศการความร่วมมือจิตรกรรมอินโดนีเซีย-ไทย ณ อาคาร 6 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 4-29 ต.ค. ภายในงานมีการแสดงภาพเขียนจากศิลปินสองชาติฝ่ายละ 10 คน และศิลปินคนพิเศษ เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย ผู้ทุ่มเทงานด้านศิลปวัฒนธรรมผลักดันความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจนเป็นที่ประจักษ์