‘Great and Good Friends’ ของขวัญแห่งมิตรภาพไทย-สหรัฐ

‘Great and Good Friends’  ของขวัญแห่งมิตรภาพไทย-สหรัฐ

กรุงเทพธุรกิจชวนอ่านหนังสือ ‘Great and Good Friends’ ของขวัญแห่งมิตรภาพไทย-สหรัฐ ของที่ระลึกจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย มอบให้เนื่องในโอกาสครบรอบ 36 ปีกรุงเทพธุรกิจ เฉลิมฉลอง 190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต

“เป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ” ถ้อยคำนี้ติดตรึงอยู่ในห้วงคำนึงของคนไทยมาแต่อ้อนแต่ออก เมื่อวันก่อน คริสโตเฟอร์ เฮลม์แคมป์ โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย และ แคเธอรีน แอนน์ ฮัลลัค Director, Asia Pacific Media นำคณะเจ้าหน้าที่สถานทูตเยี่ยมเยือนเนชั่น กรุ๊ป ร่วมพูดคุยถึงความร่วมมือที่จะมีระหว่างกันในอนาคต  พร้อมแสดงความยินดีล่วงหน้ากับกรุงเทพธุรกิจเนื่องในโอกาสครบรอบ 36 ปีที่กำลังจะมาถึงในเดือน ต.ค.นี้   ถือเป็นเกียรติกับเจ้าภาพเป็นอย่างยิ่ง 

ก่อนกลับโฆษกเฮลม์แคมป์ได้มอบของที่ระลึกทรงคุณค่าให้กับกรุงเทพธุรกิจ หนังสือ “Great and Good Friends: ของขวัญแห่งมิตรภาพ” โดยเทรเวอร์ เมอร์เรียน และวิลเลียม แบรดฟอร์ด สมิธ  หากมองจากมุมของกรุงเทพธุรกิจในฐานะองค์กรสื่อ หรือมองในมุมผู้เขียนที่เป็นคนรักประวัติศาสตร์  รักการอ่าน รักหนังสือ ของขวัญชิ้นนี้ถือว่าสุขใจผู้ให้ ถูกใจผู้รับ แม้หนังสือตีพิมพ์ใน พ.ศ.2561 แต่การได้ครอบครองไม่มีความเชยเลยสักนิด เนื้อหาอัดแน่นด้วยประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ หยิบขึ้นมาอ่านเมื่อใดก็ได้ความรู้เมื่อนั้น 

นัยของปีที่ตีพิมพ์ พ.ศ.2561 คือการครบรอบ 200 ปี  ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐอเมริกา แค่ปกหนังสือก็อลังการด้วยภาพกาน้ำถมทอง ของขวัญพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแก่ประธานาธิบดีแฟรงกลิน เพียร์ซ พ.ศ.2399 เนื้อหาในหนังสือเปิดเรื่องด้วยสารจากเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย (สมัยนั้นคือกลิน ที เดวีส์) เริ่มต้นด้วยข้อความชวนประทับใจ 

"เมื่อครั้นกัปตันสตีเฟน วิลเลียมส์แล่นเรือกำปั่น 'เปอร์เซีย' มาตามแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูร้อนอันแสนอบอ้าวใน พ.ศ.2361 เขาแทบไม่คาดคิดว่าการเดินทางเยือนครั้งนี้จะก่อให้เกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์มากมายต่อมาในภายหลัง พ่อค้าจากรัฐแมสซาชูเซตส์คนนี้เป็นชาวอเมริกันคนแรกตามประวัติศาสตร์ที่เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อเสาะแสวงหาน้ำตาล เขาได้น้ำตาลกลับไปเต็มลำพร้อมกับจดหมายของพระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) เจ้าพระยาพระคลังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่มีไปยังประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร จดหมายฉบับดังกล่าวชักชวนให้สหรัฐอเมริกาสานสัมพันธ์ทางการค้ากับสยามนับแต่นั้นต่อไปในอนาคต..."

ชื่อหนังสือ Great and Good Friends มาจากคำว่า Great and Good Friend ที่ประธานาธิบดีสหรัฐใช้ขึ้นต้นจดหมายที่เขียนกราบบังคมทูลพระกรุณาพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสยาม ในสมัยที่การติดต่อระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐยังจำกัดอยู่เพียงการส่งราชทูตและหนังสือเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี ความโดดเด่นของหนังสือนอกจากเนื้อหาที่ถูกต้องแม่นยำบันทึกร่วมกันทั้งสองฝ่ายแล้ว ภาพประกอบยิ่งชวนให้ติดตาม อาทิ ภาพของขวัญพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ไทย, ภาพเขียนทัศนียภาพเมืองบางกอกครั้งอดีต, จดหมายของพระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) ถึงประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร, ภาพเหมือน-ภาพถ่ายประธานาธิบดีสหรัฐหลายคน, ภาพนิทรรศการสยามที่เมืองซานฟรานซิสโก เมื่อ พ.ศ.2458 และอื่นๆ อีกมากมายสาธยายไม่หมด ต้องลงมืออ่านและพินิจภาพด้วยตนเองอย่างละเมียดละไมไม่เร่งรีบ จึงจะเข้าใจความสัมพันธ์ที่พัฒนามาเป็นลำดับ

สำหรับคนที่ไม่มีเวลาแค่พลิกไปที่ภาคผนวก หน้า 216 อ่านไทม์ไลน์ลำดับเหตุการณ์ช่วยให้เห็นภาพโดยเร็ว ขอกล่าวสรุปไว้สั้นๆ 

 พ.ศ.2319 อาณานิคมทั้ง 13 แห่งประกาศเอกราชจากสหราชอาณาจักร  ก่อตั้งประเทศใหม่ชื่อว่า สหรัฐอเมริกา 

พ.ศ.2361 พระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) เจ้าพระยาพระคลัง มีจดหมายไปถึงประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร 

พ.ศ.2376 นายเอ็ดมันด์ โรเบิร์ตส์ ราชทูตสหรัฐอเมริกา เดินทางเยือนกรุงเทพมหานคร นำไปสู่การเจรจาสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ 

อ่านถึงตรงนี้เข้าใจแล้วว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเริ่มต้นจาก พ.ศ.2361 นับถึงวันนี้รวมเวลาได้ 205 ปี ขณะที่ความสัมพันธ์ทางการทูตนับจากพ.ศ.2376 ถึงปี 2566 รวมเวลาได้ 190 ปี เท่ากับว่านับถอยหลังอีกเพียง 10 ปีก็จะครบ 200 ปีในการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสหรัฐ 

เมื่อพูดถึงการสานต่อความสัมพันธ์ วันก่อนโรเบิร์ต เอฟ  โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย เข้าพบนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน  หารือการทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-ไทย 190 ปี และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไทยและชาวอเมริกันทุกคน ซึ่งนายกฯ เศรษฐานั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านการเงินที่มหาวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาแคลร์มอนต์ (Claremont Graduate University) รัฐแคลิฟอร์เนีย เรียกได้ว่า คุ้นเคยกับประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างดี  ‘Great and Good Friends’  ของขวัญแห่งมิตรภาพไทย-สหรัฐ (ภาพจากเพจ US Embassy Bangkok)

แต่อีกไม่กี่วันนายกฯ ใหม่หมาดจะเดินทางไปเยือนนิวยอร์กซิตี้ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ซึ่งนี่เป็นการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรี การเดินทางไปสหรัฐครั้งนี้จึงสำคัญไม่เพียงสำหรับนายกฯ เศรษฐา แต่สำคัญกับประเทศไทย เพราะการแสดงบทบาทของไทยในเวทีโลกและการมีปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจท่ามกลางวิกฤติในหลายๆ ด้านย่อมเป็นเรื่องที่น่าจับตา อย่างน้อยการเป็นรัฐบาลพลเรือนมาจากการเลือกตั้งถือว่ามีเครดิตในเวทีโลกพอสมควร แต่จะไปต่อได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับฝีมือของนายกฯ และทีมงานด้วย 

ส่วนคนไทยผู้รักประวัติศาสตร์ที่อยากอ่าน เข้าใจว่า หนังสือ “Great and Good Friends: ของขวัญแห่งมิตรภาพ” มีให้อ่านในห้องสมุดมหาวิทยาลัย หรือลองสอบถามไปยังสถานทูตสหรัฐน่าจะได้คำตอบ นี่เป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มที่ World Pulse อยากแนะนำให้อ่านเพื่อเป็นอาหารสมองและอาหารตา ให้ความรู้ได้แบบ “อกาลิโก” ไม่จำกัดกาล  ทั้งยังช่วยปูพื้นฐานเพื่อติดตามความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-สหรัฐได้สนุกยิ่งขึ้น ท่ามกลางการเมืองโลกที่ร้อนแรงทุกขณะ