อินเดียพร้อมปล่อย ‘จันทรายาน’ สู่ขั้วใต้ดวงจันทร์
สำนักงานอวกาศอินเดียเตรียมความพร้อมขั้นสุดท้าย ก่อนปล่อยยิงจรวดจันทรายาน นำยานสำรวจลงไปจอดที่ขั้วใต้ดวงจันทร์เป็นครั้งแรกของการสำรวจอวกาศ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) แถลงว่า ตรวจสอบความพร้อมของจันทรายานเสร็จสมบูรณ์แล้ว พร้อมปล่อยยิงจากฐานในรัฐอานธรประเทศทางภาคใต้ วันนี้ (14 ก.ค.) เวลา 14.35 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 16.05 น. ตามเวลาประเทศไทย
สำนักข่าว ANI เผยแพร่ภาพข่าว วานนี้ (13 ก.ค.) นักวิทยาศาสตร์หลายคนของ ISRO นำแบบจำลองจันทรายาน 3 ไปยังวัดชื่อชื่อดังแห่งหนึ่งทางภาคใต้ของอินเดีย เพื่อรับศีลรับพรก่อนปล่อยยิง
ภารกิจนี้ถ้าสำเร็จ อินเดียจะเป็นประเทศที่ 4 ถัดจากสหรัฐ อดีตสหภาพโซเวียต และจีน ที่สามารถนำยานไปลงบนดวงจันทร์ได้ และจันทรายาน 3 จะเป็นยานแรกที่ได้ลงจอด ณ ขั้วใต้ของดวงจันทร์ พื้นที่ที่หน่วยงานอวกาศและบริษัทอวกาศเอกชนหมายตา เนื่องจากมีน้ำแข็งที่สามารถสนับสนุนการตั้งสถานีอวกาศในอนาคตได้
เมื่อปี 2563ภารกิจจันทรายาน 2 ประสบความสำเร็จสามารถปล่อยยานโคจรได้ แต่ยานจอดและยานสำรวจเสียหายจากการกระแทกใกล้จุดที่จันทรายาน 3 จะลงไปจอด
ครั้งนี้ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนจะลงจอดบนดวงจันทร์ได้ราววันที่ 23 ส.ค.
จันทรายาน ประกอบด้วยยานจอดสูง 2 เมตร เป็นตัวปล่อยยานสำรวจใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ คาดว่าจะทำงานได้ราวสองสัปดาห์
การปล่อยจันทรายานถือเป็นภารกิจใหญ่ครั้งแรกนับตั้งแต่รัฐบาลนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ประกาศนโยบายสนับสนุนการลงทุนปล่อยยานอวกาศและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียม
นับตั้งแต่ปี 2563 ที่อินเดียเปิดให้เอกชนปล่อยดาวเทียม จำนวนสตาร์ทอัพอวกาศเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า ปลายปี 2565 สกายรูท แอโรสเปซ ที่มี GIC กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติสิงคโปร์เป็นนักลงทุน ปล่อยยิงจรวดเอกชนลำแรกของอินเดีย
สำหรับภารกิจในวันนี้ ปวัน จันธนะ ผู้ร่วมก่อตั้งสกายรูท ทวีตข้อความอวยพร
“เช่นเดียวกับชาวอินเดียพันล้านคน ขอให้จันทรายาน 3 โชคดี!”
ภาพจากเพจ India in Thailand (Embassy of India, Bangkok)