ยูเอ็นเอชอาร์ซี ผ่านมติความเกลียดชังทางศาสนา หลังเหตุเผาอัลกุรอาน

ยูเอ็นเอชอาร์ซี ผ่านมติความเกลียดชังทางศาสนา หลังเหตุเผาอัลกุรอาน

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี) รับรองข้อมติเกี่ยวกับความเกลียดชังทางศาสนา หลังการเผาคัมภีรอัลกุรอานในสวีเดนเมื่อเร็ว ๆ นี้ จุดชนวนการประท้วงอย่างกว้างขวางในโลกมุสลิม

ข้อมติว่าด้วยความเกลียดชังทางศาสนา ที่เสนอโดยปากีสถานในฐานะตัวแทนขององค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ได้รับการรับรองจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชอาร์ซี) ด้วยเสียงสนับสนุน 28 เสียง คัดค้าน 12 เสียง และงดออกเสียง 7 เสียงในการประชุมในวันพุธ (12 ก.ค.)

ข้อมติได้รับการยื่นต่อที่ประชุมและมีการอภิปรายเมื่อวันอังคาร มีเนื้อหาเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ทบทวนกฎหมายและอุดช่องโหว่ ที่อาจขัดขวางการป้องกันและการดำเนินคดีต่อการกระทำและการสนับสนุนความเกลียดชังทางศาสนา หลังจากเกิดกรณีการเผาคัมภีร์อัลกุรอานครั้งล่าสุดในสวีเดนเมื่อเดือนมิ.ย. และข้อมติประณามการคัมภีร์อัลกุรอาน ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในบางประเทศในยุโรปและประเทศอื่น ๆ

หลังเหตุเผาอัลกุรอานในสวีเดน ปากีสถานและ OIC แสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ที่ผู้อพยพชาวอิรักฉีกและเผาคัมภีร์อัลกุรอานที่ด้านนอกมัสยิดสำคัญในกรุงสต็อกโฮล์มของสวีเดนเมื่อเดือนที่แล้ว

"บิลาวัล ภุตโต ซาร์ดารี" รัฐมนตรีต่างประเทศของปากีสถาน กล่าวต่อที่ประชุมยูเอ็นเอชอาร์ซีผ่านวิดีโอเมื่อวันอังคารว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการปลุกปั่นให้เกิคความเกลียดชัง การเลือกปฏิบัติ และการพยายามยั่วยุให้เกิดความรุนแรง และการกระทำเกิดขึ้นภายใต้การคุ้มครองจากรัฐบาล ที่ทำให้ผู้ก่อเหตุลอยนวลพ้นผิด

นอกจากนี้  เรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า “ควรหยุดอ้างเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น” และ “การเงียบ คือ การสมรู้ร่วมคิด”
 

"โวล์กเกอร์ เทิร์ก" ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยนแห่งสหประชาชาติ บอกในที่ประชุมด้วยว่า การกระทำที่สร้างความโกรธเคืองต่อชาวมุสลิม และศาสนาอื่นใด หรือ กลุ่มชาติพันธุ์ เป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ ไร้ความรับผิดชอบ และผิด

ขณะที่นักการทูตชาติตะวันตกส่วนใหญ่ประณามการเผาคัมภีร์อัลกุรอาน แต่คัดค้านข้อมติ โดยแย้งว่า มติมุ่งปกป้องสัญลักษณ์ทางศาสนามากกว่าสิทธิมนุษยชน และชาติเหล่านี้ยืนยันปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น