จับตา2มหาอำนาจโลก ‘สี จิ้นผิง’ ชูจีนยิ่งใหญ่คู่สหรัฐ

จับตา2มหาอำนาจโลก ‘สี จิ้นผิง’ ชูจีนยิ่งใหญ่คู่สหรัฐ

จับตา2มหาอำนาจโลก ‘สี จิ้นผิง’ ชูจีนยิ่งใหญ่คู่สหรัฐ โดยความสัมพันธ์ทางการเมืองในอุดมคติของประธานาธิบดีสีคือ ให้สหรัฐยอมรับการเติบโตของเศรษฐกิจจีนและอำนาจทางทหาร ทำงานร่วมกับจีน เพื่อแก้ไขปัญหาโลกและแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน เอ่ยถ้อยคำสำคัญเมื่อครั้งพบปะกับ“แอนโทนี บลิงเคน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ในกรุงปักกิ่งช่วงที่ผ่านมาว่า “โลกใบนี้ใหญ่พอที่จะรองรับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันระหว่างจีนและสหรัฐ”

สำหรับ “คัตสุจิ นาคาซาวะ” บรรณาธิการข่าวนิกเคอิเอเชีย ที่เฝ้าสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-จีนมาระยะหนึ่ง คุ้น ๆ ว่า สีเคยพูดประโยคดังกล่าวเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ช่วงที่เยือนสหรัฐครั้งแรกในฐานะผู้นำจีน

นาคาซาวะ บอกว่า เมื่อเดือน มิ.ย.ปี 2556 สี พบกับ “บารัก โอบามา” ประธานาธิบดีสหรัฐสมัยนั้น ที่ซันนีแลนด์รีทรีต ในรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยผู้นำจีนกล่าวกับโอบามาว่า “มหาสมุทรแปซิฟิกอันกว้างใหญ่ มีโอกาสมากพอสำหรับประเทศขนาดใหญ่ทั้งสองประเทศ”

ไม่แปลกที่ผู้นำจีนพูดแบบนั้น เพราะความสัมพันธ์ทางการเมืองในอุดมคติของสีคือ ให้สหรัฐยอมรับการเติบโตของเศรษฐกิจจีนและอำนาจทางทหาร ทำงานร่วมกับจีนเพื่อแก้ไขปัญหาโลกและแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน นั่นเท่ากับเสนอให้มี Group of Two หรือ G2 ซึ่งเป็นแนวคิดที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในขณะนั้น

หลังจากครุ่นคิดเกี่ยวกับข้อเสนอโดยนัยของสีระยะหนึ่ง รัฐบาลโอบามา ก็ออกมาปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งชาวอเมริกันเข้าใจดีว่า การแบ่งแยกผลประโยชน์เท่ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นอยู่ และเป็นความพยายามที่ท้าทายสหรัฐอย่างมาก

การปฏิเสธข้อเสนอก่อตั้ง G2 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างจีน-สหรัฐ ซึ่งมีผลมาจนถึงปัจจุบัน ในขณะนั้นจีนเบ่งอำนาจ เคลื่อนไหวมากสุดเป็นประวัติการณ์ในแถบทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก และสหรัฐเองก็ไม่ยอมรับว่าความเคลื่อนไหวของจีนเป็นเรื่องปกติ

คำพูดของสีต่อบลิงเคน คือการปรับเปลี่ยนถ้อยคำที่เคยพูดไปแล้ว แต่เป็นความคิดเห็นที่มีนัยสำคัญอย่างมาก โดยคำพูดล่าสุดของสี เปลี่ยนจากคำว่า "ทะเลแปซิฟิกอันกว้างใหญ่" เป็นคำว่า "โลก" บ่งชี้ว่า โอกาสของทั้งสองประเทศใหญ่ขึ้นกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

ความแตกต่างอย่างหนึ่งระหว่างข้อเสนอแรกและข้อเสนอล่าสุดคือ ครั้งนี้สีย้ำว่า จีนและสหรัฐสามารถพัฒนาและมีความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันได้ ซึ่งฟังดูเหมือนสีอยากแบ่งผลประโยชน์ เพราะสีเห็นโลกที่จีนและสหรัฐ สามารถแบ่งผลประโยชน์และอยู่ร่วมกันได้

และเพื่อเน้นให้เห็นถึงการค่อย ๆ ผงาดขึ้นมามีอำนาจของจีน สี จึงบอกกับบลิงเคนว่า จีน เคารพผลประโยชน์สหรัฐและไม่พยายามท้าทายหรือเข้าไปแทนที่ ขณะเดียวกัน สหรัฐ ก็จำเป็นต้องเคารพจีน ต้องไม่สะเมิดสิทธิอันชอบธรรมและผลประโยชน์ของจีนด้วย

แต่หากความกังวลหนึ่งเดียวของประเทศมหาอำนาจคือ การไม่ละเมิดผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน นั่นเท่ากับว่า เป็นการแบ่งแยกขั้วอำนาจโลก และถ้าเป้าหมายสูงสุดของสีคือ การจัดตั้ง G2 อาจทำให้การพัฒนาความสัมพันธ์ของสหรัฐ-จีนในเบื้องต้น เกิดความยากลำบาก

สื่อของจีน ต่างรายงานข่าวการมาเยือนปักกิ่งของบลิงเคนอย่างละเอียด เมื่อบลิงเคนเดินทางถึงกรุงปักกิ่งในวันอาทิตย์ (18 มิ.ย.) โซเชียลมีเดียของรัฐบาลจีน ก็เริ่มรายงานทุกความเคลื่อนไหวของบลิงเคน แม้กระทั่งภาพรถของบลิงเคน ที่เคลื่อนที่ออกจากบ้านรับรองเตียวหยู ก็ได้รับการเผยแพร่ทันทีเช่นกัน

อาจดูเป็นเรื่องแลกที่่สื่อจีนให้ความสนใจบลิงเคนมากขนาดนี้ แต่เมื่อพิจารณาถึงประเด็นการพูดคุยที่หยั่งเชิง หรือคอยขบเขี้ยวกัน ที่เรียกว่า การทูต “นักรบหมาป่า" นาคาซาวะ อธิบายเรื่องนี้ว่า เป็นเพราะจีนอยากได้ชัยชนะทางการทูต และสร้างความประทับใจให้กับประชาชน ที่เห็นภาพนักการทูตระดับสูงของสหรัฐเยือนกรุงปักกิ่ง คุกเข่าและโค้งคำนับเพื่อขอเข้าพบสี 

ในระหว่างการหารือ สี นั่งหัวโต๊ะประชุมที่ทอดยาว ขณะที่บลิงเคนและผู้เข้าร่วมประชุมรอบข้างมองไปยังสี ประหนึ่งประธานบริษัทที่กำลังฟังรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชา

ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่ง ที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการทูตจีน มีความเห็นว่า การหารือครั้งนี้ เป็นการหารือที่แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ที่แท้จริงของจีน และเห็นได้ว่า ช่วงนี้จีนเริ่มสำรวจความเป็นไปได้ในการหารือแบบตัวต่อตัวระหว่างสีและไบเดน ท่ามกลางสายตาจับจ้องจากทั่วโลกที่ร่วมประชุมนานาชาติสำคัญ 2 งาน ที่จะจัดขึ้นในปลายปีนี้  หลังจากผู้นำทั้งสองได้พบกันครั้งแรกในการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ในบาหลี ประเทศอินโดนีเซียแล้ว

1 ใน 2 การประชุมที่สำคัญ คือ การประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เดือน ก.ย. ส่วนอีกงานคือ การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) เดือน พ.ย. จัดขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐ

แต่ก่อนที่สีและไบเดนจะหารือกันเกี่ยวกับการแบ่งผลประโยชน์ปลายปีนี้ "โลก" ที่กลายเป็นสนามรบทางการเมืองมาโดยตลอด อาจเกิดความพลิกผัน

บทวิเคราะห์ชิ้นนี้ เขียนโดย “นาคาซาวะ” บรรณาธิการและพนักงานระดับอาวุโสของนิกเคอิ สำนักงานกรุงโตเกียว ที่เคยอาศัยอยู่ในจีน 7 ปี ในฐานะผู้สื่อข่าว และเป็นหัวหน้าสำนักข่าวในจีนหลังจากนั้น  นอกจากนี้นาคาซาวะ ยังได้รับรางวัล Vaughn-Ueda International Journalist เมื่อปี 2557 ด้วย