เปิดจุดแข็งอินโดนีเซียจูงใจต่างชาติแห่ลงทุน

เปิดจุดแข็งอินโดนีเซียจูงใจต่างชาติแห่ลงทุน

รอบปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียเป็นข่าวใหญ่หลายครั้งเรื่องที่บริษัทดังระดับโลกเตรียมเข้าไปลงทุน อีซูซุเป็นกรณีล่าสุดที่ส่งผลสะเทือนมาถึงตลาดหุ้นไทยวานนี้ (8 มิ.ย.) แม้สุดท้ายมีแถลงการณ์ออกมาว่ายังไม่ย้ายฐานจากไทย แต่ความแข็งแกร่งของอินโดนีเซียเป็นบทเรียนที่ต้องศึกษา

Key Points:

  • กลางเดือนพ.ค.2565 ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดของอินโดนีเซีย อาศัยจังหวะไปประชุมที่กรุงวอชิงตันพบอีลอน มัสก์
  • ปี 2565  เอฟดีไอในอินโดนีเซียพุ่งขึ้นถึง 44.2% เป็นเงิน 4.56 หมื่นล้านดอลลาร์ 
  • จุดแข็งของอินโดนีเซียมีทั้งด้านฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์คือ มีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ ประชากรจำนวนมากเป็นคนหนุ่มสาว
  • ซอฟต์แวร์คือ การปฏิรูปการเมือง แก้ไขรัฐธรรมนูญ ดึงทหารออกจากการเมือง เดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง

เปิดจุดแข็งอินโดนีเซียจูงใจต่างชาติแห่ลงทุน

ตลาดหุ้นไทยวานนี้หุ้นบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ดิ่งหนักตั้งแต่เปิดตลาด  เมื่อสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายอากุส กูมิวัง การ์ตาซัสมิตา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย ซึ่งไปร่วมงานสัปดาห์ธุรกิจญี่ปุ่น-อาเซียนที่กรุงโตเกียว ได้เข้าพบกับผู้บริหารบริษัทอีซูซุ  บริษัทผลิตรถบรรทุกญี่ปุ่นแล้วเปิดเผยว่า อีซูซุมีแผนย้ายโรงงานในประเทศไทย ไปยังอินโดนีเซีย และอาจเริ่มต้นการผลิตได้เร็วสุดปีหน้า 

“เราชื่นชมการตัดสินใจของอีซูซุ เราจะจัดหามาตรการจูงใจ และสนับสนุนกระบวนการโยกย้าย” แถลงการณ์จากรัฐมนตรี ระบุ

ช่วงบ่ายวันเดียวกัน  บริษัท ตรีเพชร อีซูซุเซลส์ จำกัด ชี้แจงว่า ไม่มีแผนย้ายฐานการผลิตจากไทยไปอินโดนีเซีย 

อย่างไรก็ตาม ในฐานะเพื่อนร่วมภูมิภาคที่ต้องร่วมมือกันบ้าง แข่งขันกันบ้าง ต้องยอมรับว่าอินโดนีเซียเข้าตาบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่หลายแห่ง ชวนให้ตั้งคำถามว่า อินโดนีเซียมีดีอะไรทำไมบริษัทดังจึงพากันไปที่นั่น

ประธานาธิบดีจีบ ‘อีลอน มัสก์’ ถึงที่

 กลางเดือนพ.ค.2565 ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดของอินโดนีเซีย เดินทางไปกรุงวอชิงตันเพื่อร่วมประชุมผู้นำสหรัฐ-อาเซียนสมัยพิเศษ ไปแล้วไม่เสียเที่ยวเพราะได้แวะไปหาอีลอน มัสก์ ซีอีโอบริษัทผลิตรถไฟฟ้า “เทสลา”ที่ฐานปล่อยจรวดของสเปซเอ็กซ์อีกธุรกิจหนึ่งของมัสก์ ในเมือง Boca Chica รัฐเท็กซัส พร้อมเชิญมหาเศรษฐีรายนี้มาเยือนอินโดนีเซียในเดือนพ.ย.ที่โจโกวีจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำกลุ่มจี 20ที่เกาะบาหลี เรื่องที่หารือกันในตอนนั้นคือ โอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมนิกเกิลในอินโดนีเซีย และการจัดหาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมัสก์ กล่าวว่า มีโอกาสที่เทสลากับอินโดนีเซียจะได้เป็นพันธมิตรกันในหลายด้าน เนื่องจากอินโดนีเซียมีศักยภาพมากมาย

โดดเด่นเจ้าภาพจี 20

ช่วงเดือนพ.ย.2565 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่จับจ้องของชาวโลกเพราะเป็นเจ้าภาพการประชุมใหญ่ถึง 3 รายการเริ่มตั้งแต่การประชุม “อาเซียน ซัมมิต” ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา วันที่ 10-13 พ.ย.  การประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจใหญ่สุด 20 ประเทศ (จี20) ที่บาหลี อินโดนีเซีย วันที่ 15-16 พ.ย.  และการประชุมเอเปค (APEC 2022) ที่กรุงเทพฯ วันที่ 18-19 พ.ย. แต่ที่ได้หน้าไปเต็มๆ ต้องยกให้การประชุมจี20 ที่อินโดนีเซีย เพราะเป็นศูนย์รวม “ตัวตึง” การเมืองโลก ทั้งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ที่มาพบกันครั้งแรกในรอบหลายปี แถมยังได้อีลอน มัสก์ มาด้วยตามที่เคยเชิญไว้เมื่อเดือน พ.ค.  ช่วยให้ภาพของอินโดนีเซียโดดเด่นมากกว่าการประชุมในประเทศเพื่อนบ้านที่จัดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน 

เอฟดีไอไหลทะลัก

ปี 2565 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ในอินโดนีเซียพุ่งขึ้นถึง 44.2% เป็นเงิน 654.4 ล้านล้านรูเปี๊ยะห์ (4.56 หมื่นล้านดอลลาร์) ไม่รวมการลงทุนภาคธนาคารและภาคน้ำมันและก๊าซ นักลงทุนรายใหญ่คือสิงคโปร์ จีน และฮ่องกง

เปิดจุดแข็งอินโดนีเซีย

จุดแข็งในการดึงเม็ดเงินลงทุนของอินโดนีเซีย มองได้สองมุมทั้งมุมฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ ในมุมฮาร์ดแวร์ตัวแรก อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ จึงพยายามนำแหล่งนิกเกิลสำรองที่มีอย่างมหาศาลมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ และยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

ในอดีตอินโดนีเซียเป็นเป็นผู้ส่งออกแร่นิกเกิลรายใหญ่ของโลก แต่ออกกฎหมายห้ามส่งออกแร่ดิบในปี 2563 เพื่อสร้างหลักประกันว่านักลงทุนมีแร่นิกเกิลเพียงพอสำหรับการถลุงในประเทศ เห็นได้จากใน

เดือนก.พ.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจโกวี เผยถึงสิ่งที่เคยคุยกับมัสก์เรื่องการลงทุนของเทสลาในอินโดนีเซีย

“ผมบอกกับเขาว่าถ้าคุณลงทุนในอินโดนีเซีย ผมยกสัมปทานนิกเกิลให้เลย” ผู้นำอินโดนีเซีย กล่าวด้วยความมั่นใจว่าอินโดนีเซียเหนือกว่าประเทศอื่นๆ เทสลาอาจกำลังพิจารณาเข้ามาลงทุน เพราะประเทศนี้มีแหล่งนิกเกิลใหญ่ที่สุด และตลาดภายในใหญ่

ตลาดภายในอินโดนีเซียถือเป็นฮาร์ดแวร์ตัวที่ 2 ข้อมูลจากเว็บไซต์ datareportal.com ชี้ว่า ในเดือน ม.ค.2566 อินโดนีเซียมีประชากร 276.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 0.6% จากปี 2565-2566 ประชากรหญิงคิดเป็น 49.7% ชาย 50.3% อาศัยอยู่ในเมือง 58.2% อยู่ในชนบท 41.8%

ที่ต้องพิจารณาควบคู่กับจำนวนประชากรคือ การเปิดรับดิจิทัล นับตั้งแต่ต้นปี 2566 อินโดนีเซียมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 212.9 ล้านคน อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 77% จำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดีย 167 ล้านคน คิดเป็น 60.4% ของประชากรทั้งหมดการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือ 353.8 ล้านครั้ง คิดเป็น 128% ของประชากร

แยกทหารออกจากการเมือง

องค์ประกอบอีกส่วนที่ทำให้อินโดนีเซียน่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติคือ ซอฟต์แวร์การเมือง ปัจจุบันประเทศนี้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดีซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้อินโดนีเซียเคยปกครองในระบอบเผด็จการและทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองเหมือนหลายๆ ประเทศในแถบนี้ นับตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 2491-หลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2541 อินโดนีเซียมีประธานาธิบดีเพียงสองคนคือ ซูการ์โน และซูฮาร์โต โดยซูฮาร์โตครองอำนาจนานถึง 31 ปี ระหว่างนั้นมีการใช้ข้าราชการ และทหารเข้ามาเป็นกลไกทางการเมือง จัดที่นั่งให้ทหารในสภา ทหารมีสิทธิลงมติกฎหมาย กองทัพมีบทบาทสองอย่างเรียกว่า dwifungsi คือ นอกจากป้องกันประเทศแล้วยังต้องมีบทบาททางสังคมการเมืองด้วย

วิกฤติการเงินเอเชียผนวกกับปัญหาการทุจริตเอื้อพวกพ้องของรัฐบาลซูฮาร์โตทำให้ประชาชนอินโดนีเซียออกมาประท้วงใหญ่ในปี 2541 บานปลายกลายเป็นการเผาทำลายธุรกิจของประชาชนเชื้อสายจีน จนรัฐบาลซูฮาร์โตเอาไม่อยู่ต้องลาออก อินโดนีเซียปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่เริ่มจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดึงทหารออกจากการเมือง ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงไม่ต้องผ่านการคัดเลือกของทหารในสภาอีกชั้นหนึ่ง ซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโนเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงเมื่อวันที่ 5 ก.ค.2547

ในสมัยยูโดโยโน อินโดนีเซียผงาดชัดในฐานะผู้นำอาเซียน ไม่ใช่แค่ในฐานะประเทศใหญ่สุดประชากรมากสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่การมีผู้นำจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนยิ่งทำให้การดำเนินนโยบายของอินโดนีเซียน่าเชื่อถือยิ่งขึ้นในประชาคมโลก นับตั้งแต่สิ้นยุคซูฮาร์โตในปี 2541 กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของอินโดนีเซียได้รับเสียงชื่นชมไปทั่ว

‘โจโกวี’ ผู้นำทำเพื่อชาติ

สำหรับประธานาธิบดีวิโดโด หรือที่รู้จักกันในนาม “โจโกวี” เป็นอีกคนหนึ่งที่ส่งเสริมชื่อเสียงประเทศให้แข็งแกร่งในเวทีโลก เขาเป็นผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตามาก่อน เส้นทางจากผู้ว่าฯ เมืองหลวงสู่ประธานาธิบดีของเขาทำให้ตำแหน่งผู้ว่าฯ จาการ์ตาถูกจับตาว่านี่อาจเป็นสนามสำหรับคนที่อยากลงการเมืองระดับชาติก็ได้

ผลงานเด่นของโจโกวีเห็นชัดตอนเป็นประธานการประชุมผู้นำจี20 ในช่วงที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนคุกรุ่น โจโกวีเดินสายไปทั้งรัสเซียและยูเครนพบผู้นำสองประเทศเพื่อแสดงความปรารถนาสันติภาพของอินโดนีเซีย

รัฐมนตรีต่างประเทศคู่บุญ

ความสำเร็จด้านต่างประเทศของโจโกวีส่วนหนึ่งต้องให้เครดิต “เรตโน มาร์ซูดี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหญิงคนแรกของอินโดนีเซีย อดีตนักการทูตมากฝีมือที่เป็นรัฐมนตรีคู่บุญมาตั้งแต่เดือนต.ค.2557 ตอนที่ทหารเมียนมารัฐประหารโค่นรัฐบาลพลเรือนของนางอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 อินโดนีเซียแสดงบทบาทผู้นำอาเซียนเจรจากับฝ่ายทหาร และฝ่ายประชาธิปไตยหาทางออกวิกฤตการณ์ในเมียนมา

เหล่านี้คือ ตัวอย่างแค่เพียงส่วนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า เมื่อมีฮาร์ดแวร์ดี และซอฟต์แวร์เด่น อินโดนีเซียจึงเดินหน้าได้ทั้งในเวทีเศรษฐกิจและการเมือง กรณีอีซูซุแม้ประกาศชัดว่ายังไม่ย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทย แต่ไม่ใช่เรื่องให้นิ่งนอนใจเพราะในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ไทยจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพทุกอย่างแข่งกับประเทศ อื่นๆ ให้ได้ 

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์