เช็กคุณสมบัติ ‘รมว.ต่างประเทศ’ สร้างสมดุลย์ บนความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์

เช็กคุณสมบัติ ‘รมว.ต่างประเทศ’ สร้างสมดุลย์ บนความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์

รมว.ต่างประเทศ ต้องมีพื้นฐานด้านการต่างประเทศ หรือมีทีมที่ปรึกษาคอยช่วยเเหลือได้อย่างเข้าใจสถานการณ์แท้จริงและรัฐบาลที่มาจากอาณัติของประชาชน ย่อมมีน้ำหนักต่อการดำเนินงานทางการทูต

ประเทศไทยจะต้องมี ‘รมว.ต่างประเทศ’ สไตล์และคุณสมบัติแบบไหน จึงจะเหมาะสมกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน ซึ่งสหรัฐและชาติตะวันตกหลายประเทศดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงรุกในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก หวังต้านการขยายอิทธิพลจีน โดยที่มีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทยตั้งอยู่ตรงกลางยุทธศาสตร์นี้

“สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว” อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศและอดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำประเทศฝรั่งเศส กล่าวว่า แน่นอนผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต้องได้รับความไว้วางใจทางการเมือง และมีน้ำหนักในรัฐบาลเพราะเป็นตัวแทนภาพลักษณ์ประเทศ 

​สีหศักดิ์ มองว่า กระทรวงการต่างประเทศมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่อย่างมืออาชีพอยู่แล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ก็ต้องเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ทำงาน ต้องฟังความเห็นและเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมา

 

การทูต-งานเจรจาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

“หากต้องดำเนินงานด้านการต่างประเทศในเชิงรุก ผู้ที่มาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศต้องมีพื้นฐานด้านการต่างประเทศ หรือมีทีมที่ปรึกษาคอยช่วยเหลือรัฐมนตรีได้อย่างเข้าใจสถานการณ์แท้จริง  เพราะหลายเรื่องมีความสลับซับซ้อนและงานด้านต่างประเทศเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในบางครั้งแค่การสรรหาถ้อยคำก็เป็นเรื่องยากแล้ว  ถ้าหากเราไม่มีภูมิหลังและเข้าใจว่าการเจรจาติดขัดตรงไหนหรือต้องแก้ไขปัญหาต่อไปอย่างไร” สีหศักดิ์กล่าวและระบุว่า  ดังนั้นต้องมีความทรงจำที่เป็นสถาบัน (institutional memory) ซึ่งต้องอาศัยวิธีการที่เป็นรูปแบบเฉพาะของการเจรจาทางการทูตทั้งในห้องประชุมนอกห้องประชุม รวมถึงสรรหาถ้อยคำที่ทุกฝ่ายรับได้ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเทคนิคมากพอสมควร

การทูตไผ่ลู่ลมกับความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์

ท่ามกลางความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ไทยต้องดำเนินการทูตแบบไหน สีหศักดิ์กล่าวว่า ประเทศอย่างเรามีความจำเป็นต้องปรับตามสถานการณ์เหมือนกัน  และต้องปรับแบบมีหลักการ  โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นไผ่ลู่ตามลมตลอดเวลา บางครั้งต้นไผ่ต้นเดียวก็สามารถสร้างกำลังต้าน  หากผนึกกำลังกับไผ่หลายๆต้น เช่น กรณีอาเซียนแสดงความเป็นเอกภาพก็จะมีความเข้มแข็ง

“ประเทศเล็กต้องยอมรับความจริงก่อนว่า สถานการณ์หลายอย่างในโลก เราไม่ได้เป็นผู้กำหนดเอง เป็นเรื่องของมหาอำนาจแข่งขันกันความคล่องตัวความไหวตัวให้ทันต่อสถานการณ์  ก็เป็นเรื่องจำเป็นแต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะลู่ตามลมในทุกๆเรื่องจนเหมือนเป็นคนฉวยโอกาส ดังนั้นไทยต้องมีจุดยืนที่ยึดไว้อย่างเหนียวแน่น  ไม่ใช่ว่าเราจะยอมให้ประเทศอื่นกดดันจนไร้จุดยืน ขณะเดียวกันเราต้องมั่นใจดำเนินการตามจุดยืนและหลักการของไทย โดยที่ไม่รุกรานประเทศอื่นและไม่ยอมให้ประเทศไหนมาคัดค้านหลักการที่เราคงไว้

ดราม่าการทูตบนโลกโซเชียล

มองอย่างไร หากนำการทูตไปสร้างกระแสดราม่าผ่านโซเชียลมีเดีย สีหศักดิ์กล่าวว่า ไม่ว่าบุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ และผู้มาจัดตั้งรัฐบาล คำพูดต่างๆของผู้นำย่อมต้องได้รับการศึกษาและวิเคราะห์ว่ามีนัยยะอย่างไร เพราะสถานทูตต่างประเทศทุกแห่งก็ติดตามว่ารัฐบาลใหม่จะมีนโยบายอย่างไร  ตรงนี้ก็ “มีความจำเป็นหากพูดอะไรออกไปก็นึกถึงผลสะท้อนด้วย” 

การเจรจาทางการทูตไม่อาจนำไปรายงานในโซเชียลฯทั้งหมด และต้องระมัดระวังเรื่องการพูดพาดพิงหรือกล่าวหาประเทศใดประเทศหนึ่งจนจุดกระแสในโซเชียลมีเดีย เนื่องจากเกรงอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 

รัฐบาลจากเสียงประชาชนส่วนใหญ่จะทำให้ภาพลักษณ์ประเทศไทยดีขึ้นไหม สีหศักดิ์กล่าวว่า ที่จริงแล้วรัฐบาลก่อน ก็มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็จะมีภาพของอดีตรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขณะที่รัฐบาลใหม่เรียกได้ว่าเป็นเสียงสะท้อนของประชาชนจริงๆ ดังนั้นรัฐบาลที่มาจากอาณัติของประชาชน ย่อมเป็นรัฐบาลที่มีน้ำหนักต่อดำเนินการทางการทูต 

รัฐบาล ปชต.ยืนยันภาพลักษณ์ประเทศ

ดังจะเห็นว่า อดีตครั้งที่ไทยมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งจะมีต่างชาติเชิญผู้นำและรัฐมนตรีของไทยไปเยือนประเทศมากมาย นี่เป็นสิ่งยืนยันสถานะรัฐบาลที่มีความเข้มแข็ง  แต่ก็ต้องดูการเมืองภายในของไทยประกอบด้วย โดยเฉพาะมีอำนาจเต็มที่จะไปเจรจากับต่างชาติรวมถึงสามารถพูดเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนได้อย่างเต็มปาก ล้วนเป็นจุดยืนของประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีสถานะดีขึ้น โดยเฉพาะในสายตาประเทศตะวันตก 

“แน่นอนเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ไม่อาจปฏิบัติตามตามแนวทางที่ชาติตะวันตกที่บังคับให้ประเทศไหนต้องทำตาม แต่ไทยก็มีสิทธิ์ปฏิบัติตามแนวทางที่ไทยยึดถืออยู่ เพราะเป็นเรื่องของประเทศไทย” อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าว 

สีหศักดิ์กล่าวในตอนท้ายว่า การที่ประเทศไทยมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างชัดเจน ยึดถือในหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ย่อมเป็นการเสริมสถานะด้านการต่างประเทศของไทยด้วย