ไทย - ลาว อาจเกิดภัยพิบัติรุนแรงทุก 20 ปี ถ้าไม่หยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ไทย - ลาว อาจเกิดภัยพิบัติรุนแรงทุก 20 ปี ถ้าไม่หยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นักวิจัยชาวต่างชาติเตือน ประเทศไทย และลาว อาจเกิดภัยพิบัติรุนแรงทุกๆ 20 ปี ถ้าอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน ผลการศึกษาของ World Weather Attribution (WWA) ระบุว่า หลายพื้นที่ในประเทศอินเดีย มีอุณหภูมิสูงถึง 44 องศาเซลเซียสในช่วงกลางเดือนเม.ย. และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 11 ราย จากภาวะฮีทสโตรกในวันเดียว

กรุงธากา เมืองหลวงของประเทศบังกลาเทศเจอกับวันที่ร้อนที่สุดในรอบ 60 ปีเช่นกัน

จังหวัดตาก ในประเทศไทย มีอุณหภูมิสูงถึง 45.4 องศาเซลเซียส และพบผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อน 2 ราย แต่ตัวเลขที่แท้จริงอาจมากกว่านั้น ขณะที่จังหวัดไชยบุรี ประเทศลาว มีอุณหภูมิสูงถึง 42.9 องศาเซลเซียสเป็นประวัติการณ์

WWA ระบุในรายงานว่า สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงของทั้งสองภูมิภาค มีโอกาสทำให้เกิดคลื่นความร้อนชื้นอย่างน้อย 30 เท่า และอุณหภูมิร้อนจะสูงกว่าช่วงที่ไม่เกิดสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง 2 องศาเซลเซียส

ถ้ายังไม่หยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจก อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปรากฏการณ์อุณหภูมิร้อนสูงสุดจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และรุนแรงมากขึ้น

นักวิเคราะห์ ยังพบว่า เหตุการณ์อากาศร้อนดังกล่าวในอินเดีย และบังกลาเทศ อาจเกิดขึ้นทุกๆ 5 ปี เพราะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และเมื่ออุณหภูมิทั่วโลกเพิ่มขึ้น 2 องศา ซึ่งจะเกิดขึ้นภายใน 30 ปี ถ้ายังไม่หยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทันที ภัยพิบัติรุนแรงในลาว และไทยจะเกิดขึ้นทุกๆ 20 ปี ซึ่งถี่กว่าปัจจุบันที่ภัยพิบัติรุนแรงจะเกิดขึ้นทุกๆ 200 ปี

“ฟรีเดอริก ออตโต” จากสถาบันแกรนแธม เพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อม ที่มีส่วนร่วมในการศึกษาดังกล่าว เตือนว่า “แผนลดโลกร้อนทั่วโลกได้รับการสนับสนุนช้ามาก นโยบายเหล่านั้นต้องได้รับการจัดความสำคัญในทุกๆ ที่ โดยเฉพาะสถานที่ ที่มีค่าความชื้นสูง ยิ่งหนุนให้คลื่นความร้อน สร้างความเสียหายมากขึ้น

ทั้งนี้ ผลการศึกษาใหม่ของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ดูจากค่าเฉลี่ยอุณหภูมิสูงสุด และดัชนีความร้อนสูงสุดที่รวมความชื้น

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์