อุตสาหกรรมพีซีซบเซาหนัก ‘ไมโครซอฟท์’ลดผลิตอุปกรณ์เสริม

อุตสาหกรรมพีซีซบเซาหนัก ‘ไมโครซอฟท์’ลดผลิตอุปกรณ์เสริม

อุตสาหกรรมพีซีซบเซาหนัก ‘ไมโครซอฟท์’ลดผลิตอุปกรณ์เสริม ขณะที่หลายบริษัทสั่งผลิตสินค้าจำนวนมาก ท่ามกลางปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้อุตสาหกรรมต้องระบายสินค้าคงคลังออก ขณะที่ความต้องการฟื้นตัวเพียงเล็กน้อย

ไมโครซอฟท์เตรียมลดกำลังการผลิตอุปกรณ์ต่อพ่วงคอมพิวเตอร์เซอร์เฟส เรือธงของบริษัท หรือคอมพิวเตอร์ที่สามารถใช้เป็นแท็บเล็ต พร้อมหน้าจอสัมผัสได้ เนื่องจากอุตสาหกรรมพีซีชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง

คอมพิวเตอร์เซอร์เฟสของไมโครซอฟท์ เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2555 จากนั้นเริ่มมีชื่อเสียงในด้านแท็บเล็ต ทั้งรุ่นเซอร์เฟซโก เซอร์เฟซโปร และเซอร์เฟซบุ๊ก ซึ่งสามารถต่อเป็นหน้าจอโน้ตบุ๊กรวมกับคีย์บอร์ดแบบถอดได้

บริษัทซัพพลายเออร์ของไมโครซอฟท์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวนิกเคอิ เอเชียว่า ในการปรับลดการผลิต ไมโครซอฟท์จะระงับการผลิตคีย์บอร์ดพกพาที่ภายใต้แบรนด์เซอร์เฟซ

ไมโครซอฟท์ลงทุนพัฒนาคอมพิวเตอร์เซอร์เฟซอย่างแข็งขันมานานกว่า 10 ปี การตัดสินใจลดการผลิตอุปกรณ์ต่อพ่วงบางอย่าง แสดงให้เห็นว่า แม้แต่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ยังเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งในการพัฒนาทรัพยากรบริษัท ท่ามกลางอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีที่ชะลอตัวเป็นวงกว้าง
 

ประธานบริษัทซัพพลายเออร์แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับไมโครซอฟท์โดยตรง บอกว่า “เราเพิ่งได้รับแจ้งจากลูกค้า (ไมโครซอฟท์) ว่า บริษัทเตรียมระงับการผลิตคีย์บอร์ดแบบถอดได้ ซึ่งเราเคยบอกว่าคอมพิวเตอร์เซอร์เฟซยังคงเป็นหนึ่งในการพัฒนาที่สำคัญของไมโครซอฟท์ แต่อุปกรณ์ต่อพ่วงคงไม่ใช่สินค้าที่สำคัญอีกต่อไปแล้ว”

ไมโครซอฟท์ เป็นหนึ่งในบริษัทสหรัฐรายล่าสุด ที่ขอให้ซัพพลายเออร์กระจายการผลิตฮาร์ดแวร์ ตั้งแต่จีนไปจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลวอชิงตันและรัฐบาลปักกิ่งเริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆ  การขนส่งทางเรือของโน้ตบุ๊กและแท็บเล็ตที่ถอดออกจากคีบอร์ดได้ลดลง 5.7% และ 13.3% มีมูลค่า 1.7 ล้านดอลลาร์ และ 4.7 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ

ไอดีซี บริษัทวิจัยด้านการตลาดชื่อดังของโลก เผยว่า การจัดส่งคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะในปีที่แล้ว ทำได้เพียง 38,000 เครื่อง ลดลงจากปี 2564 ประมาณ 25%

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูที่ปริมาณการจัดส่งสินค้าแล้ว ไมโครซอฟท์ยังไม่ถือว่าเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมนี้ เมื่อเทียบกับบริษัทอื่น ๆ เช่น แอ๊ปเปิ้ล ซึ่งมียอดจำหน่ายคอมพิวเตอร์ 28.6 ล้านเครื่องเมื่อปีก่อน (ไม่รวมแท็บเล็ต) แต่บริษัทซอฟท์แวร์ยักษ์ใหญ่ เน้นลงทุนการผลิตฮาร์ดแวร์อย่างต่อเนื่องมานานกว่า 10 ปี เพื่อผลักดันให้วินโดวส์มีการแสดงผลได้ดีขึ้นและเพิ่มความน่าสนใจให้กับระบบปฏิบัติการของวินโดวส์

อุตสาหกรรมพีซีซบเซาหนัก ‘ไมโครซอฟท์’ลดผลิตอุปกรณ์เสริม

แหล่งข่าวระดับประธานบริหารบริษัทแห่งหนึ่ง เผยว่า เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลแล้ว เมื่อบริษัทอย่างไมโครซอฟท์ลงทุนในสินค้าและบริการที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น คลาวด์คอมพิวติง เนื่องจากขณะนี้ยังไม่สัญญาณการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีที่ชัดเจน

ประธานบริษัทซัพพลายเออร์อีกแห่ง บอกว่า ไมโครซอฟท์สั่งระงับการผลิตสินค้า ขณะที่บริษัทของเขาอยู่ในช่วงระยะกลางของการผลิต “เรายังคงอยู่ในช่วงเจรจากับลูกค้า เพื่อดูว่าจะทำข้อตกลงกับโรงงานได้อย่างไรบ้าง” ซัพพลายเออร์ กล่าว

ประธานบริษัทซัพพลายเออร์รายดังกล่าว ที่ทำการผลิตสินค้าให้บริษัทพีซีรายใหญ่อื่น ๆ ด้วย เช่น เอชพี, เดลล์,เลอโนโว และแอ๊ปเปิ้ล บอกว่า เมื่อดูจากออร์เดอร์ผลิตสินค้าของลูกค้าครั้งล่าสุด ทำให้เห็นว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยียังคงซบเซาในไตรมาสเดือน ก.ค.-ก.ย.

ข้อมูลจากไอดีซี ระบุว่า อุตสาหกรรมพีซี ทั้งคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ, โน้ตบุ๊ก และแท็บเล็ต ต่างมียอดจำหน่ายพุ่งสูงในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปี 2563 และ 2564 แต่เมื่อเกิดสงครามยูเครน-รัสเซีย ความต้องการสินค้าประเภทนี้ลดลงอย่างรวดเร็วทั่วโลกประมาณ 12.5% สู่ระดับ 453.7 ล้านเครื่อง ในปี 2565 และอุตสาหกรรมยังคงมีปัญหาสินค้าคงคลังมากกว่าความต้องการ

ในส่วนของไมโครซอฟท์ รายงานผลประกอบการเมื่อวันอังคาร(25 เม.ย.) ว่า ยอดจำหน่ายพีซีดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ในไตรมาสก่อน แต่ระดับสินค้าคงคลังโดยรวมยังคงสูงและในอนาคตรายได้ของบริษัทอาจฉุดการเติบโตโดยรวม

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเทคโนโลยียังคงประสบปัญหาเกี่ยวกับการระบายสินค้า และต้องฟื้นอุปสงค์ให้กลับคืนมา หลังจากเกิดการขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนประกอบมากเป็นประวัติการณ์ในช่วง 2 ปีก่อน

ผู้ผลิตหน้าจอคอมพิวเจอร์ชั้นนำทั้งสองแห่งของไต้หวัน ก็ปรับลดการผลิตโน้ตบุ๊กและโทรทัศน์เช่นกัน เนื่องจากมีปริมาณสินค้าคงคลังจำนวนมาก ขณะที่ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง  โค (ทีเอสเอ็มซี) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในโลก คาดการณ์ว่า รายได้ทั้งปี 2565 อาจลดลง เนื่องจากระบายสินค้าคงคลังทำได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้

“โจอี เยน” นักวิเคราะห์จากไอดีซี พูดถึงการดำเนินธุรกิจด้วยการสั่งสินค้ามากกว่าปริมาณสินค้าที่บริษัทต้องการจริงว่า 

“หลายบริษัทสั่งผลิตสินค้าจำนวนมาก ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนประกอบ ทำให้อุตสาหกรรมต้องระบายสินค้าคงคลังออก ขณะที่ความต้องการสินค้าส่งสัญญาณว่าฟื้นตัวเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในช่วงนี้” เยน กล่าว

ไอดีซี คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมพีซีทั่วโลก ทั้งคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ, โน้ตบุ๊ก, และแท็บเล็ต อาจปรับตัวลดลงประมาณ 11.2% ในปีนี้ หลังจากปีที่แล้วหดตัว 12.5%

เมื่อสอบถามเกี่ยวกับปริมาณการผลิตอุปกรณ์เสริมต่าง ๆไมโครซอฟท์ บอกว่า ในอนาคต  บริษัทจะเน้นลงทุนอุปกรณ์เสริมวินโดวส์พีซี ภายใต้แบรนด์เซอร์เฟซ ขณะที่อุปกรณ์พ่วงต่าง ๆ ของพีซีไมโครซอฟท์ จะจำหน่ายผ่านตลาดที่มีอยู่ ในราคาเดิมจนกว่าสินค้าจะหมด