‘เมียนมา’ ฮอตสปอตความขัดแย้งใน ‘เอเชีย-แปซิฟิก’

‘เมียนมา’ ฮอตสปอตความขัดแย้งใน ‘เอเชีย-แปซิฟิก’

“อาเซียน” ล้มเหลวในการคลี่คลายวิกฤตการณ์เมียนมา และดูท่าจะไปไกลกว่าฉันทามติกลุ่มจากเดิมที่เสียงแตกเพราะความเห็นต่างกัน มาถึงตอนนี้ อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนปี 2566 ซึ่งมีบทบาทนำเรื่องนี้มาตลอด อาจต้องถึงขั้นกุมขมับเพราะสถานการณ์ซับซ้อนกว่าเดิม

รัฐบาลเมียนมาภายใต้มิน อ่อง หล่าย กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียมีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและก้าวหน้ามากขึ้น ถึงขั้นเปิดทางให้กองทัพมอสโกเข้ามาตั้งฐานทัพในเมียนมาได้ นี่ไม่ใช่เรื่องส่งผลต่อความมั่นคงระดับประเทศเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในภูมิภาค

เมื่อกลางปีที่แล้ว ผู้นำทั้งสองประเทศได้พบปะกันในระหว่างไปร่วมเวที Eastern Economic Forum ที่เมืองวลาดิวอสต็อก และทั้งสองเห็นชอบให้ปีนี้ที่ครบรอบ 75 ปีความสัมพันธ์เมียนมา-รัสเซียได้เปิดศักยราชใหม่ของการยกระดับความร่วมมือยิ่งขึ้น

การเดินทางไปรัสเซียครั้งนั้นพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่ายได้ร่วมลงนามกับอเล็กเซ อีฟเจนีวิช ลิคาเชฟ ผู้อำนวยการใหญ่บริษัทพลังงานนิวเคลียร์ของรัสเซีย หรือโรซาตอม เพื่อเปิดศูนย์ข้อมูลพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นก้าวแรกของการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ในเมียนมาเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนพลังงาน 

นี่เป็นหนึ่งสัญญาณบอกให้ทั่วโลกรับรู้ว่า “รัฐบาลทหารเมียนมา” วันนี้ไม่เหมือนในอดีต เพราะคบหาประเทศมหาอำนาจที่อยู่ฝั่งตรงข้ามสหรัฐอย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะมีความร่วมมือนิวเคลียร์กับรัสเซียหรือทำการค้าเชิงลึกกับจีน ล้วนต่างจากรัฐบาลทหารในอดีตที่อยู่ในสังคมปิด หรือหากเจรจาประเทศใดก็ต้องในทางลับ 

สถานการณ์ดังกล่าวได้กระตุ้นสหรัฐ ประเทศฝั่งประชาธิปไตยออกมาเคลื่อนไหวกดดันเมียนมาผ่านอาเซียน และประเทศไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา 

“สกอต มาร์เชียล” อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศเมียนมา กล่าวว่า ความขัดแย้งที่ยังดำเนินอยู่ในเมียนมา คงถึงเวลาที่ประชาคมโลกต้องลงมือคลี่คลายวิกฤตการณ์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะประเทศสมาชิกอาเซียนต้องลุกขึ้นมาปกป้องเสถียรภาพในภูมิภาค

“แน่นอน อาเซียนคงไม่โต้เถียงเรื่องรับมือวิกฤติเมียนมาจนกลุ่มแแตกแยก แต่อาเซียนต้องเผชิญความอับอายที่ปล่อยให้ภูมิภาคอ่อนแอ เพราะไม่อาจจัดการกับเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรเพียง 9% ของภูมิภาค และมีส่วนแบ่งการค้าระดับโลกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” มาร์เชียลกล่าว 

เมียนมาเป็นประเทศขนาดเล็ก แต่ตอนนี้กลับเป็นฮอตสปอตทาง “ภูมิรัฐศาสตร์” ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้สถานการณ์เมียนมาจบลงด้วยคำเดิมๆที่ว่า "อาเซียนจะไม่แทรกแซงกิจการภายใน" ของประเทศสมาชิก เพราะอาจถูกมองว่าการไม่แอคชันมากกว่านี้ เพราะไม่ใช่เรื่องประเทศตนเอง

สถานการณ์ตอนนี้สมาชิกอาเซียนถูกมองว่า เวียดนาม ลาวและฟิลิปปินส์ไม่ต้องการมีส่วนร่วมกับเรื่องนี้ ส่วนสิงคโปร์ยึดมั่นกับหลักการเดิมไม่แทรกแซง มาเลเซียก็เลิกสนใจประเด็นเมียนมาไปแล้ว กัมพูชาก็ลดบทบาทลงหลังส่งไม้ต่อประธานอาเซียนให้อินโดนีเซีย  ขณะที่อินโดนีเซียพยายามมองหาหนทางใหม่ๆ แสดงความกล้าหาญโน้มน้าวเมียนมาได้ปฏิบัติตามฉันทามติอาเซียน 

แล้วประเทศไทย ซึ่งถูกมองว่ามีความสนิทและใกล้ชิดกับเมียนมามากที่สุดในอาเซียน จะใช้ช่องทางการทูตที่มีอยู่รับมือกับฮอตสปอตความขัดแย้งระดับภูมิภาคนี้อย่างไร