ผลผลิต‘ฝิ่น’เมียนมาปี65 พุ่ง88% ยุคทหารปกครอง

ผลผลิต‘ฝิ่น’เมียนมาปี65 พุ่ง88% ยุคทหารปกครอง

เมียนมาที่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของทหาร ประชาชนหมดโอกาสเป็นไพร่ฟ้าหน้าใสเหมือนประเทศอื่นๆในภูมิภาคเดียวกัน จึงมีทางเลือกไม่มากนักในการเอาตัวรอดทางเศรษฐกิจ และหนึ่งในทางเลือกที่ว่าคือการหวนกลับไปปลูกฝิ่น

สำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมของสหประชาชาติ(ยูเอ็นโอดีซี) เผยแพร่รายงานวานนี้ (26ม.ค.)ว่า การปลูกฝิ่นในเมียนมาเพิ่มขึ้น ตั้งแต่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารและขึ้นมาบริหารประเทศเมื่อปี 2564 สวนทางกับช่วงปี 2557 และปี 2563 ที่ปริมาณการปลูกและการค้าฝิ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง

ยูเอ็นโอดีซี ประเมินว่า ผลผลิตฝิ่นโดยรวมเพิ่มขึ้น 88% เป็น 790 เมตริกตันในปี 2565 เพิ่มขึ้นมากจาก 420 ตันในปี 2564 และเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2556 ส่วนพื้นที่ปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้น 33% เป็น 40,100 เฮกตาร์ในปี 2565 และมีผลผลิตต่อเฮกตาร์หรือต่อพื้นที่ 6.25 ไร่เพิ่มขึ้น 41% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ส่วนราคาฝิ่นหน้าไร่เพิ่มขึ้น 69% ในช่วงปีดังกล่าว สร้างรายได้แก่เกษตรกรปลูกฝิ่นเป็นเงินมากถึง 350 ล้านดอลลาร์มากกว่าสองเท่าของปีก่อนหน้านี้ แต่ผู้ได้ประโยชน์มากกว่าคนปลูกคือบรรดาพ่อค้ายาเสพติดในประเทศ

ยูเอ็นโอดีซี ประเมินว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจจากการปลูกและค้าฝิ่นโดยรวมในเมียนมา ที่รวมถึงรายได้จากการส่งออกฝิ่นและผลิตเฮโรอีน มีมูลค่ามากถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา
 

“ภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และธรรมาภิบาลที่ย่ำแย่ในประเทศ หลังการยึดอำนาจของกองทัพในเดือนก.พ.ปี2564 เกิดขึ้นพร้อมกัน และเกษตกรในพื้นที่ห่างไกลที่มักเกิดความขัดแย้งทางการเมืองมีทางเลือกที่จำกัดจึงหวนกลับไปปลูกฝิ่นเพื่อความอยู่รอด” เจเรมี ดักลาส เจ้าหน้าที่ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของยูเอ็นโอดีซี กล่าว

สามเหลี่ยมทองคำซึ่งเป็นพรมแดนติดต่อระหว่างประเทศไทย ลาว และเมียนมาเป็นศูนย์กลางการค้ายาเสพติดผิดกฏหมายมาช้านานและแนวโน้มการปลูกฝิ่นในเมียนมาที่เพิ่มขึ้นบ่งชี้ว่าภูมิภาคนี้กำลังถูกใช้เป็นทางผ่านหรือจุดเชื่อมโยงกับตลาดค้ายาเสพติดโลก

ผลสำรวจของยูเอ็นในรายงานชิ้นนี้ยังพบว่า การปลูกฝิ่นที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการผลิตยาเสพติดในเมียนมาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่า การค้าเฮโรอีนในภูมิภาคนี้ อาจมีมูลค่าสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่มูลค่าทางเศรษฐกิจของฝิ่นในเมียนมาอยู่ที่ 2,000 ล้านดอลลาร์

ด้าน“เบเนดิกต์ ฮอฟมันน์” ผู้จัดการของยูเอ็นโอดีซี ประจำเมียนมา บอกว่า หากไม่มีทางเลือกอื่นๆ และเศรษฐกิจของเมียนมายังไร้เสถียรภาพแบบนี้ต่อไป ก็มีความเป็นไปได้มากที่การปลูกและการค้าฝิ่นในเมียนมาจะยังคงขยายตัวต่อไป

ด้านโฆษกรัฐบาลทหารเมียนมายังไม่ได้ให้ความเห็นใดๆต่อรายงานฉบับนี้ของยูเอ็นโอดีซี ที่ทำการประเมินโดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเป็นหลักเพื่อระบุพื้นที่เพาะปลูกฝิ่น ซึ่งบ่งชี้ว่า พื้นที่ปลูกฝิ่นในเมียนมาในปี 2565 ขยายตัว 1 ใน 3 เป็น 40,100 เฮกตาร์หรือ 250,625 ไร่

ขณะที่ผลผลิตฝิ่นโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 41% เป็นเกือบ 20 กิโลกรัมต่อพื้นที่1 เฮกตาร์ หรือ 6.25 ไร่ ถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ยูเอ็นโอดีซีเริ่มเก็บบันทึกด้านนี้ในปี 2545

รัฐฉาน ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของเมียนมาและมีพรมแดนติดกับจีน ไทย และ ลาว มีการปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 39% ส่วนมูลค่าของฝิ่นที่ผลิตได้ในแต่ละปีของเมียนมาอาจสูงถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ และส่วนใหญ่จะถูกลักลอบส่งไปขายยังประเทศเพื่อนบ้านก่อนถูกนำออกสู่ตลาดโลกต่อไป

เมื่อปี 2564 ยูเอ็นโอดีซี เคยออกรายงานเตือนว่า ปริมาณผลผลิตฝิ่นในเมียนมาอาจพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง หลังจากเกิดวิกฤติการระบาดของโควิด-19 และความวุ่นวายทางการเมืองหลังรัฐประหาร ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงทำให้เศรษฐกิจเมียนมาเข้าสู่ภาวะซบเซา

ทุกวันนี้ เมียนมาเป็นผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากอัฟกานิสถาน และข้อมูลของยูเอ็นโอดีซีระบุว่าตัวเลขผลผลิตฝิ่นของเมียนมาลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี2557 ลงมาอยู่ที่ระดับ 405 ตันเมื่อปี 2564 แต่ปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้เกษตรกรเมียนมามีรายได้ลดลงและคนงานภาคการเกษตรหางานทำได้ยากขึ้น อาจส่งผลให้การปลูกฝิ่นกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง

“การปลูกฝิ่นคือธุรกิจที่มาพร้อมความยากจน และมักแปรผกผันกับตัวเลขเศรษฐกิจของเมียนมา เพราะเมื่อผู้คนถูกกดดันให้ออกจากเศรษฐกิจที่ถูกกฎหมาย พวกเขายังต้องการเงิน และบ่อยครั้งที่ชาวบ้านในพื้นที่ยากจนต้องย้อนกลับไปเกี่ยวข้องกับการปลูกฝิ่นอีกเพื่อความอยู่รอด กลายเป็นวงจรที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์ของประเทศนี้”ดักลาส กล่าว