'จีน-อินเดีย'ลูกค้ารายใหญ่นำเข้าน้ำมันจาก“รัสเซีย”

'จีน-อินเดีย'ลูกค้ารายใหญ่นำเข้าน้ำมันจาก“รัสเซีย”

'จีน-อินเดีย'ลูกค้ารายใหญ่นำเข้าน้ำมันจาก“รัสเซีย”โดย ในเดือนมี.ค. ปริมาณนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียของจีนและอินเดียรวมกันมากกว่าการนำเข้าน้ำมันจากชาติสมาชิกอียู 27 ประเทศ

ขณะที่ชาติตะวันตกใช้มาตรการจำกัดการสั่งซื้อสินค้าที่รวมถึงน้ำมันและพลังงานในรูปแบบต่างๆจากรัสเซียเพื่อลงโทษรัสเซียที่ใช้กำลังทางทหารบุกโจมตียูเครนนั้น อินเดียและจีนเป็นสองประเทศในเอเชียที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ซื้อน้ำมันรายใหญ่สุดจากแดนหมีขาว

ทั้งนี้ สหภาพยุโรป (อียู)กลุ่มประเทศจี7 และออสเตรเลีย เห็นชอบร่วมกันที่จะควบคุมราคาน้ำมันจากรัสเซียและให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันจันทร์ (5 ธ.ค.) โดยมีเป้าหมายเพื่อจำกัดรายได้ของรัสเซีย พร้อมๆ กับทำให้มั่นใจได้ว่า รัสเซียยังมีน้ำมันป้อนตลาดโลก ซึ่งภายใต้ข้อตกลงนี้ อนุญาตให้ประเทศที่ 3 ใช้เรือบรรทุกน้ำมัน บริษัทประกันภัย และผู้ให้สินเชื่อจากจี7 และอียูขนส่งน้ำมันได้หากราคาน้ำมันซื้อมาในราคาไม่เกิน 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

การควบคุมราคาดังกล่าวมีผลบังคับใช้ควบคู่กับการที่อียู ห้ามซื้อขายน้ำมันดิบรัสเซียส่งมอบทางทะเล หลังจากที่สหรัฐและแคนาดาห้ามไปแล้วหลายเดือน

รัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับสองของโลก ถ้าไม่มีการควบคุมราคา รัสเซียก็สามารถหาลูกค้าใหม่ซื้อน้ำมันในราคาตลาดได้ไม่ยาก ซึ่งมาตรการนี้ทำให้น้ำมันที่ขายกันในราคาไม่เกิน 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเท่านั้นที่สามารถส่งมอบต่อไปได้

ด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ที่ผ่านมา รัสเซียได้ยื่นข้อเสนอต่อหลายประเทศในเอเชียเพื่อทำสัญญาระยะยาวในการขายน้ำมันที่ระดับราคาต่ำกว่าตลาดถึง 30% โดยลูกค้ารายใหญ่คืออินเดียและจีน
 

อินเดีย นำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปีและปริมาณนำเข้าเพิ่มสูงสุดในช่วงเดือนมิ.ย.กับเดือนก.ค. ส่วนช่วงที่เหลือของปีครอบคลุมถึงเดือนพ.ย.ปริมาณนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียยังคงสูงอยู่ 

ส่วนจีน ปริมาณนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียค่อนข้างผันผวน โดยปริมาณนำเข้าในเดือนก.พ.ซึ่งเป็นเดืิอนที่รัสเซียเปิดฉากบุกโจมตียูเครนปรับตัวลงแต่ปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายเดือนต่อมา

ในเดือนมี.ค. ปริมาณนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียของจีนและอินเดียรวมกันมากกว่าการนำเข้าน้ำมันจากชาติสมาชิกอียู 27 ประเทศ และตั้งแต่ปลายเดือนพ.ย.ปริมาณนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียของอินเดียก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก

“นี่เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าอินเดียนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียมากกว่าหลายประเทศสมาชิกอียู”แมทท์ สมิธ นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมน้ำมันจากบริษัท Kpler กล่าว

ขณะที่“วิเวียน บาลากริชนัน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ช่องซีเอ็นบีซีเมื่อวันอังคาร (6 ธ.ค.)เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำมันในรัสเซีย ว่า กรณีการกลับมาเปิดประเทศหลังโควิด-19 ระบาดของจีนจะเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมันมากกว่าการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย
 

“ผมคาดการณ์ว่าจีนจะเปิดประเทศอย่างชัดเจน โดยขณะนี้ปัจจัยดังกล่าวมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เหนือกว่าการกำหนดเพดานราคาน้ำมัน” บาลากริชนัน กล่าว

บาลากริชนัน แสดงความเห็นนี้ หลังจากรัสเซียตอบโต้ว่า มาตรการนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำศึกในยูเครน

ส่วนราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นในตลาดซื้อขายเอเชียเมื่อวันจันทร์ หลังจากจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ส่งสัญญาณผ่อนปรนการบังคับใช้มาตรการสกัดโควิด-19 เพิ่มเติม นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้แรงหนุนจากกรณีที่โอเปกพลัสระบุว่าจะคงนโยบายลดการผลิตน้ำมันตั้งแต่เดือนพ.ย.ถึงสิ้นปี 2566 ต่อไป

“ร็อบ ธัมเมล” ผู้จัดการพอร์ตการลงทุนของบริษัททอร์เทิส แคปิตอล ระบุว่า อุปสงค์น้ำมันของจีนลดลงประมาณ 1 ล้านบาร์เรลในปีนี้

“เห็นได้ชัดว่าปัจจัยที่จะช่วยหนุนอุปสงค์น้ำมันของจีนให้สูงขึ้นคือการเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือการเพิ่มสต็อกน้ำมัน สต็อกน้ำมันทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำ และผมคิดว่าทั่วโลกทราบดีว่าความมั่นคงด้านพลังงานค่อนข้างสำคัญ ดังนั้นนั่นจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญทั้งในจีน และอินเดีย ซึ่งจะหนุนการเติบโตด้านอุปสงค์น้ำมัน และหนุนราคาน้ำมัน” บาลากริชนัน กล่าว

ด้านบลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์ฉบับใหม่ระบุว่า เศรษฐกิจโลกกำลังจะเผชิญกับปีที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 30 ปี เนื่องจากวิกฤตการณ์พลังงานที่เป็นผลมาจากสงครามในยูเครนนั้น ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

“สกอตต์ จอห์นสัน” นักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์  คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพียง 2.4% ในปี 2566 ซึ่งลดลงจากปี 2565 ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.2% และจะเป็นอัตราการขยายตัวต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2536 โดยไม่นับรวมวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2552 และ 2563

อย่างไรก็ตาม ทิศทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศยังแตกต่างกัน โดยเศรษฐกิจของยูโรโซนจะเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงต้นปี 2566 และเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยในช่วงปลายปี 2566 ซึ่งสวนทางกับเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะขยายตัวมากกว่า 5% โดยได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลมีแนวโน้มยุตินโยบายโควิดเป็นศูนย์เร็วกว่าที่คาดไว้ รวมทั้งการใช้มาตรการฟื้นฟูตลาดอสังหาริมทรัพย์

จอห์นสัน กล่าวด้วยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจที่แตกต่างกันนี้จะเห็นได้จากการดำเนินนโยบายการเงินที่สวนทางกัน โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารต่าง ๆ ในยุโรปต่างก็ใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเป็นเวลานานนับปี ขณะที่จีนยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

“ในสหรัฐ การปรับตัวขึ้นของค่าจ้างจะทำให้เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมาย ซึ่งทำให้เราคาดว่า เฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนแตะระดับสูงสุดที่ 5% และจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวจนถึงไตรมาส 1 ของปี 2567 ส่วนในยูโรโซน  การชะลอตัวลงของเงินเฟ้อจะทำให้อัตราดอกเบี้ยขั้นสูงสุดปรับตัวลดลง และมีแนวโน้มที่จะทำให้ธนาคารกลางยุโรปปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี 2566” จอห์นสัน กล่าว