รู้จัก 'หวาง หยาง' ตัวเก็งนายกฯ จีนคนต่อไป ภายใต้'สี จิ้นผิง'ยุค3

รู้จัก 'หวาง หยาง' ตัวเก็งนายกฯ จีนคนต่อไป ภายใต้'สี จิ้นผิง'ยุค3

การประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 16 ต.ค.นี้ นอกจากการคาดหมายการต่ออายุวาระการดำรงตำแหน่งปธน.ของนายสี จิ้นผิง เป็นสมัยที่3 ยังคาดว่าจะมีการปรับตำแหน่งในครม. ทำให้แสงไฟสาดส่องไปที่นายหวาง หยาง ที่อาจจะก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ จีนคนต่อไป

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า "หวาง หยาง" สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน ระดับหัวหน้าจากมณฑลกวางตุ้ง กำลังถูกจับตามองว่า เขาคนนี้คือตัวเก็งคนหนึ่งที่อาจขึ้นรับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีจีน คนต่อไป ของจีน หาก"หลี่ เค่อเฉียง" นายกฯคนปัจจุบัน ก้าวลงจากตำแหน่ง

 เป็นที่คาดหมายว่าในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 นี้ "สี จิ้นผิง" จะรับตำแหน่งเลขาธิการพรรคสมัยที่3 ซึ่งการครองตำแหน่ง 3 สมัยเป็นเรื่องใหม่สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพราะก่อนหน้านี้ ธรรมนูญพรรคฯ กำหนดให้เลขาธิการพรรคฯ ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยนั้น ครองตำแหน่งได้เพียง 2 สมัย หรือ 10 ปี เท่านั้น แต่ต่อมาสภาประชาชนแห่งชาติจีนลงมติในปี 2561 ผ่านความเห็นชอบให้แก้ไขธรรมนูญของพรรคคอมมิวนิสต์ว่าด้วยวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี จากที่จำกัดไว้สูงสุดเพียง 2 สมัย ให้เป็นการดำรงตำแหน่งอย่างไม่มีกำหนด จึงเชื่อว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะได้รับการต่อวาระดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่3 ในการประชุมสมัชชาฯครั้งที่20 นี้

แต่นอกเหนือไปจากนั้น ยังคาดหมายจะมีการแต่งตั้งบุคคลในระดับผู้นำพรรค รวมถึงการกำหนดตัวบุคคลที่จะขึ้นมาเป็นผู้บริหารประเทศ รวมถึงการวางตัวบุคคลที่จะมารับหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อจากหลี่ ที่กำลังจะลงจากตำแหน่งในเดือนมี.ค.ปี2566 และทำให้ชื่อของหวาง วัย 67 ปี ปรากฏขึ้นในฐานะหนึ่งในตัวเก็งที่จะมารับตำแหน่งนี้

รู้จัก \'หวาง หยาง\' ตัวเก็งนายกฯ จีนคนต่อไป ภายใต้\'สี จิ้นผิง\'ยุค3

ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเปรียบได้กับ “ผู้นำอันดับสองของจีน” รองจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แต่อาจไม่ได้สำคัญมากนักในเชิงอิทธิพลเนื่องจากประธานาธิบดีสีได้รวมศูนย์อำนาจของเขาไว้เเล้วแต่นายกฯหลี่ นับว่ามีบทบาทสำคัญด้านเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐ

ช่วงที่หวาง ทำหน้าที่หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขากวางตุ้ง ซึ่งติดกับฮ่องกง เขาผลักดันการปรับปรุงอุตสาหกรรมที่ล้าสมัยและต้องการให้นโยบายภาคสังคมคำนึงถึงความเป็นอยู่ของคนทุกกลุ่ม

เมื่อปลายปี 2554 ขณะเกิดเหตุการณ์เผชิญหน้ากันกรณีเเย่งที่ดิน หวางได้ไล่เจ้าหน้าที่ที่คอร์รัปชั่นออกจากตำแหน่ง และยังเคยอนุญาตให้ผู้ประท้วงแย้งผลการเลือกตั้งท้องถิ่น ถือเป็นผลงานของเขาที่ได้รับการชื่นชมจากนานาชาติ

รอยเตอร์รายงานว่า หวาง ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเเม้ไม่ได้เกิดมามีฐานะดี เขาเคยเป็นลูกจ้างในโรงงานผลิตอาหาร และทำงานตั้งเเต่อายุยังน้อยเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวที่มีแม่ของเขาเป็นเเม่เลี้ยงเดี่ยว

รู้จัก \'หวาง หยาง\' ตัวเก็งนายกฯ จีนคนต่อไป ภายใต้\'สี จิ้นผิง\'ยุค3

หวางเริ่มก้าวหน้าในพรรคเมื่อได้รับความสนใจจากเติ้ง เสี่ยวผิง อดีตผู้นำจีนผู้ทรงอิทธิพล และต่อมาหวางยังสนิทสนมกับหู จิ่นเทา อดีตประธานาธิบดีจีน ที่ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 2545 ถึง 2555

ผู้ที่ได้พบกับหวาง กล่าวว่า เขาเป็นคนมีความมั่นใจในตัวเองและมีคุณลักษณะน่ายอมรับนับถือ เขาชอบที่จะปล่อยให้เห็นผมหงอก เเทนที่จะย้อมผมดำสนิท ซึ่งเเตกต่างจากคนระดับผู้นำของจีนคนอื่น ๆ

เมื่อ10 กว่าปีก่อน ขณะที่เขาได้พบปะกับนักข่าวที่เมืองกวางเจา หวางสนทนากับสื่อแบบไม่มีบทพูด และเเสดงให้เห็นถึงอารมณ์ขันของเขาในหลายประเด็นที่คุยกัน ซึ่งการวางตัวเป็นกันเองเช่นนี้ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่หวางแตกต่างจากผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์คนอื่นๆ อย่างชัดเจน

วิลลี เเลม ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญจีนศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยจีน ที่ฮ่องกง ให้ความเห็นว่า หวางเป็นคนหัวเสรีนิยมที่สุดในกลุ่มคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ หรือโปลิตบูโร ชุดปัจจุบัน

แต่ในช่วง 10 ที่ผ่านมาที่สี จิ้นผิงเป็นประธานาธิบดี การทำงานในทิศทางสายเสรีนิยมของหวางที่มณฑลกวางตุ้งมีน้อยลง ขณะที่เกิดมาตรการลดทอนบทบาทของสื่อและภาคประชาสังคมมากขึ้น

สำหรับบทบาทอื่น ๆ ของเขา หวางเคยรับผิดชอบงานด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงกับสหรัฐ

เมื่อปี 2560 เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งอยู่ในคณะกรรมการบริหารสูงสุดของพรรค โดยมีความอาวุโสเป็นอันดับ4 จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 7 คน หรือที่เรียกกันว่า "7อรหันต์" นอกจากนั้น หวางยังดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มที่ปรึกษาด้านการเมืองของพรรคที่ชื่อว่า Chinese People's Political Consultative Conference หรือ CPPCC

 มีคำถามที่น่าสนใจก็คือ ถ้าหากหวาง เป็นสายเสรีนิยมและเเตกต่างจากผู้นำพรรคตามขนบเดิม ๆ เพราะเหตุใดเขาจึงได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งคำตอบจากการรายงานของรอยเตอร์ คือ สี ให้ความไว้ใจหวาง หยาง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจากการที่หวางทำงานอย่างเงียบ ๆ และด้วยความจงรักภักดีต่อสีในช่วง 5 ปีที่อยู่ในคณะกรรมการใหญ่ของพรรค นอกจากนี้ ภายใต้การนำของสี จิ้นผิง หวางดูเหมือนว่าจะลดความคิดเสรีนิยมลง โดยเห็นได้จากการสะท้อนเเนวคิดเเข็งขันในเรื่องอำนาจของจีนต่อประเด็นการเมืองร้อน ๆ เช่น ไต้หวัน ซินเจียง และทิเบต และเเสดงออกเพื่อสนับสนุนสีอย่างชัดเจน

ยกตัวอย่างในการทำหน้าที่หัวหน้ากลุ่ม CPPCC ภายในพรรค หวางรับผิดชอบด้านนโยบายของพรรคที่มีต่อมณฑลซินเจียงทางตะวันตกของจีน ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวมุสลิม จำนวนที่อาจมากถึงหนึ่งล้านคนถูกคุมตัวให้อยู่ค่ายกักกัน

รอยเตอร์รายงานว่า ก่อนที่ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เดินทางเยือนซินเจียงในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาท่ามกลางเสียงวิจารณ์จีนจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน หวางกล่าวว่าชาวมุสลิมในซินเจียงอยู่กันอย่างมี "ความสุข” และมี “ความมั่นคง" ในชีวิต สอดคล้องตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว สื่อใหญ่ของทางการ

รู้จัก \'หวาง หยาง\' ตัวเก็งนายกฯ จีนคนต่อไป ภายใต้\'สี จิ้นผิง\'ยุค3