รู้จัก‘อุซเบกิสถาน’ เจ้าภาพประชุมเอสซีโอ

รู้จัก‘อุซเบกิสถาน’   เจ้าภาพประชุมเอสซีโอ

การพบกันระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย นอกรอบการประชุมผู้นำองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (เอสซีโอ) ที่ซามาร์คันด์เมืองเส้นทางสายไหมโบราณของอุซเบกิสถานกำลังเป็นที่จับตา เพราะนี่คือการพบกันของผู้นำโลกที่มีมิตรภาพต่อกันอย่างชัดเจน ก่อนที่ประธานาธิบดีสีอาจมีโอกาสพบกับประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐที่มีความขัดแย้งกันอย่างเห็นได้ชัด การประชุมเอสซีโอและประเทศอุซเบกิสถานจึงมีความน่าสนใจ

สถานกงสุลใหญ่สาธารณรัฐอุซเบกิสถานเผยว่า อุซเบกิสถานเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ที่เซี่ยงไฮ้) ร่วมกับ จีน รัสเซีย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และทาจิกิสถาน

 องค์กรนี้มีส่วนช่วยในการเจรจาทางการเมืองที่เท่าเทียมกันในประเด็นของวาระระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคกับประเทศสมาชิกหลักอย่างจีน รัสเซีย และอินเดีย อุซเบกิสถานเคยเป็นประธานเอสซีโอมาแล้วสามครั้ง ในการประชุมสุดยอดที่จัดขึ้นใน พ.ศ. 2559 ณ เมืองทาชเคนต์ มีการบรรลุข้อตกลงที่สำคัญซึ่งทำให้อินเดียและปากีสถานมีสถานะเป็นประเทศสมาชิกเอสซีโอได้ใน พ.ศ. 2560

พ.ศ. 2564 ขั้นตอนรับอิหร่านเป็นสมาชิกเอสซีโอเริ่มต้นขึ้นในการประชุมสุดยอดดูชานเบ  คาดว่าจะลงนามในบันทึกข้อตกลง ณ เมืองซามาร์คันด์ในปีนี้ 

ความสำคัญในแง่เศรษฐกิจของเอสซีโอคือ อาณาเขตของประเทศสมาชิกมีมากกว่า 34 ล้านตารางกิโลเมตร  (60% ของยูเรเซีย) ประชากรเกิน 3.4 พันล้านคน จีดีพีรวมกันคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 22% ของเศรษฐกิจโลก

การประชุมผู้นำเอสซีโอที่ซามาร์คันด์ ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้นำประเทศสมาชิกมาเจอกันด้วยตนเองในรอบสามปีที่ผ่านมา ถือเป็นโอกาสพิเศษและน่าสนใจในการหารือประเด็นระดับทวิภาคี ภูมิภาค และระดับโลกที่สั่งสมมาในช่วงโควิด-19 ระบาด

ทั้งยังเป็นการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกในรอบกว่าสองปีครึ่งของประธานาธิบดีสี ตอกย้ำให้เห็นบทบาทสำคัญของเอเชียกลางในนโยบายต่างประเทศของจีน

ผู้เข้าร่วมการประชุมเป็นประมุขของรัฐ 15 คน ประธานองค์การระหว่างประเทศ 10 คน การประชุมผู้นำครั้งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องยืนยันถึงอิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นของอุซเบกิสถานและอำนาจของผู้นำในฐานะนักการเมืองระหว่างประเทศ ที่ผ่านมาอุซเบกิสถานดำเนินการหลายอย่างปรับสมดุลผลประโยชน์ของสมาชิกทั้งใหญ่ กลาง และเล็กในเอสซีโอ การกระทำเช่นนี้เปิดให้รัฐบาลทาชเคนต์ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจมากขึ้นในหมู่รัฐพันธมิตร

คาดด้วยว่าในการประชุมจะมีการหารือถึงประเด็นความมั่นคงและพัฒนาการในอัฟกานิสถานหลังทหารต่างชาติถอนตัวออกไป เห็นได้ว่าเอสซีโอมีบทบาทและความสำคัญเพิ่มขึ้นมากในการปรับสถานการณ์ในอัฟกานิสถานให้เป็นปกติ

ในประเด็นนี้ ประธานาธิบดีชัฟคัต มีร์ซีโยเยฟ ของอุซเบกิสถานได้ทำโครงการริเริ่ม จัดประชุมระดับเจ้าหน้าที่ระดับสูง “เอสซีโอ-อัฟกานิสถาน” เป็นประจำ เป็นการประชุมร่วมของทุกประเทศสมาชิก และผู้สังเกตการณ์ ประกอบด้วยอาเซอร์ไบจัน อาร์เมเนีย ตุรกี กัมพูชา เนปาล อียิปต์ กาตาร์ และซาอุดีอาระเบีย รวมถึงองค์การระหว่างประเทศเกิดเป็นการประชุมนานาชาติ “อัฟกานิสถาน: ความมั่นคงและการพัฒนาเศรษฐกิจ” ที่กรุงทาชเคนต์ เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา