‘ปัสสาวะ’สร้างอาหาร โอกาสของปุ๋ยธรรมชาติ

‘ปัสสาวะ’สร้างอาหาร  โอกาสของปุ๋ยธรรมชาติ

“ไปฉี่รดต้นคูบาร์บโน่น!” วิศวกรนาม ฟาเบียง เอสคูลิเยร์ไม่เคยลืมวิธีการแหวกแนวที่ยายเขาสอนในการทำสวน ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว มันได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับอาชีพของเขา

ปัสสาวะมนุษย์อาจดูเหมือนเป็นวิธีดิบเถื่อนหากนำไปทำปุ๋ยใส่พืชยุคเกษตรอุตสาหกรรม แต่เมื่อนักวิจัยมองหาวิธีลดพึ่งพาสารเคมีและลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม หลายคนหันมาสนใจศักยภาพของปัสสาวะมากขึ้น

เอสคูลิเยร์ ผู้ทำโครงการวิจัย OCAPI ในฝรั่งเศส ศึกษาการจัดการของเสียมนุษย์และระบบอาหาร อธิบายว่าพืชต้องการสารอาหาร ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม แล้วเราย่อยสารอาหารเหล่านีี้ผ่านอาหาร ก่อน “ปลดปล่อย ส่วนใหญ่ผ่านปัสสาวะ” ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คิดว่า นี่คือโอกาส

ปุ๋ยใช้ไนโตรเจนสังเคราะห์ซึ่งใช้กันมาราวร้อยปีแล้ว ช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่และเพิ่มสินค้าเกษตรเลี้ยงประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ แต่เมื่อใช้ปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์ในปริมาณมาก ก็จะไหลลงสู่ระบบแม่น้ำและทางน้ำอื่นๆ สกัดการเบ่งบานของสาหร่ายที่อาจฆ่าปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ได้

ขณะเดียวกันการปล่อยแอมโมเนียจากภาคการเกษตรนี้สามารถรวมกับควันรถ สร้างมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายได้ด้วย ไม่เพียงเท่านั้นปุ๋ยเคมีอาจปล่อยก๊าซเรือนกระจกไนตรัสออกไซด์ที่มีส่วนทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง แต่มลพิษไม่ได้มาตรงๆ จากท้องทุ่งนา

“การสุขาภิบาลในปัจจุบันเป็นหนึ่งในแหล่งที่มาเบื้องต้นของมลพิษทางโภชนาการ” จูเลีย คาวิคชี จากสถาบันเอิร์ธริช สหรัฐ กล่าวและว่า ปัสสาวะคิดเป็นราว 80% ของไนโตรเจนที่พบในน้ำเสีย และกว่าครึ่งของฟอสฟอรัส การใช้ปัสสาวะทดแทนปุ๋ยเคมี จำเป็นต้องใช้ปัสสาวะบำบัดแล้วน้ำหนักมากกว่าปุ๋ยเคมีหลายเท่า

แต่เธอเสริม "เนื่องจากการผลิตไนโตรเจนสังเคราะห์เป็นแหล่งใหญ่ของก๊าซเรือนกระจก ฟอสฟอรัสเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดและหมุนเวียนไม่ได้ การนำปัสสาวะมาใช้ประโยชน์จึงเป็นตัวแบบระยะยาวที่ยืดหยุ่นสำหรับจัดการของเสียมนุษย์และผลผลิตทางการเกษตร

การศึกษาชิ้นหนึ่งในปี 2563 โดยคณะนักวิจัยสหประชาชาติพบว่า น้ำเสียทั่วโลกในทางทฤษฎีมีศักยภาพชดเชยความต้องการไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียมในภาคเกษตรได้ 13% แต่การปรับเปลี่ยนปัสสาวะเพื่อนำมาใช้ประโยชน์พูดง่ายกว่าทำ

แปลกประหลาดอย่างมาก

ในอดีตของเสียในเมืองถูกขนส่งไปทุ่งนาเพื่อใช้ทำปุ๋ยควบคู่กับปุ๋ยคอก ก่อนที่ปุ๋ยเคมีเข้ามาแทนที่ แต่ตอนนี้ถ้าคิดจะเก็บปัสสาวะจากต้นทางจำเป็นต้องคิดใหม่เรื่องสุขาและระบบบำบัดน้ำเสีย เคยมีการเริ่มทำโครงการนำร่องโครงการหนึ่งในสวีเดนช่วงต้นทศวรรษ 90 กับหมู่บ้านบางแห่ง ตอนนี้มีหลายโครงการในสวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี สหรัฐ แอฟริกาใต้ เอธิโอเปีย อินเดีย เม็กซิโก และฝรั่งเศส

“การใช้นวัตกรรมเชิงนิเวศต้องใช้เวลา โดยเฉพาะนวัตกรรมแยกน้ำปัสสาวะซึ่งแปลกประหลาดมากๆ” โทฟ ลาร์เซน นักวิจัยจากสถาบันวิจัยน้ำ Eawag ของสวิตเซอร์แลนด์กล่าวและว่า สุขาแยกเก็บปัสสาวะช่วงแรกถูกมองว่า ไม่น่าดูและใช้งานไม่ได้ ทั้งยังน่ากังวลเรื่องกลิ่นไม่พึงประสงค์

แต่เธอหวังว่าโมเดลใหม่ที่พัฒนาโดย Laufen และ Eawag สองบริษัทสวิตเซอร์แลนด์จะแก้ไขความยุ่งยากเหล่านี้ได้ด้วยการออกแบบกรวยเก็บปัสสาวะแยกไปยังโถเก็บต่างหากแล้วนำไปเข้าสู่กระบวนการ

โดยปกติแล้วปัสสาวะไม่ใช่พาหะหลักนำโรค ด้วยเหตุนี้องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) จึงแนะนำให้ทิ้งปัสสาวะไว้ระยะหนึ่ง แม้สามารถพาสเจอร์ไรซ์ได้ด้วยก็ตาม จากนั้นมีหลายวิธีทำให้เข้มข้นหรือแม้แต่เอาน้ำออกเพื่อลดปริมาณและต้นทุนการขนส่งไปยังทุ่งนา

สุขาชวนเซอร์ไพรส์

อีกหนึ่งความท้าทายคือการเอาชนะความสะอิดสะเอียนของผู้คน กิชแลง เมอร์ซิเออร์จากสำนักงานจัดการมหานครปารีสเล่าว่า สำนักงานกำลังพัฒนาย่านรักสิ่งแวดล้อมย่านหนึ่งในกรุงปารีส ประกอบด้วยร้านค้าและบ้านเรือน 600 ยูนิต ที่จะเก็บปัสสาวะไปเป็นปุ๋ยในย่านสีเขียวของเมือง

เขามองเห็นศักยภาพอย่างมากในอาคารใหญ่ เช่น สำนักงานและบ้านเรือนที่ไม่ได้เชื่อมกับท่อระบายน้ำหลัก แม้กระทั่งร้านอาหาร ในกรุงปารีสมี 211 ร้านติดตั้งสุขาไร้น้ำเพื่อเก็บปัสสาวะ

“เราได้รับการตอบรับที่ดีทีเดียวล่ะ ผู้คนแปลกใจเล็กน้อย แต่มองว่าสุขาแยกเก็บปัสสาวะของเราไม่ได้แตกต่างจากระบบที่ใช้กันมาแต่ดั้งแต่เดิม” ฟาเบียน กันโดซีเจ้าของร้านเล่าถึงระบบสุขาไม่ใช้น้ำเพื่อแยกเก็บปัสสาวะในร้าน 

แต่ประชาชนพร้อมจะก้าวไปอีกขั้นหรือยัง นั่นคือการรับประทานอาหารที่ใส่ปุ๋ยปัสสาวะ

การศึกษาชิ้นหนึ่งในหัวข้อนี้ตอกย้ำความแตกต่างในแต่ละประเทศ ประเทศที่อัตราการยอมรับสูงมาก ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส และยูกันดา เป็นต้น แต่การยอมรับในโปรตุเกสและจอร์แดนอยู่ในระดับต่ำ

น้ำมีค่า

ตอนนี้ราคาปุ๋ยสังเคราะห์พุ่งสูงจากความขาดแคลนเพราะรัสเซียรุกรานยูเครน ทั้งยังกระตุ้นให้ประเทศทั้งหลายต้องพิจารณาเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร

“นั่นอาจเป็นโอกาสทำให้ประเด็นนี้เห็นชัดมากขึ้น” เมอร์ซิเออร์ มารีน เลอกรองด์ นักมานษยุวิทยาที่ทำงานกับเอสคูลิเยร์ในเครือข่าย OCAPI กล่าวพร้อมย้ำว่า ยังมีอุปสรรคให้ต้องฝ่าฟันกันอีกมาก แต่เธอเชื่อว่าการขาดแคลนน้ำและความตระหนักรู้ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่องผลเสียของมลพิษจะช่วยเปลี่ยนใจคน

“เรากำลังเริ่มเข้าใจว่า น้ำมีค่าขนาดไหน การปล่อยน้ำทิ้งไปเปล่าๆ จึงเป็นเรื่องรับไม่ได้”