NIA ขยายผล พ.ร.บ. สตาร์ตอัป พร้อมชี้ 3 เทรนด์สตาร์ตอัปไทยไปแล้วรุ่งในปี 67

NIA ขยายผล พ.ร.บ. สตาร์ตอัป พร้อมชี้ 3 เทรนด์สตาร์ตอัปไทยไปแล้วรุ่งในปี 67

เอ็นไอเอฉายแสงสตาร์ตอัปไทย เจาะความคืบหน้า พ.ร.บ. สตาร์ตอัป พร้อมอัพเดต 3 เทรนด์สตาร์ตอัปไทย ได้แก่ Climate Tech, EV Tech และ Creative Tech ทำธุรกิจแล้วรุ่งในปีมังกรทอง

หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้เริ่มรู้จักกับโมเดลธุรกิจสตาร์ตอัป ซึ่งเป็นโมเดลที่ขับเคลื่อนให้เกิดการจ้างงานใหม่ และกระตุ้นระบบเศรษฐกิจที่อาศัยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเป็นตัวกำหนดมูลค่า

ทั้งนี้ หากนับเส้นทางการเริ่มสนับสนุนโมเดลธุรกิจดังกล่าวตั้งแต่ช่วงปี 2016 จนถึงปี 2024 นี้ จะพบว่าประเทศไทยมีความเคลื่อนไหวในแวดวงสตาร์ตอัปที่น่าสนใจไม่น้อย และมีความสำเร็จที่เห็นได้ทั้งระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลง การเกิดยูนิคอร์น การเกิดธุรกิจสร้างสรรค์ใหม่ และภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่มีนักลงทุนไทยและต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจมากขึ้น 

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ในฐานะผู้บุกเบิกการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัปตั้งแต่แรกเริ่ม ขอนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับความก้าวหน้าสตาร์ตอัปไทยมาฝากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งโอกาสในการทำให้ธุรกิจสตาร์ตอัปไทยเฉิดฉายในเวทีโลกได้ยิ่งกว่าเดิม 

NIA ขยายผล พ.ร.บ. สตาร์ตอัป พร้อมชี้ 3 เทรนด์สตาร์ตอัปไทยไปแล้วรุ่งในปี 67

“พ.ร.บ. สตาร์ตอัป” กฎหมายช่วยส่งเสริมธุรกิจสตาร์ตอัปไทย

แม้ปัจจุบันธุรกิจสตาร์ตอัปในประเทศไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่กฎหมายที่ใช้อยู่ยังมีข้อจำกัดบางประการที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของสตาร์ตอัป ทำให้สตาร์ตอัปไทยหลายแห่งเลือกจัดตั้งธุรกิจจากต่างประเทศ เนื่องจากกฎหมายของต่างประเทศนั้นเอื้อต่อการประกอบธุรกิจมากกว่า และต่างก็มีกฎหมายเฉพาะสำหรับสตาร์ตอัป 

ที่ผ่านมา NIA ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาและส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (พ.ร.บ. สตาร์ตอัป) ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคของธุรกิจสตาร์ตอัป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยดำเนินการภายใต้หลักการสำคัญ 3 ข้อ คือ 

1) เน้นการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจและการระดมทุนก่อน แล้วจึงขยายสู่การปรับปรุงกฎหมายในประเด็นที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจสตาร์ตอัปต่อไป 

2) ร่างกฎหมายที่จะเสนอจะต้องไม่สร้างคณะกรรมการหรือหน่วยงานขึ้นใหม่ จึงได้กำหนดให้ NIA เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลสตาร์ตอัปตั้งแต่ต้น และกำหนดกลไกให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องร่วมกันส่งเสริมธุรกิจสตาร์ตอัป

3) กำหนดลักษณะหรือนิยามของธุรกิจสตาร์ตอัปที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายให้กว้างขวาง และอาจนำระบบการขึ้นทะเบียนอย่างง่ายหรือการให้ธุรกิจสตาร์ตอัปรับรองตนเองที่มีการใช้ในต่างประเทศมาปรับใช้ เพื่อลดภาระในการปฏิบัติตามกฎหมายหรือการขอรับการส่งเสริมของผู้ประกอบการ

NIA ขยายผล พ.ร.บ. สตาร์ตอัป พร้อมชี้ 3 เทรนด์สตาร์ตอัปไทยไปแล้วรุ่งในปี 67

เทรนด์สตาร์ตอัปไทย ปรับตัวไว ไปรุ่ง 

NIA ขอนำเสนอ 3 เทรนด์นวัตกรรมมาแรง ที่จะเป็นสปอตไลท์สำหรับการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ได้แก่ 

  • Climate Tech – เทคโนโลยีเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เทรนด์ที่เกิดขึ้นตามเป้าหมายของประเทศไทยที่ต้องการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 40 ภายในปี 2573 จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทุกภาคส่วนเกิดการตื่นตัว

เช่น การมองหาพลังงานทางเลือกที่สะอาดและหมุนเวียนได้ ควบคู่กับความก้าวหน้าในการกักเก็บพลังงาน การพัฒนาเทคโนโลยีดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน เพื่อนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในกระบวนการผลิตที่หลากหลายต่อไป ถือเป็นการหมุนเวียนทรัพยากรและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในคราวเดียวกัน

ซึ่งจะมีทั้งผู้เล่นรายใหม่อย่างสตาร์ตอัป และผู้เล่นรายใหญ่ที่มองหาเทคโนโลยีทางเลือกเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ที่นำมาซึ่งการสร้างคุณค่าในการมีส่วนร่วมให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) ของผู้คนในสังคม เช่น สินค้ารักษ์โลก แพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นต้น

  • EV Tech – เทคโนโลยีเพื่อตอบกระแสยานยนต์ไฟฟ้า

กำลังเข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยมีเป้าหมายผลิตยานยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 30 ของปริมาณการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบตเตอรี่และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นแรงหนุนที่ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว อีกทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีวัสดุขั้นสูงที่ช่วยให้ยานยนต์มีความคล่องตัว ระบบปฏิบัติการอัจฉริยะที่เข้ามาเปิดโลกใหม่ในการขับขี่ที่ปลอดภัยมากขึ้น 

รวมถึงมาตรการอุดหนุนจากภาครัฐสำหรับผู้ผลิตและผู้ซื้อยานยนต์ไฟฟ้า ดึงดูดให้ตลาดกลุ่มนี้มีผู้เล่นหลากหลายตลอดห่วงโซ่คุณค่า ส่งผลให้เกิดกลไกการแข่งขันที่ผลักดันมาตรฐานสินค้าและบริการให้สูงขึ้น

นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ด้านโครงสร้างพื้นฐานในการอัดประจุไฟฟ้า และแพลตฟอร์มใช้บริการร่วมกัน มีส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างระบบนิเวศที่อำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการที่หลากหลายและมีความเชื่อมั่นในการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

  • Creative Tech – เทคโนโลยีสร้างสรรค์

กำลังเข้ามาเปลี่ยนโฉมภูมิทัศน์ด้านศิลปะ วัฒนธรรม การออกแบบ และความบันเทิงในสังคมไทย จะถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โลกจริงและโลกเสมือนจะถูกเชื่อมต่อกันผ่านเลนส์บาง ๆ ปัจจุบันมีหลากหลายเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เข้ามามีบทบาทกับชีวิตผู้คน

เช่น เทคโนโลยีความเป็นจริงต่อขยาย (XR) ระบบชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด แอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มออนไลน์ การบูรณาการปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น 

เทคโนโลยีและนวัตกรรมเหล่านี้เข้ามามีบทบาทกับกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และสร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง ทั้งการท่องเที่ยว สื่อดิจิทัล ภาพยนตร์ แฟชั่น เกมและแอนิเมชั่น ที่นอกจากจะช่วยยกระดับประสบการณ์ความเพลิดเพลินระดับบุคคลแล้ว ยังช่วยยกระดับเศรษฐกิจและเพิ่มอำนาจต่อรองของประเทศในเวทีโลกผ่านซอฟต์พาวเวอร์ได้อีกด้วย

ซึ่งประเทศไทยมุ่งผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเชื่อมโยงความเป็นไทยสู่สากลและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศต่อไป