เข็มทิศนวัตกรรม Corporate Innovation | ต้องหทัย กุวานนท์

เข็มทิศนวัตกรรม Corporate Innovation | ต้องหทัย กุวานนท์

เมื่อเร็วๆ นี้ สภาหอการค้านานาชาติ (ICC) ที่มีสมาชิกเป็นองค์กรธุรกิจทั่วโลกในกว่า 100 ประเทศ ร่วมกับ Mind The Bridge องค์กรที่พัฒนาระบบนิเวศความร่วมมือระหว่างสตาร์ตอัปและองค์กรธุรกิจ ได้ประกาศรางวัล Corporate Startup Stars ประจำปี 2023

รางวัลที่มอบให้ธุรกิจที่มีผลงานโดดเด่นในการขับเคลื่อนนวัตกรรม โดยร่วมมือกับสตาร์ตอัปภายนอกองค์กร หรือมีโมเดลการสร้างสตาร์ตอัปภายในองค์กร ที่สามารถทำให้เกิดผลลัพธ์ในการทรานส์ฟอร์มธุรกิจเดิมหรือทำให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ 

สำหรับปีนี้องค์กรที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคือ ไมโครซอฟท์ โดยเหตุผลหลักที่ทำให้ไมโครซอฟท์ได้รับรางวัลนี้คือ การร่วมมือเป็นพันธมิตรกับสตาร์ตอัปมาแรงอย่าง Open AI ในการนำเอา ChatGPT เข้ามาเสริมประสิทธิภาพให้กับผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์ อย่างเช่น Microsoft Office, Bing และอีกหลายผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Enterprise AI 

นอกจากนั้น การที่ไมโครซอฟท์ขับเคลื่อนโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการด้านความยั่งยืนอย่าง Global Entrepreneurship for Positive Impact Program ก็ถือว่าเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยยกระดับระบบนิเวศนวัตกรรมของโลก

นอกจากไมโครซอฟท์ก็ยังมีองค์กรอื่นๆ ที่ได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมองค์กร เช่น Airbus กับโครงการ Airbus Scale ที่พัฒนาสตาร์ตอัปในองค์กรควบคู่ไปกับการร่วมลงทุนในโซลูชันของสตาร์ตอัป เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และสร้างการเติบโตในธุรกิจแอโรสเปซ 

ขณะเดียวกันยังมี Bosch และ AXA ที่ใช้โมเดล Venture Client ตั้งหน่วยงานที่เป็น Venture Client Unit ขึ้นมาเพื่อค้นหาโซลูชันจากสตาร์ตอัปที่จะแก้ปัญหาให้กับแต่ละหน่วยธุรกิจในองค์กร

โดยหน่วยงานนี้จะเน้นไปที่การทดลองทำ Pilot Project กับสตาร์ตอัปโดยทดลองซื้อผลิตภัณฑ์และบริการจากสตาร์ตอัป มาใช้งานในก่อนที่จะตัดสินใจพาร์ตเนอร์หรือลงทุนในสตาร์ตอัป 

บริษัทขนาดใหญ่อย่าง L'Oréal, BMW, Siemens ก็กำลังใช้กลไก Venture Client ในการสร้างนวัตกรรมใหม่เช่นกัน จากข้อมูลของ Mind the Bridge พบว่าองค์กรที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรม กำลังก้าวไปข้างหน้าอีกขั้นในการเลือกแนวทางการพัฒนานวัตกรรมองค์กร 

โดยเข็มทิศการเปลี่ยนแปลงกำลังชี้ไปในทางเดียวกันคือ การโฟกัสกับการสร้างนวัตกรรมที่เน้นไปที่การสร้างโปรดักต์ หรือบริการที่จับต้องได้ โดยใช้วิถีการต่อยอดกับพาร์ตเนอร์ในที่มีความแตกต่างจากเดิม ไม่ว่าจะเป็น ต่างไซส์ ต่างอุตสาหกรรม ต่างช่องทาง หรือกระทั่งต่างโมเดลธุรกิจ

ช่วงปีสองปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในทิศทางการพัฒนานวัตกรรมองค์กร โมเดลการขับเคลื่อนนวัตกรรมหลายโมเดลถึงจุดอิ่มตัว เช่น การเร่งสร้างธุรกิจหรือบ่มเพาะนวัตกรรมจากภายนอกในรูปแบบการทำ Accelerator

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการที่เป็นสเกลใหญ่และต้องใช้งบประมาณมาก สตาร์ตอัปส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการไม่ได้อะไรกลับไป ในขณะที่ฝั่งองค์กรเองก็ไม่สามารถพัฒนาโซลูชันหรือสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ได้จริง 

ส่วนโมเดลที่เกิดขึ้นใหม่อย่างการสร้างผู้ประกอบการในองค์กร เช่น โปรแกรม Intrapreneurship หรือ Venture Builder ที่กำลังอยู่ในระยะตั้งไข่ก็มีทิศทางการเติบโตที่ดีเช่นเดียวกันกับการทำโมเดล Venture Client หรือกระทั่งการสร้าง Open Innovation Outpost แบบรีโมตในคลัสเตอร์นวัตกรรมหลักของโลก เช่น อิสราเอล ซิลิคอนแวลลีย์ บอสตัน เป็นต้น

ปี 2024 ที่กำลังจะย่างเข้ามาในอีกไม่กี่วันข้างหน้า จะเป็นปีสำคัญของการปรับจูนเข็มทิศองค์กรในการสร้างนวัตกรรม การเร่งสร้าง เร่งพัฒนา บนทิศทางที่ไม่ใช่ อาจส่งผลเสียมากกว่าแค่เสียเวลาหรืองบประมาณ ราคาที่ต้องจ่ายอาจหมายถึงการทำให้องค์กรติดหล่มเสียศูนย์ไปเลยก็เป็นได้