STC-4 อีวีพลังแสงอาทิตย์ หนุนไทยฮับยานยนต์แห่งอนาคต

STC-4 อีวีพลังแสงอาทิตย์ หนุนไทยฮับยานยนต์แห่งอนาคต

ชวนรู้จัก STC-4 รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ฝีมือคนไทย เตรียมสู่สนามแข่งขันระดับโลก Bridgestone World Solar Challenge 2023 ออสเตรเลีย ปูทางสู่นวัตกรรมยานยนต์สมัยใหม่

STC-4 รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ รุ่นที่ 4 ออกแบบอิงมาตรฐานเดียวกับการผลิตรถยนต์เชิงพาณิชย์ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) พร้อมลงสนามแข่งระดับโลก Bridgestone World Solar Challenge 2023 ออสเตรเลีย หวังปูทางการพัฒนานวัตกรรมยานยนต์สมัยใหม่ให้มีประสิทธิภาพ และร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต

“การส่งผลงานเข้าประกวดรายการระดับโลก เป็นโอกาสสำคัญในการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง ผู้เข้าร่วมจะได้รับประสบการณ์มากมายที่สามารถต่อยอดและพัฒนาต่อได้ และยังเป็นการลงทุนในอนาคตที่มีความเป็นไปได้สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในยุคสมัยต่อจากนี้

จึงนับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ไม่ใช่เพียงส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยยกระดับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไปพร้อมๆ กัน” ผศ.พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช อธิการบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม กล่าว

STC-4 อีวีพลังแสงอาทิตย์ หนุนไทยฮับยานยนต์แห่งอนาคต

มาตรฐานการผลิตรถเชิงพาณิชย์

จิรวัตน์ กรุณา รักษาการคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี หนึ่งในทีมออกแบบ กล่าวว่า STC-4 เป็นรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คันที่ 4 ของไทยที่ได้ลงแข่งขันระดับโลก ก่อนหน้านี้รถรุ่นแรกพัฒนาในปี 2558 ตามมาด้วยรุ่น 2 ปี 2560 และรุ่น 3 ในปี 2562 ตลอดจน STC-4 หรือ Thainamic ที่เพิ่งเปิดตัวเป็นทางการในปี 2566

STC-4 เป็นรถต้นแบบ 4 ที่นั่ง โครงรถใช้วัสดุไฟเบอร์กลาส เพื่อให้รถมีน้ำหนักเบา ช่วยให้รถวิ่งได้ระยะทางไกลมากขึ้น ถูกออกแบบให้มีโครงสร้างใกล้เคียงกับรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันมากที่สุด โดยใช้มาตรฐานเดียวกับการผลิตรถยนต์เชิงพาณิชย์

โดยมีหน้ากว้าง 2 เมตร ยาว 4 เมตร และสูง 1.6 เมตร สามารถทำความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยทำระยะทางได้ถึง 1,200 กิโลเมตร/ชาร์จ จากพลังงานไฟฟ้าที่มาจากแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียว

ภายนอกของรถถูกออกแบบให้มีสามสีตามธงชาติไทย ได้แก่ ขาว แดง น้ำเงิน และมีการเพิ่มรายละเอียดข้างรถเป็นลวดลายคล้ายหางปลากัดไทย แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ได้อย่างโดดเด่น นอกจากนี้ ยางรถยนต์จะเป็นแบบ Ecopia ชนิดพิเศษ ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ

ทั้งนี้ ระบบสื่อสารข้อมูลภายในรถจะเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายในรถผ่านระบบคลาวด์ และถูกส่งมาแสดงผลที่หน้าจอให้ผู้ขับได้รับรู้ข้อมูล อาทิ ความเร็วรถ ตำแหน่งที่ตั้ง พลังงานแบตเตอรี่ ค่าแรงดันเซลล์แบตเตอรี่ อุณหภูมิภายในแบตเตอรี่ พลังงานที่คงเหลือในแบตเตอรี่ เป็นต้น

STC-4 อีวีพลังแสงอาทิตย์ หนุนไทยฮับยานยนต์แห่งอนาคต

อย่างไรก็ตาม ตัวรถมีระบบช่วยบังคับเลี้ยวแบบไฟฟ้าล้อหน้า ทำให้ช่วยผ่อนแรงผู้ขับในขณะบังคับเลี้ยว และมี Electronic Differentail System ช่วยในการควบคุมความเร็วมอเตอร์ในขณะรถแล่นในทางโค้งหรือขณะเลี้ยวรถ ทำให้รัศมีวงเลี้ยวของตัวรถแคบลง

“โมเดลรุ่นที่ 4 เน้นการใช้งานบนท้องถนนได้จริง ด้านบนของรถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ซิลิกอนแบบผลึกเดี่ยว เพราะในอนาคตจะถูกต่อยอดให้เป็นรถไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เชิงพาณิชย์ โดยโปรเจกต์นี้มีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมออกแบบเพื่อให้สวยงาม ทันสมัย ภายในห้องโดยสารยังกว้างขวาง นั่งสบาย” จิรวัตน์ กล่าว

สนามแข่งระดับโลก

STC-4 พัฒนาสำหรับลงแข่งรายการ Bridgestone World Solar Challenge 2023 ระหว่างวันที่ 22-29 ต.ค.2566 มีผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด และสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD)

การแข่งขันเริ่มต้นจากเมืองดาวิน (Darwin) ทางตอนเหนือ ไปจนถึงเมืองแอดิเลด (Adelaide) ทางตอนใต้สุด รวมทั้งหมด 11 เมืองในออสเตรเลีย เป็นระยะทาง 3,022 กิโลเมตรที่ผู้เข้าแข่งขันต้องขับผ่าน โดยมีผู้เข้าร่วม 50 ทีมจาก 25 ประเทศ ใช้เวลาแข่งขัน 6 วัน จำนวน 50 ชั่วโมง 

สนามแข่งขันมีสภาพอากาศที่หลากหลาย รวมไปถึงทะเลทรายที่มีอุณหภูมิสูง 45-50 องศาเซลเซียส และบางพื้นที่อาจมีฝนตกบ่อยจนทำให้มีอุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 15 องศา ผู้เข้าแข่งขันสามารถจอดชาร์จพลังงานได้เพียง 2 ครั้งต่อการแข่ง

“การแข่งขันในครั้งนี้แม้จะมีความท้าทายที่สูง หากแต่จะทำให้ทางทีมผู้พัฒนาและผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้รับองค์ความรู้ ประสบการณ์ และนวัตกรรมที่เป็นแรงบันดาลใจและเป็นประโยชน์เพื่อพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ หรือนวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับประเทศไทยจนถึงระดับนานาชาติต่อไป” จิรวัตน์ ชี้จุดสรุป

ขับเคลื่อนยานยนต์สมัยใหม่

ชัยวุฒิ หลักเมือง ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน กฟผ. กล่าวว่า การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเพื่อลดมลภาวะทางอากาศและสิ่งแวดล้อมนั้นมีความสำคัญ โดยโครงการออกแบบและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ STC-4 นั้น สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าตามแผนอนุรักษ์พลังงาน

รวมถึงแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของประเทศ และเป็นการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า 

จึงเห็นความเหมาะสมในการสนับสนุนโครงการดังกล่าว ที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการออกแบบรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของนักศึกษาไทยสู่การแข่งขันด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีระดับโลก