“เทคโนโลยี” สำหรับ "นักท่องเที่ยวยุคดิจิทัล"

“เทคโนโลยี” สำหรับ "นักท่องเที่ยวยุคดิจิทัล"

การใช้ ‘เทคโนโลยี’ ในการยกระดับประสบการณ์การท่องเที่ยว จัดเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการเจาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ หากจะนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องเข้าใจก่อนว่าอินไซต์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยมีพฤติกรรมและความต้องการอย่างไร

“ภาคการท่องเที่ยว” ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญมากต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ในปี 2566 ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวสามารถทำรายได้ให้กับประเทศได้ถึง 2.17 ล้านล้านบาท หรือ คิดเป็น 12% ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ราว 9% นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทั้งภาครัฐ และเอกชนถึงออกมาช่วยกันเร่งผลักดัน และยกระดับการท่องเที่ยวในทุกๆ ด้าน

แน่นอนว่าการใช้ ‘เทคโนโลยี’ ในการยกระดับประสบการณ์การท่องเที่ยว จัดเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการเจาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่หากจะนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราต้องเข้าใจก่อนว่าอินไซต์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยมีพฤติกรรมและความต้องการอย่างไร

จากรายงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยล่าสุดพบว่า ในปีที่ผ่านมา 87% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติจากทั้งหมด 28 ล้านคน จัดอยู่ใน กลุ่ม FIT (Free Individual Traveler) หรือกลุ่มที่ชอบเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มักจะวางแผนการเดินทาง และจองที่พักต่างๆ ล่วงหน้าผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก และต้องการที่จะเดินทางไปสัมผัสประสบการณ์แบบท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น การทานอาหารพื้นบ้าน การสำรวจวัฒนธรรมท้องถิ่นและธรรมชาติในจังหวัดเมืองรองมากขึ้น

ดังนั้น โจทย์การพัฒนาเทคโนโลยีของธุรกิจและองค์กรต่างๆ จึงมุ่งไปสู่การอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่วางแผนเที่ยวเอง ซึ่งเริ่มตั้งแต่การนำเสนอข้อมูลที่หลากหลายและเข้าใจง่าย ไปจนถึงการเชื่อมโยงประสบการณ์การท่องเที่ยวอย่างไร้รอยต่อในทุกช่วงของการเดินทาง 

ผมขอยกตัวอย่าง บริษัทที่ค่อนข้างประสบความเร็จในการดึง AI เข้ามาช่วยอย่าง Trip.com ที่สร้าง TripGenie ผู้ช่วย AI ด้านการเดินทางที่สามารถให้คำแนะนำที่ซับซ้อน และมีเครื่องมือค้นหา (Search Engine) ที่มีความแม่นยำสูง ทำให้ผู้ใช้สามารถค้นหาสิ่งที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ Trip.com ยังได้มีการนำ AI มาใช้ในการสร้างคอนเทนต์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเดินทาง 

ไม่ว่าจะเป็น Trip.Best โปรแกรมแนะนำการเดินทางที่คัดสรรโดย AI ที่ช่วยให้โรงแรมพันธมิตรกว่า 1,500 รายมียอดการจองเพิ่มขึ้น 10% และ Trip Moments พื้นที่แบ่งปันประสบการณ์การท่องเที่ยวของผู้ใช้บริการที่ช่วยทำให้เกิดการจองซ้ำบนแพลตฟอร์ม จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีที่ Trip.com ออกแบบและพัฒนามานั้นจะเน้นไปที่การสร้างแรงบันดาลใจและอำนวยความสะดวก ให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตัวเองสามารถวางแผนการเดินทางได้ดียิ่งขึ้น

เช่นเดียวกับซูเปอร์แอประดับภูมิภาคอย่าง แกร็บ ที่มุ่งสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศไทย ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวตั้งแต่เริ่มวางแผนการเดินทาง ไปจนถึงการมอบประสบการณ์ท่องเที่ยวสุดประทับใจแบบไร้รอยต่อ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางที่สะดวกสบายทั่วไทย การลิ้มรสอาหารอร่อยประจำท้องถิ่น ไปจนถึงการซื้อของฝากเป็นระลึกบนแพลตฟอร์มของแกร็บเพียงแอปพลิเคชันเดียว โดยตัวอย่างการพัฒนาเทคโนโลยีของแกร็บ อาทิ

Welcome Screen หน้าแอปพลิเคชันของแกร็บที่เปิดให้นักท่องเที่ยวที่กำลังวางแผนการเดินทางมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถเข้ามาสำรวจเส้นทางการเดินทาง ค้นหาสถานที่หรือร้านอาหารในบริเวณใกล้ที่พัก และบันทึกจุดหมายต่างๆ ในประเทศที่ตนจะเดินทางไปล่วงหน้าบนแอปพลิเคชันของแกร็บ เพื่อสร้างความอุ่นใจในการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยว

การเชื่อมต่อระบบระหว่างแอปพลิเคชันต่างประเทศ เพื่อสร้างประสบการณ์การเดินทางที่ไร้รอยต่อ แกร็บ ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับแอปพลิเคชันยอดนิยมที่ไม่มีบริการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ Alipay WeChat Trip.com Booking.com และ Kakao T เพื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเรียกใช้บริการเรียกรถของแกร็บผ่านแอปพลิเคชันที่นักท่องเที่ยวคุ้นเคยได้เลย

เครื่องมือแปลภาษา ที่แกร็บได้พัฒนาเทคโนโลยี Machine Learning ในการช่วยแปลภาษา ให้นักท่องเที่ยวสามารถสื่อสารกับคนขับในพื้นที่ผ่านข้อความได้อย่างง่ายดาย พร้อมยังมีเครื่องมือที่ช่วยในการแปลเมนูอาหารที่ซับซ้อนจาก ภาษาไทย เป็น ภาษาอังกฤษ หรือ ภาษาจีน อีกด้วยการเพิ่มช่องทางการจ่ายเงินดิจิทัล แกร็บได้ขยายตัวเลือกในการชำระเงินให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ใช้บริการต่างๆ ของแกร็บในประเทศไทย อาทิ นักท่องเที่ยวชาวจีน และเกาหลีสามารถชำระเงิน หรือเติมเงินผ่าน Alipay และ Kakao Pay ได้

การดึงเอาความต้องการและพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยว มาเป็นโจทย์หลักในการพัฒนาเทคโนโลยี นอกจากจะช่วยวางกรอบการพัฒนาที่ชัดเจน และตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังเป็นการดึงประสิทธิภาพของเทคโนโลยีมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย 

ดังนั้น ผมจึงอยากให้ทุกคนศึกษาและทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายแบบเจาะลึก เพื่อที่เราจะได้นำเทคโนโลยีมาใช้ตอบสนองและอุดช่องว่างต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับทุกคน