'ทรู'คาดรายได้จาก AI พุ่ง วางเป้าปี 2570 ขยายตัว 30% พร้อมปั้นกูรูดิจิทัลหนุน

'ทรู'คาดรายได้จาก AI พุ่ง วางเป้าปี 2570 ขยายตัว 30% พร้อมปั้นกูรูดิจิทัลหนุน

ทรู ดึง AI สร้างมูลค่าแก่ผู้บริโภคและขับเคลื่อนภาคธุรกิจไทย คาดปี 2570 รายได้จากบริการดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วย AI จะมีสัดส่วน 30% ของบริการดิจิทัล ตั้งเป้าหมายเปลี่ยนการทำงานประจำให้เป็นในรูปแบบอัตโนมัติ 100%

นายเอกราช ปัญจวีณิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI ช่วยให้ทรู ดิจิทัล สามารถทรานฟอร์มประสบการณ์ลูกค้าได้อย่างสิ้นเชิงในทุกบริการตอกย้ำความตั้งใจของทรู ดิจิทัล ในการผลักดันการใช้เทคโนโลยีให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนลดช่องว่างและเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ซึ่งหลักการออกแบบ AI คือการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ที่มาจากหลากหลายแหล่ง บนพื้นฐานของจริยธรรมและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

เขา กล่าวว่า ปัจจุบันรายได้ของทรูดิจิทัลคิดเป็น 20% ของรายได้รวมทั้งหมดของทรู และมองว่าเทรนด์ของรายได้จะขยายตัวอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด โดยคาดว่าใน 3 ปีข้างหน้า รายได้จากบริการดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วย AI จะคิดเป็นสัดส่วน 30% ของบริการดิจิทัล

ซึ่งทุกวันนี้เทคโนโลยี AI สามารถนำมาสร้างระบบอัตโนมัติที่จะตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้แบบเรียลไทม์อย่างมีจริยธรรม ด้วยมาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูง โดยทรู ดิจิทัลได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์และใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ผลักดันให้ก้าวขึ้นเป็น Data-AI Integrator และพร้อมสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเข้าสู่ยุค AI First ได้อย่างเต็มรูปแบบ

“ภาพรวมของ AI มีการต่อยอดมาสู่ Gen AI หลายๆอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุค AI เต็มรูปแบบแล้วทั้งรีเทลและโทรคมนาคม สถานะ AI ของบริษัทคอร์ปอเรทใหญ่ๆในไทยมีการเตรียมตัวที่ดีทำให้ไทยพร้อมแข่งขันได้ไม่แพ้ประเทศอื่นๆ เพราะมีการใช้ AI มาปลดล็อคธุรกิจและหากเอามาผสานกับความชำนาญของคนในองค์กร ก็จะทำให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสมบูรณ์”

ชูโซลูชันอัจฉริยะเกิดขึ้นจริง

นายเอกราช กล่าวว่า ทรู ดิจิทัล มีจุดยืนที่ชัดเจนที่จะช่วยทรานสฟอร์มธุรกิจให้ก้าวสู่ AI อย่างก้าวกระโดด โดยดึงอัจฉริยภาพและคุณสมบัติที่โดดเด่นของเทคโนโลยี AI ด้านความเชี่ยวชาญในการประมวลผลและวิเคราะห์ฐานข้อมูลมหาศาล มาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถนำข้อมูลจากหลากแหล่งมาวิเคราะห์และประมวลผลเชิงลึก เพื่อให้องค์กรต่างๆ สามารถนำไปใช้ในการต่อยอดธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ สร้างเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและเสริมแกร่งการเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคดิจิทัลได้อย่างตรงใจ พร้อมยกระดับประสบการณ์แบบเฉพาะบุคคล (hyper-personalized) เพิ่มผลิตผล รวมถึงประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย

อัปเกรด“มะลิ”ด้วย AI

นายปิยะพันธุ์ นาคะโยธิน หัวหน้าสายงานด้านบริการลูกค้า ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้เปิดเผยถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์กับจุดเปลี่ยนในการยกระดับประสบการณ์ลูกค้า ซึ่ง ทรู ได้พัฒนานวัตกรรมผู้ช่วยบริการลูกค้า AI อัจฉริยะ “Mari” (มะลิ) ที่สามารถให้บริการทั้งในระบบแชต และบริการแบบเสียงโดยใช้เทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ จดสิทธิบัตรภายใต้ชื่อ True Voice

ทั้งนี้ ทรูได้ทุ่มเทและพยายามอย่างยิ่งเพื่อให้มั่นใจว่า ลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ที่เหนือกว่าจากผู้ช่วยบริการลูกค้าอัจฉริยะ “Mari” ที่มีทั้งน้ำเสียงและคุณภาพในการให้บริการเสมือนบริการจากทีมงานบริการลูกค้า โดยปัจจุบันทรูได้เริ่มให้บริการลูกค้าบางกลุ่มผ่านระบบเสียงของ Mari และจะขยายบริการสู่กลุ่มลูกค้าในวงกว้างมากขึ้น ควบคู่กับศักยภาพและความสามารถของ Mari ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก

นอกจากนี้ การได้เรียนรู้และสื่อสารกับผู้ใช้บริการทรู ยิ่งไปกว่านั้น Mari ยังเป็นผู้ช่วยบริการลูกค้าอัจฉริยะ AI หนึ่งเดียวในธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศไทยที่มีความสามารถในการสื่อสารโต้ตอบกับลูกค้าด้วยน้ำเสียงและภาษาที่เป็นธรรมชาติเสมือนมนุษย์ และสามารถให้ความช่วยเหลือ เช่น เปรียบเทียบแพ็กเกจบริการที่เหมาะสมให้แก่ลูกค้า

จาก AI-Ready สู่ AI-First

นางสาวศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคลทรู ได้แบ่งปันมุมมองถึงแนวทางในการทรานสฟอร์มวัฒนธรรมองค์กร จากการเป็นองค์กรดิจิทัลก้าวล้ำไปสู่องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI อย่างแท้จริง โดยทรู คอร์ปอเรชั่น ตั้งเป้าหมายที่จะสร้างผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถด้านดิจิทัลมากกว่า 5,000 คน และมีผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ดิจิทัล ไอโอที และดาต้าอะนาไลติกส์ 500 คนภายในปี 2568 ด้วย และทรู มุ่งมั่ผลักดันความสำเร็จขององค์กร และได้ตั้งเป้าหมายเปลี่ยนการทำงานประจำให้เป็นในรูปแบบอัตโนมัติ 100% ภายในปี 2570 ด้วยโซลูชันอัจฉริยะจากพนักงานของเราที่มีการอัปสกิลอยู่ตลอดเวลา

ทั้งนี้ องค์กรจำนวนมากในประเทศไทย มีศักยภาพพร้อมประยุกต์ใช้ AI หรือ ‘AI Ready’ ซึ่งหมายความว่าองค์กรเหล่านี้มีข้อมูล (ดาต้า) ที่ถือครองเป็นของบริษัทและมีการริเริ่มใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจ แต่การที่จะเป็น ‘AI-First’ และสามารถนำ AI มาขับเคลื่อนองค์กร ตลอดจนพัฒนานวัตกรรมบริการต่างๆ ได้นั้น จำเป็นต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร จากเดิมที่ใช้ประสบการณ์เป็นพื้นฐานหรือมีผู้นำในการตัดสินใจ ไปสู่การตัดสินใจบนพื้นฐานของการใช้ข้อมูลเป็นสำคัญ เริ่มตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง ซึ่งองค์กรที่จะเป็น AI First จำเป็นต้องมีผู้บริหารระดับสูง (C-Suite) ที่เข้าใจในเทคโนโลยี