ถอดรหัสกลุ่มวิชาชีพ “วิทย์ฯ เทคฯ สื่อสาร” และนวัตกรรมในสนามเลือกตั้ง สว.

ถอดรหัสกลุ่มวิชาชีพ “วิทย์ฯ เทคฯ สื่อสาร” และนวัตกรรมในสนามเลือกตั้ง สว.

การเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ครั้งนี้มีการแบ่งกลุ่มวิชาชีพเป็น 20 กลุ่ม และก็มีกลุ่มสำหรับคนในอาชีพด้านเทคโนโลยีด้วย โดยระบุว่าเป็น “กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน”

การเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ครั้งนี้มีการแบ่งกลุ่มวิชาชีพเป็น 20 กลุ่ม และก็มีกลุ่มสำหรับคนในอาชีพด้านเทคโนโลยีด้วย โดยระบุว่าเป็น “กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน” โดยผู้สมัครในกลุ่มวิชาชีพต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี

ทั้งนี้ผู้สมัครจะต้องยื่นแบบหนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในกลุ่มที่สมัคร (สว. 4) โดยต้องมีผู้รับรองหนึ่งคนและพยานอย่างน้อยหนึ่งคน ลงลายมือชื่อยืนยันว่าผู้สมัคร มีคุณลักษณะเช่นนั้นจริง ผู้ที่รับรองและพยานไม่จำเป็นต้องเป็นนายจ้าง หรือสมาคมวิชาชีพหรือผู้ประกอบอาชีพในกลุ่มนั้นๆ เป็นเพียงประชาชนคนธรรมดาใครก็ได้ที่ทราบข้อเท็จจริงและรับรองได้ว่า ผู้สมัครเคยทำงานมีประสบการณ์ในกลุ่มอาชีพนั้นครบ 10 ปีจริงๆ

ผมเขียนบทความวันนี้คงไม่ได้มาเชิญชวนใครให้มาสมัคร สว. ในกลุ่มวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีนี้การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม ดังกล่าว แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่ามีคนไทยจำนวนมากประกอบอาชีพทางด้านนี้

ข้อมูลจากการสำรวจจำนวนบุคคลในสาขาไอทีที่ทางสถาบันไอเอ็มซีทำให้กับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) พบว่า ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มีบุคลากรในปี 2565 รวมกันถึง 144,672 คน มีบุคลากรในอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ 324,760 คน และบุคลากรในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ 6,225 คน ที่ตัวเลขในอุตสาหกรรมบางอย่างมีมากก็เพราะรวมพนักงานขายและช่างซ่อม นี่ยังไม่รวมบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารที่อาจมีอีกหลายแสนคน ถ้าจะนับทางด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมก็คงอีกหลายแสน

หลายคนอาจแปลกใจ และเข้าใจไปว่า ถ้ากำหนดกลุ่มวิชาชีพแบบนี้น่าจะเป็นวิชาชีพเฉพาะไม่ควรจะมีผู้สมัครได้มากมาย จริงๆ แล้วต้องเข้าใจก่อนว่าคำว่าเทคโนโลยีและการสื่อสารมันกว้างมาก ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ คนขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เจ้าของกิจการร้านค้าด้านไอที ก็ล้วนอยู่ในกลุ่มวิชาชีพเหล่านี้

เราจะไปบอกว่า คนขายหรือเป็นช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสาร ไม่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ทางด้านนี้ก็ไม่ได้ ยิ่งถ้าเขาทำงานมามากกว่า 10 ปี ก็น่าจะถือว่าถูกต้องตามเงื่อนไขของการเป็นผู้สมัคร สว. ได้

อาชีพด้านเทคโนโลยี และการสื่อสาร มีความหลากหลายมาก แต่ละคนก็มีความเชี่ยวชาญคนละอย่าง บางคนอาจถนัดด้านเขียนโปรแกรม บางคนถนัดทางด้านฮาร์ดแวร์ บางคนเป็นนักวิชาการด้านเทคโนโลยี บางคนเป็นอินฟลูเอนเซอร์แนะนำคนด้านเทคโนโลยี บางคนเป็นนักขายนักการตลาดที่มีความเชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ไอทีและการสื่อสาร

อาชีพนี้มีคนจำนวนมากที่ไม่ได้จบสายตรงทางด้านไอที โทรคมนาคม หรือคอมพิวตอร์ ดังนั้นถ้าจะวัดที่คุณวุฒิคงทำไม่ได้ เพราะคนเก่งในสายวิชาชีพนี้จำนวนมากไม่จำเป็นต้องจบทางสายนี้ นอกจากจะมาเทียบคุณวุฒิกันทางวิชาการ อาจมีสมาคมวิชาชีพในต่างประเทศอย่าง สถาบันวิศวกรรมไฟฟ้าและวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์นานาชาติ (IEEE) หรือสมาคมระหว่างประเทศทางด้านคอมพิวเตอร์ (ACM) ที่เน้นให้การรับรองเชิงวิชาการ เช่น บทความตีพิมพ์ หรือหลักสูตรต่างๆ

ถ้าจะมาดูประกาศนียบัตรก็ไม่ได้เพราะไม่ได้มีครอบคลุมในทุกสาขาอาชีพ และคนจำนวนมากก็ไม่ได้นิยมมาสอบประกาศนียบัตรมากนัก ที่เห็นมีการใช้คุณวุฒิโดยมากก็จะเป็นราชการในการที่เอกชนจะเข้าทำงานโครงการต่างๆ ซึ่งก็จำเป็นต้องระบุคุณวุฒิว่าต้องจบปริญญาชั้นใดชั้นหนึ่งตามตำแหน่งงาน บางที่เขียนถึงปริญญาเอกด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์เลยก็มี ซึ่งผมเองก็เคยมีประสบการณ์ไม่สามารถยื่นโครงการราชการบางแห่งได้เพราะไม่ได้จบปริญญาเอกวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ แม้ผมจะมีประสบการณ์เคยเป็นอาจารย์สอนในสาขานี้มาก่อนก็ตาม

ดังนั้น ผมจึงไม่แปลกใจกับหลักเกณฑ์การรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในกลุ่มวิชาชีพ ที่ให้ใครก็ได้คนหนึ่งพร้อมกับพยานหนึ่งคนลงนามรับรอง เพราะการรับรองคนในกลุ่มวิชาชีพนี้ทำได้ยากจริงๆ แต่ที่แปลกใจสักนิดคือ เกณฑ์การรับรองอาจง่ายไป คนรับรองน่าจะเป็นนายจ้าง หรือถ้าเป็นเจ้าของกิจการก็น่าจะมีใบทะเบียนการค้ามายืนยัน

เห็นการแบ่งกลุ่มวิชาชีพแบบนี้ ผมถึงไม่แปลกใจถ้ากลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม จะมีผู้สมัครจำนวนมากในหลากหลายอำเภอ เพราะอาชีพนี้เปิดกว้างจริงๆ พอเห็นจำนวนผู้สมัครในกลุ่มวิชาชีพนี้ก็อย่าแปลกใจนะครับว่า เรามีนักวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มากมายขนาดนี้ ก็กลุ่มอาชีพไม่ได้ระบุว่าเชี่ยวชาญในระดับไหน ขอเพียงแค่มีความรู้และเคยทำงานด้านนี้มาเท่านั้น ซึ่งบ้านเราก็มีคนหลายแสนคนที่ทำงานอาชีพกลุ่มนี้

ยิ่งเห็นกติกาที่ออกมาให้ผู้สมัคร สว. เลือกกันเองถึง 6 รอบ และมีสามรอบที่เลือกไขว้ข้ามกลุ่มวิชาชีพ พอได้รายชื่อ สว.10 ในกลุ่มวิชาชีพนี้ออกมาก็คนในวิชาชีพอาจต้องมาถามกันว่า “คนนี้คือใคร” เพราะกติกาไม่ได้ออกมาให้เอื้อเพื่อเลือกคนในกลุ่มวิชาชีพอย่างแท้จริง