600 ล้านทำพิษ 'กสทช'.ลงมติเอกฉันท์ตัดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายออกจากกฎ Must Have

600 ล้านทำพิษ 'กสทช'.ลงมติเอกฉันท์ตัดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายออกจากกฎ Must Have

บอร์ดกสทช.มีมติ 7:0 ตัดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายออกจากกฎ Must Have ระบุที่ผ่านมาต้องเอาเงินกทปส.ไปอุดหนุน แต่ไม่มีคนไทยแข่ง ชี้ปัจจุบันรายการแข่งขันเข้าสู่ระบบซื้อลิขสิทธิ์ทางพาณิชย์โดยสมบูรณ์ควรปล่อยให้เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ

KEY

POINTS

  • ลงมติเอกฉันท์ 7:0 เสียง ให้ถอนการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ออกจากกฎ Must Have
  • ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2026 ที่จะขึ้นมี 3 เจ้าภาพร่วม ได้แก่ แคนาดา เม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา ถ้าไทยจะดูคงต้องให้เอกชนเป็นผู้ประมูลหรือลิขสิทธิ์มาถ่าย
  • ในกฎ Must Have คงเหลือ 6 ประเภทกีฬาให้ถ่ายสดฟรีในไทยคือ 1.ซีเกมส์ 2.เอเชียนเกมส์ 3.อาเซียนพาราเกมส์ 4.เอเชียนพาราเกมส์ 5.โอลิมปิก 6.พาราลิมปิก

บอร์ดกสทช.มีมติ 7:0 ตัดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายออกจากกฎ Must Have ระบุที่ผ่านมาต้องเอาเงินกทปส.ไปอุดหนุน แต่ไม่มีคนไทยแข่ง ชี้ปัจจุบันรายการแข่งขันเข้าสู่ระบบซื้อลิขสิทธิ์ทางพาณิชย์โดยสมบูรณ์ควรปล่อยให้เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ

นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กล่าวภายหลังจากการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า คณะกรรมการ กสทช. ได้พิจารณาลงความเห็น เรื่องเห็นควรยกเลิกประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ.2555 หรือ กฎ Must Have 

โดยส่งผลให้ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2026 ที่จะขึ้นมี 3 เจ้าภาพร่วม ได้แก่ แคนาดา เม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา นั้น จะไม่มีการนำเงินกองทุนกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส.ไปสนับสนุนอีก

โดยคณะกรรมการได้ลงมติเอกฉันท์ 7:0 เสียง ให้ถอนการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ออกจากประกาศที่กำหนดให้รายการกีฬา 7 ประเภท สำหรับ กฎ Must Have จะคงไว้ซึ่งทุกอย่างยกเว้นฟุตบอลโลก สาเหตุที่ตัดฟุตบอลโลกออก เพราะมีมูลค่าเชิงพาณิชย์และเป็นไปตามกลไกการแข่งขันทางการตลาดได้ชัดเจน และเป็นประเภทที่มีอุปสรรค ปัญหามาโดยตลอด หลังจากลงคะแนนเสียงที่ 7 เสียง จากนี่จะมีผลทันที ระหว่างนี้อยู่ขั้นเตรียมเอกสารเพื่อรอการประกาศชัดเจน

สำหรับการหารือประเด็นดังกล่าว เนื่องด้วยเป็นการประชุมเสียงตามสาย โดยในที่ประชุมมีการเสนอว่า ในเมื่อฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายไม่มีคนไทยเข้าแข่งขันก็ไม่รู้จะใช้เงินกองทุนกทปส.ไปสนับสนุนทำไม เพราะเงินกองทุนก็ทำเพื่อให้มีการเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียมสำหรับผู้ที่ขาดโอกาส แต่ต้องถามว่าฟุตบอลโลกเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนหรือไม่ดังนั้น เวลามีกีฬาบางประเภท เช่น โอลิมปิก ก็มีการเสนอความคิดเห็นว่าจะถ่ายสอดเฉพาะแต่กีฬาที่คนไทยได้เข้าร่วมการแข่งขัน หรือเฉพาะรอบชิงชนะเลิศในกีฬาทุกชนิดสามารถทำให้ได้ดูฟรีทั้งหมด ขณะเดียวกัน กีฬาที่คนไทยไม่ได้เข้าร่วมแข่งขันอาจมีคุณค่าทางธุรกิจ เอกชนอื่นๆ ต้องการถ่ายทอดทำธุรกิจอื่นๆก็ต้องเป็นหน้าที่ของเอกชน

ด้านนางสาวพิรงรอง รามสูต กรรมการกสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 (Must Have) ผ่านมาถึงวันนี้ก็กว่า 10 ปีแล้ว ดังนั้นบริบทการถ่ายทอดก็เปลี่ยนแปลงไป และจนถึงวันนี้ก็ถือว่าการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายก็เข้าสู่กลไกการแข่งขันอย่างสมบูรณ์แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีการอุดหนุนเงินฟุตบอลโลกเป็นกรณีดราม่ายืดยื้อในบอร์ดลามมาถึงทุกวันนี้ จากกรณีที่เมื่อการประชุม กสทช. วันที่ 23 ม.ค.2566 กรรมการกสทช.ทั้ง 4 คน ลงมติเสียงข้างมากปลด นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล จากรักษาการเลขาธิการ กสทช. จนกว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีอนุมัติเงินเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก จำนวน 600 ล้านบาท ที่ นายไตรรัตน์ ถูกตั้งกรรมการสอบ พร้อมมีมติให้ตั้ง นายภูมิศิษฐ์ มหาเวศน์ศิริ เป็น รักษาการเลขาธิการ กสทช.แทน แต่จนทำให้เป็นคดีฟ้องร้องเกิดขึ้นในบอร์ดกสทช.

โดยเรื่องย้อนกลับไปเมื่อวันนี้ (9 พ.ย. 2565) นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติเงินสนับสนุนแก่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เพื่อถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่กาตาร์ 2022 ตามจำนวนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ภายในกรอบวงเงิน 600 ล้านบาท โดยให้คณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และสำนักงาน กสทช. ดำเนินการตามระเบียบต่อไป

ทั้งนี้ กรณีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ทั้ง 64 นัด ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว เห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อย่างทั่วถึง ตามมาตรา 52 (1) แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

อีกทั้ง เป็นการดำเนินการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการและคนด้อยโอกาส ให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป ตามมาตรา 36 และ 52 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่ง กสทช. สามารถดำเนินการได้ และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ กทปส. ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ซึ่งการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) เป็น 1 ใน 7 รายการที่ กสทช. กำหนดไว้ในประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 (Must Have) 

โดยในกฎ Must Have กำหนดให้รายการกีฬา 7 ประเภท 1.ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2. กีฬาซีเกมส์ 3. กีฬาเอเชียนเกมส์ 4. อาเซียนพาราเกมส์ 5. เอเชียนพาราเกมส์ 6. กีฬาโอลิมปิก 7. กีฬาพาราลิมปิก ซึ่งเป็นรายการที่คนไทยมีโอกาสเข้าร่วมแข่งขัน หากใครซื้อลิขสิทธิ์มาต้องเผยแพร่ทางฟรีทีวี (ทีวีดิจิทัล)