2 มุมมองกูรู ‘Al กับการยกระดับความคิดสร้างสรรค์’

2 มุมมองกูรู ‘Al กับการยกระดับความคิดสร้างสรรค์’

2 กูรูวงการเทคเผย “เอไอ” ตัวจักรสำคัญขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์ ยูสเคสจริงเกิดแล้วจนศิลปินในฮอลลีวูดเริ่มหวั่นกลัวไม่มีการจ้างงาน วันนี้แชตบอตฉลาดมากขึ้นแล้ว ไม่ต้องรำคาญ “แชตบอตโง่” อีกต่อไป

เสวนา: Creative Al: Community นวัตกรรม ยกระดับความคิดสร้างสรรค์

วรวิสุทธิ์ ภิญโญยาง ที่ปรึกษาด้านเอไอให้องค์กร และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Impact Mind AI และ Insiderly.ai กล่าวว่า หากมองในมุมของอุตสาหกรรมบันเทิง ซึ่งประเทศไทยมีความเกี่ยวข้องเนื่องจากโดดเด่นอย่างมากเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ทั้งมีความพยายามจะผลักดันคอนเทนต์ไปสู่ระดับโลก

วันนี้ได้เห็นว่ามีการนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้จำนวนมาก ขนาดที่ว่าศิลปินที่ฮอลลีวูดในสหรัฐมีความกลัวว่าจะถูกเอไอแย่งงาน

ตัวอย่างเช่น ใช้เทคโนโลยี Deepfake แทนการจ้างคนจริงๆ หรือเพียงแค่รูปถ่ายใบเดียวสามารถนำไปใช้สร้างสรรค์เป็นวิดีโอได้ แม้ขณะนี้ยังทำได้แค่วิดีโอสั้นๆ แต่อนาคตก็น่าจับตามอง หรือที่เกาหลีใต้ที่นำไปใช้ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ การตลาดครีเอทีฟเวิร์กโฟลว์ สร้างอินฟราสตรักเจอร์ที่เป็นของตัวเอง รวมถึงการผสมผสานเอไอในหลากภาคส่วนของบริการด้านความบันเทิง จนกล่าวได้ว่าเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในการใช้งานเอไออย่างมาก

ปัจจุบัน ชีวิตของคนเรามักมีความเกี่ยวข้องหรือใช้งานเอไอโดยไม่รู้ตัว ที่ใกล้ตัวเช่น ระบบแนะนำซีรีส์ในแพลตฟอร์มสตรีมมิงที่ใช้เอไอในการประมวลผลความชอบ และสามารถแนะนำสิ่งที่สนใจได้แบบเฉพาะบุคคล

อย่างไรก็ดี หากต้องการก้าวไปข้างหน้าต้องมีโกลบอลมายเซ็ต เช่น ที่สิงคโปร์ซึ่งเริ่มพัฒนาทักษะเอไอให้กับเยาวชน ทั้งประชาชนของเขามีมุมมองว่าเป็นประชากรโลก ไม่ใช่แค่ประชากรของเกาะใดเกาะหนึ่งเท่านั้น

ChatGPT เปลี่ยนโฉมบริการแชตบอต

ทัชพล ไกรสิงขร Group Chief Technology Officer, Amity Solution กล่าวว่า ChatGPT เข้ามาเปลี่ยนโฉมการให้บริการแชตบอตไปอย่างมาก ขณะนี้ระบบมีความสามารถที่มากขึ้น สามารถตอบปัญหาได้อย่างลื่นไหล ไม่เหมือนเจนเดิมๆ ที่หลายคนเคยมีความรู้สึกว่า “แชตบอตโง่” คำตอบไม่ค่อยตรงกับความต้องการ ไม่สามารถตอบคำถามที่ไม่ได้ตั้งค่าไว้

ทั้งยังพบด้วยว่า ปัจจุบัน ถูกนำไปพัฒนาในหลากหลายอุตสาหกรรมแล้ว เฉพาะของบริษัทเองทำงานร่วมกับลูกค้ากว่า 10 ราย

อย่างไรก็ดี ไม่ต้องการให้คาดหวังมากจนเกินไป ด้วยเทคโนโลยีนี้ยังค่อนข้างใหม่ ผู้พัฒนาอย่าง OpenAI เองยังเคยออกมายอมรับว่าในระยะเริ่มต้นความแม่นยำการันตีได้แค่  45% หรือที่บริษัทเองมีโอกาสได้พัฒนาบางโครงการความแม่นยำมีเพียง 30% ในระยะแรก

สำหรับประเทศไทย ประเมินขณะนี้นับว่าปรับตัวได้เร็วมาก หลายๆ ธุรกิจตื่นตัว และมีการสอบถามเรื่องการพัฒนาด้านนี้จำนวนมาก

ปัจจุบัน การใช้งานจริงแบ่งออกเป็นสองมุมคือ การนำเอไอที่มีอยู่ไปใช้งานซึ่งแอคทีฟอย่างมาก ส่วนอีกมุมหนึ่งคือ การพัฒนาเอง ทว่ายังน้อยเนื่องจากตลาดไทยไม่ใหญ่มากพอต้องใช้ต้นทุนที่สูงมาก

โดยภาพรวมในอนาคต 5-10 ปีคาดว่าจะได้เห็นเอไอที่นำไปใช้ได้หลากหลายซึ่งเข้ามาดิสรัปวงการสร้างสรรค์และสามารถตอบโจทย์ความต้องการจริงของภาคธุรกิจ

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์