Meta เพิ่มภาษาไทยบน ‘Take It Down’ แจ้งลบภาพส่วนตัวบนโลกออนไลน์

Meta เพิ่มภาษาไทยบน ‘Take It Down’ แจ้งลบภาพส่วนตัวบนโลกออนไลน์

Meta ประกาศขยายโครงการ ‘Take It Down’ เพิ่มภาษาไทยบนแพลตฟอร์ม เพื่อการยับยั้ง-แจ้งลบภาพส่วนตัวในโลกออนไลน์ที่เด็กและเยาวชนไม่ยินยอมให้เผยแพร่

เฟซบุ๊ก ประเทศไทย โดยเมตา เพิ่มบริการภาษาไทยบนแพลตฟอร์ม Take It Down เพื่อช่วยเด็กและเยาวชนให้สามารถ “เข้าถึง-ควบคุม-ยับยั้ง-แจ้งลบ” การแชร์ภาพส่วนตัวของตนที่ไม่ได้รับการยินยอมบนโลกออนไลน์ เช่น ภาพเปลือย ภาพเกือบเปลือย 

โครงการดังกล่าว เป็นความร่วมมือของศูนย์เพื่อเด็กหายและถูกฉวยผลประโยชน์แห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NEMEC) และพันธมิตรภายในประเทศ ได้แก่ กลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ตจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (TICAC) และโครงการฮัก 

Take It Down ทำงานด้วยเทคโนโลยีที่สร้างจากแพลตฟอร์มที่ประสบความสำเร็จอย่าง “StopNCII” ที่เมตาเปิดตัวไปเมื่อปี 2564 ซึ่งเป็นบริการเดียวกันเพียงแต่ใช้สำหรับบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว (อายุ 18 ปีขึ้นไป) 

เนื่องจาก การแพร่ภาพส่วนตัวบนโลกออนไลน์ของผู้ใหญ่อาศัยการตรวจเช็กเรื่องของบริบททางกฎหมาย หากแต่การละเมิดทางเพศของเด็กและเยาวชนนั้นผิดกฎหมายโดยทันที โดยในปี 2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการจับกุมดำเนินคดีกับคนร้ายที่ใช้ช่องทางนี้รวมทั้งหมด 549 คดี

Meta เพิ่มภาษาไทยบน ‘Take It Down’ แพลตฟอร์มแจ้งลบภาพส่วนตัวบนโลกออนไลน์

เอไอคัดกรองเนื้อหา ปกป้องเยาวชนจากภัยขู่กรรโชกทางเพศ

มาลีนา เอนลุนด์ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายความปลอดภัยประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมตา กล่าวว่า การที่เด็กและเยาวชนถูกแชร์ภาพส่วนตัว หรือถูกขู่ว่าจะแชร์ภาพที่ไม่ได้ยินยอม บางรายอาจเลวร้ายถึงขั้นบังคับให้มีกิจกรรมทางเพศ เหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบอาชญากรรมกรรโชกทางเพศ 

รายงานจากการบังคับใช้มาตรฐานชุมชนของเมตาช่วงต.ค. - ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา มีเนื้อหาที่ละเมิดกฎและเกี่ยวกับการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศกับเด็กกว่า 16 ล้านเนื้อหาบนเฟซบุ๊ก และกว่า 2.1 ล้านเนื้อหาบนอินสตาแกรม โดยเป็นภาพเปลือยเด็กไปแล้ว 98% เมตาได้นำเนื้อหาลงก่อนที่จะมีผู้ใช้รายงานเข้ามา ซึ่งเป็นผลจากเอไอที่เมตานำมาใช้คัดกรอง 

“เอไอถูกพัฒนาให้ตรวจสอบเนื้อหาล่อแหลม แต่อย่างไรก็ตาม คนร้ายมีการปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยี โดยการใช้อิโมจิ หรือคีย์เวิร์ดลัดต่างๆ เช่น Cheese Pizza รูปพีช ถึงแม้ว่าจะไม่มีรูปเปลือยหรือเกือบเปลือย เอไอของเมตาก็ตรวจจับโค้ดลับได้หมด” มาลีนา กล่าว

ทางด้าน วีวรรณ มอสบี้ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการประจำโครงการฮัก ประเทศไทย กล่าวว่า การขยายผลโครงการ Take It Down ให้มีฉบับภาษาไทย และปัจจุบันครอบคลุมถึง 25 ภาษาจะเป็นผลดีต่อการตรวจเช็กได้แน่นหนามากยิ่งขึ้น และทำให้เหยื่อยับยั้งเนื้อหาได้อย่างทันท่วงที

เพราะคนร้ายในปัจจุบันมีกลยุทธ์แสวงหาผลประโยชน์ทางเพศกับเด็กอย่างมากมาย เช่น การให้เงิน การซื้อไอเท็มในเกมแลกกับรูปเปลือย การให้ถ่ายรีวิวสินค้าที่ต้องเปลื้องผ้า อย่างครีมทาหน้าอก หรือการเตรียมเด็กเพื่อทารุณกรรมทางเพศ (Grooming) หลอกให้ไว้เนื้อเชื่อใจจึงลงมือในภายหลัง 

“ไทยยังไม่มีกฎหมายออนไลน์กรูมมิ่ง ต้องเกิดเคสจริงๆ ก่อนถึงจะสามารถออกกฎหมายจับคนร้ายได้ ช่องโหว่ของกฎหมายตรงนี้จะทำให้คนร้ายก่อเหตุได้ง่ายขึ้น ซึ่งพบว่าเหยื่อในปัจจุบันมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ

อีกทั้งเด็กไม่กล้าบอกผู้ปกครองหรือแจ้งตำรวจเพราะกลัวว่าตนเองจะโดนคดีไปด้วย ผู้ปกครองต้องเอาใจใส่บุตรหลานให้ถูกวิธี การใช้คำพูดบอกเด็กๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญ รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการเยียวยาและบำบัดจิตใจของเหยื่อหลังถูกกระทำก็เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้” วีวรรณ กล่าว

การทำงานของ Take It Down

บริการ Take It Down สามารถใช้งานได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาและลบรูปภาพส่วนตัวออกจากอินเตอร์เน็ต หรือการช่วยยับยั้งการแพร่ภาพส่วนตัวบนโลกออนไลน์ตั้งแต่แรก โดยเปิดให้ใช้งานฟรีสำหรับ

  1. เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่มีความกังวลว่าภาพส่วนตัวของพวกเขาจะถูกเผยแพร่ หรืออาจจะถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์
  2. ผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ที่ได้รับความไว้วางใจจากเด็กและเยาวชนในการจัดการกับภาพส่วนตัวในนามของพวกเขา
  3. ผู้ใหญ่ที่กังวลว่าภาพส่วนตัวของตนเองที่ถูกถ่ายไว้ก่อนอายุ 18 ปี จะถูกเผยแพร่ หรืออาจจะถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์

โดยวิธีการใช้งานเริ่มจาก

  1. เข้าไปที่เว็บไซต์ TakeItDown.NCMEC.org และคลิก “เริ่ม”
  2. ตอบคำถามสั้นๆ เพียงไม่กี่ข้อ
  3. เลือกรูปภาพหรือวิดีโอในอุปกรณ์ของคุณที่คุณรู้สึกกังวลว่าอาจปรากฏอยู่บนโลกออนไลน์
  4. Take It Down จะกำหนดลายนิ้วมือดิจิทัลที่ไม่ซ้ำกัน ซึ่งเรียกว่า “ค่าแฮซ” ให้กับรูปภาพหรือวิดีโอเปลือย จากนั้นแพลตฟอร์มออนไลน์จะใช้ค่าแฮชเพื่อตรวจหารูปภาพหรือวิดีโอเหล่านี้และลบเนื้อหา  

ค่าแฮชจะถูกแชร์ไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้าร่วม เช่น แพลตฟอร์มของเมตา เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม รีล (Reels) และอื่นๆ เพื่อตรวจหาว่ามีรูปหรือวิดีโอเหล่านั้นอยู่บนแพลตฟอร์มหรือไม่ และจะดำเนินการลบเนื้อหาหรือยับยั้งการเผยแพร่สื่อเหล่านั้น

กระบวนการทั้งหมดจะไม่นำรูปภาพหรือวิดีโอออกจากอุปกรณ์ของผู้ใช้งาน และไม่มีผู้ใดได้เห็น และผู้ใช้งานก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวอีกด้วย