เอไอในสังเวียนดิจิทัล

เอไอในสังเวียนดิจิทัล

ถึงแม้จะเป็นกระแสมานานนับปี แต่ความร้อนแรงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ “เอไอ” ยังคงอยู่ในความสนใจของคนทั่วไปอย่างไม่เสื่อมคลาย

นับตั้งแต่ ChatGPT 4.0 จนมาถึง SORA ที่สร้างความฮือฮาจากคนทั่วโลกเพราะใครๆ ก็สามารถรังสรรค์ผลงานที่เป็นวิดีโอได้โดยใช้เอไอแบบง่าย ๆ

หรือจะเป็นข่าวการฟ้องร้องของ อีลอน มัสก์ ต่อ แซม อัลต์แมนผู้บริหาร OpenAI ก็สะท้อนให้เห็นถึงความร้อนแรงของเทคโนโลยีเอไอได้เป็นอย่างดี เพราะการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ OpenAI นั้นทำท่าจะเติบโตเหนือการควบคุมไปแล้ว

จนอีลอนเองมองว่า เป็นการไม่ถูกต้องที่แซมจะเดินหน้าใช้เอไอเพื่อประโยชน์ทางธรุกิจเป็นหลัก เพราะจุดเริ่มต้นของ OpenAI นั้นมุ่งเน้นที่การสร้างระบบเปิดที่ไม่แสวงหาผลกำไร อีลอน มัสก์จึงร่วมลงทุน ด้วยเงินถึงเกือบ 1,800 ล้านบาท แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ และ OpenAI ก็หันมาเน้นการสร้างรายได้ อย่างเต็มที่ ไม่ได้สนใจในแง่ของการพัฒนาระบบเปิดที่เอื้อให้คนทั่วไปทำไปต่อยอดได้

หลังจากไมโครซอฟท์เข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น อีลอน มัสก์จึงไม่แน่ใจถึงทิศทางของ OpenAI และเดินหน้าฟ้องร้องผู้บริหารจนเป็นข่าวใหญ่ ในขณะที่แซม อัลต์แมนก็ไม่แสดงความสนอกสนใจ แต่กลับเดินหน้าระดมทุนเพิ่มเป็นวงเงินมหาศาลถึง 5-7 ทริลเลี่ยน หรือ 5-7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

หากทำได้สำเร็จนั่นเท่ากับว่า OpenAI จะมีมูลค่าบริษัทมากกว่ายักษ์ใหญ่อย่าง Apple และ Google รวมกันด้วยซ้ำ เพราะแต่ละบริษัทมีมูลค่าราว ๆ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ความใหญ่โตของ OpenAI จึงดูเหมือนจะเติบโตอย่างไร้การควบคุม จนน่ากังวลว่าโลกเรานี้พร้อมรับสถานการณ์แบบนี้หรือไม่

เพราะในแง่ของข้อดี เราคงรับรู้กันมามากมายแล้ว ทั้งในแง่การลดต้นทุน การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การลดขั้นตอนการทำงาน การลงทุน ฯลฯ แต่ในแง่ลบ หากเราใช้เอไอกันอย่างไม่มีการควบคุมดูแล ก็อาจก่อให้เกิดปัญหามากมายเช่นการที่เอไอจะเข้ามาแข่งขันกับวิชาชีพต่าง ๆ ในอนาคต

ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะไม่ต่างอะไรกับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล หรือยุครอยต่อของโทรศัพท์มือถือจากยุค 4จี มาสู่ยุค 5จี ที่ใคร ๆต่างก็ต้องการเปลี่ยนมือถือของตัวเองให้เป็นรุ่นใหม่เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G เพราะเห็นโอกาสจากการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ถือกำเนิดขึ้นมาในยุค 5จี

ที่ผ่านมาเราเห็นตัวอย่างจากโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่เช่นซัมซุงที่เปิดตัวเอไอโฟนที่มีฟังก์ชั่นน่าสนใจและนำไปใช้ทำงานจริงได้ทันที ซึ่งอีกไม่นานก็จะมีคอมพิวเตอร์ทั้งโน้ตบุ้คและพีซีที่มีความสามารถด้านเอไอออกวางจำหน่ายเช่นกัน

ยิ่งมีสินค้าที่เข้าถึงเอไอมากขึ้น เราจะมีผลผลิตที่ได้จากเอไอมากขึ้นด้วยเช่นกัน เช่นภาพนิ่งงานวรรณกรรม คลิปวิดีโอ ฯลฯ ที่สร้างขึ้นจากเอไอ คำถามก็คือเรามีกฎหรือกติการองรับความก้าวหน้าเหล่านี้แล้วหรือไม่

เพราะกระบวนการควบคุมดูแลรวมถึงกฎหมายมักตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไม่ทันอยู่เสมอ จนก่อให้เกิดประเด็นขัดแย้งเช่นสิทธิในการเป็นเจ้าของผลงาน ซึ่งถ้ามีการเตรียมพร้อมได้มากที่สุดก็ย่อมเป็นการป้องกันปัญหาที่ดีที่สุดและจะช่วยให้พัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็วที่สุด