บอร์ดกสทช. 4 เสียงเมินหนังสืออุทธรณ์ หลัง ‘ไตรรัตน์‘ ค้านล้มชื่อสรรหาเลขาฯ

บอร์ดกสทช. 4 เสียงเมินหนังสืออุทธรณ์ หลัง ‘ไตรรัตน์‘ ค้านล้มชื่อสรรหาเลขาฯ

บอร์ดกสทช.4 เสียง ลงมติ ไม่รับหนังสืออุทธรณ์คัดค้านมติกสทช.ล้มสรรหาเลขาธิการกสทช.ของนายไตรรัตน์ เหตุไม่มีกฎหมายรองรับการคัดค้านมติ ให้ 2 ทางเลือก ส่งหนังสือทบทวนมติ หรือ ฟ้องร้องต่อศาล ย้ำการสรรหาเลขาธิการกสทช.ต้องเป็นอำนาจของบอร์ดทั้งคณะ

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.ครั้งที่ 4/2567 วันที่ 20 ก.พ. 2567 วาระการอุทธรณ์มติ กสทช. ในการประชุมบอร์ดกสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 1/2567 ของนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช.และรองเลขาธิการกสทช.กรณีคัดค้านมติบอร์ดในการประชุมวาระพิเศษเพื่อสรรหา ผู้เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช.เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2567 โดยมติเสียงข้างมาก 4: 3 ไม่เห็นชอบกระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช.นั้น ที่ประชุมมีมติ 4 เสียง ไม่รับการอุทธรณ์ ได้แก่ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, นางสาวพิรงรอง รามสูต, นายศุภัช ศุภชลาศัย และนายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ และงดออกเสียง 3 เสียง ได้แก่ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช.,นายต่อพงศ์ เสลานนท์,พลตำรวจเอก ณัฐธร เพราะสุนทร 

โดยที่ประชุมมีมติว่า ไม่เห็นควรรับพิจารณาการอุทธรณ์ เนื่องจากยังไม่มีการแจ้งเป็นมติ และไม่เป็นไปตาม มาตรา 48 พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (พ.ร.บ.กสทช.) มาตรา 45 ยังระบุด้วยว่า ห้ามมิให้มีการหยิบยกประเด็นซึ่งที่ประชุมมีมติแล้วขึ้นมาพิจารณาใหม่ต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดเห็นชอบตรงกันถึงจะให้มีการพิจารณาอีกครั้ง 

ดังนั้น การอุทธรณ์ของนายไตรรัตน์ เป็นการ คัดค้านมติ ซึ่งไม่สามารถทำได้ ไม่มีข้อกฎหมายใดรองรับ ดังนั้นมีสองทางเลือกให้นายไตรรัตน์ หรือ ยื่นอุทธรณ์ขอทบทวนมติ ซึ่งทำได้ และที่ผ่านมาก็มีเอกชนเคยยื่นอุทธรณ์ขอทบทวนมาก่อน ซึ่งบอร์ดกสทช.ก็รับเรื่อง แต่ต้องเป็นการขอทบทวนเพราะมีข้อมูลใหม่ที่บอร์ดยังไม่ได้รับรู้มาก่อน หรือ อีกทางเลือกหนึ่งคือการฟ้องร้องต่อศาล 

แหล่งข่าวกล่าวว่า ข้อมูลใหม่ ต้องไม่ใช่ข้อมูลเดิมที่อ้างในหนังสือคัดค้านอุทธรณ์ถึงอำนาจในการสรรหาเลขาธิการ กสทช.ที่ระบุว่า ประธานกรรมการ โดยความเห็นชอบของ กสทช. เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช.ตามมาตรา 61 ของพ.ร.บ.กสทช. เนื่องจากเรื่องดังกล่าว สำนักงานกฤษฏีกา ได้ให้ความเห็นในวิธีการสรรหาเลขาธิการ กสทช.แล้วว่า มาตรา 61 เขียนให้เห็นถึงที่มาในการดำรงค์ตำแหน่งเท่านั้น ประธานมีหน้าที่ในการลงนามเท่านั้น แต่กระบวนการสรรหาต้องมาจากบอร์ดกสทช.ทั้งหมด